ทารกปวดท้อง อาการทารกป่วย
ทารกปวดท้อง อาการทารกป่วย อาการปวดท้องในเด็กที่พบบ่อย ๆ มีอะไรบ้าง แม่จะป้องกันลูกปวดท้องได้อย่างไร มีอะไรที่แม่ต้องระวัง
ทารกท้องอืด
อาการท้องอืดของเด็กเล็กหรือทารก เกิดจากแก๊สในกระเพาะอาหาร เมื่อมีลมหรือแก๊สอยู่ในกระเพาะอาหารมาก ก็เหมือนกับลูกโป่งที่ถูกเป่าลมจนเต็ม ทำให้รู้สึกแน่นท้อง ลูกจึงมีอาการอึดอัด
ทำไมทารกถึงท้องอืด
แก๊สในกระเพาะอาหาร เกิดได้จากแบคทีเรียปกติที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของทารก เวลาลูกร้องไห้ หรือกระทั่งการดูดขวดนม ก็ทำให้ลมเข้าไปในท้องของลูกได้ เมื่อลูกมีแก๊สในกระเพาะมาก พ่อแม่สังเกตได้ไม่ยาก
- ท้องลูกจะป่อง พอง คล้ายลูกโป่ง
- ลูกจะรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว ร้องงอแง แอ่นตัว ดิ้นมาก ยิ่งร้องไห้ก็ยิ่งกลืนลมเข้าไปในท้อง ทีนี้ล่ะ อาการท้องอืดก็หนักขึ้น
ป้องกันลูกท้องอืดอย่างไร
หลังให้ลูกกินนม ต้องอุ้มเรอระหว่างและหลังมื้อนม จะเป็นการป้องกันทารกท้องอืดได้ มีแนะนำถึง 4 วิธีอุ้มลูกเรอ หรือช่วยไล่ลมให้ลูกด้วยวิธีการไล่ลมทารก
- วางทารกนอนหงาย
- ยกขาลูกน้อยปั่นจักรยานอากาศ
- ปั่นไปข้างหน้าหรือปั่นไปข้างหลังก็ได้
- ดันเข่าของลูกให้ชิดหน้าอก ค่อย ๆ ทำอย่างเบามือ
- ไล่ลมซ้ำหลาย ๆ ครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีวิธีนวดไล่ลมในท้องทารก บรรเทาโคลิค ลดอาการท้องอืด > วิธีนวดท้องทารก บรรเทาโคลิค
ทารกแหวะนม
อาการแหวะนมมักเกิดหลังจากการให้นม เกิดจากอาหารไหลล้นจากกระเพาะอาหารออกมาทางปาก ที่เกิดขึ้นกับทารกก็เพราะระบบการย่อยอาหารของทารกยังไม่สมบูรณ์ วาล์วที่ปิดระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารและเครื่องดื่มย้อนกลับขึ้นไปยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้ทารกที่กินนมมากเกินไปหรือกินนมเร็วเกินไป เกิดอาการแหวะนมขึ้นมาได้
แหวะนมอันตรายไหม
พ่อแม่วางใจได้ค่ะ อาการแหวะนมเป็นภาวะปกติที่พบบ่อยในเด็กทารก อาการแหวะนมจะลดลง และหายไปเองเมื่อลูกมีอายุราว 6 เดือนถึง 1 ปี ยกเว้นมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติมที่ต้องระวัง เช่น
- ไอ
- สำลัก
- อาเจียน
- ตัวเขียว
- น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น
ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ เพราะอาจเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อนในทารก ซึ่งควรได้รับการรักษา
วิธีป้องกันทารกแหวะนม
- พักยกการให้นมเพื่อจับลูกเรอเป็นระยะ
- ให้ลูกได้มีเวลาสำหรับการย่อยและไล่ลมออกจากท้อง
- จับลูกเรออีกครั้งเมื่อให้นมเสร็จ
กรดไหลย้อนในทารก
หากลูกมีอาการแหวะนมหรืออาเจียนบ่อย ๆ แม่ ๆ ต้องระวังนะคะ สำหรับกรดไหลย้อนในทารก มีสาเหตุเช่นเดียวกับอาการแหวะนม ถ้ากล้ามเนื้อลำไส้ของลูกแข็งแรงขึ้น อาการกรดไหลย้อนในทารกก็จะลดลง
อาการกรดไหลย้อนในทารกแบบไหนต้องพบแพทย์
โรคกรดไหลย้อน (GERD) ไม่ใช่แค่อาการกรดไหลย้อน (GER) ปกติ และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งในระบบทางเดินอาหารและนอกระบบทางเดินอาหาร พ่อแม่ต้องสังเกตอาการเหล่านี้ อาทิ
- ลูกร้องไห้มากขณะกินนมหรือหลังจากกินนมเสร็จ
- มีอาการไอ หายใจลำบากมีเสียงฟืดฟาด
- อาเจียน หรือสำลัก
เมื่อลูกเป็นกรดไหลย้อน
แม่ต้องจับลูกเรอบ่อย ๆ ในท่าตัวตั้งตรงหลังจากการให้นม หากลูกไม่เคลื่อนไหวมากนักขณะนอนหลับ ลองใช้หมอนหนุนยกศีรษะให้เอียงทำมุม 30 องศา
คำเตือน : หากลูกมีอาการตัวเขียว หรือมีปัญหาในการหายใจ ควรพาลูกส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
อ่านทารกปวดท้อง อาการทารกป่วย หน้าถัดไป
ทารกท้องผูก
ก่อนอื่น คุณแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทารกสามารถถ่ายอุจจาระได้บ่อยถึงวันละ 8-10 ครั้ง หรือลูกอาจไม่ถ่ายเลยได้นาน 7-10 วัน
แม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกท้องผูก
หากทารกมีปัญหาในการขับถ่าย รู้สึกอึดอัดงอแง เบ่งไม่ออก อึแข็ง มีอาการท้องผูก แม่ต้องสังเกตว่า ลูกท้องผูกเกิดจากการเปลี่ยนอาหาร เช่น เปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมผสม หรือเมื่อเริ่มอาหารชนิดใหม่ ซึ่งอาการท้องผูกของทารก แม่ดูได้ดังนี้
- ลูกถ่ายไม่ออก เบ่งหน้าดำหน้าแดง
- อึแข็งเป็นก้อน
- พยายามจะเบ่งอุจจาระแต่ตดออกมาแทน
- สีอุจจาระทารก หากอุจจาระลูกน้อยมีสีเหลือง สีเขียว หรือสีน้ำตาล ถือว่าปกติ แต่ถ้าสีอุจจาระทารกกลายเป็นสีดำหรือสีแดง นั่นคืออุจจาระมีเลือดปน
รักษาอาการท้องผูกในวัยทารก
เมื่อลูกท้องผูก คุณแม่ต้องปรึกษาคุณหมอก่อนเลยค่ะ เพื่อที่คุณหมอจะแนะนำแนวทางที่เหมาะสมในการรักษา ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของลูก
- แพทย์อาจแนะนำให้คุณป้อนน้ำพรุน (เพียง 1-2 ออนซ์) ไฟเบอร์จะช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มขึ้น
- แพทย์อาจแนะนำการสวนอุจจาระทารก ซึ่งควรกระทำโดยแพทย์ ไม่ควรสวนอุจจาระเอง แต่การสวนอุจจาระบ่อย ๆ จะทำให้ลูกขับถ่ายเองไม่เป็น ทุกอย่างจึงต้องเป็นไปตามที่แพทย์เห็นสมควร
ทารกท้องเสีย
น่ากังวลกว่าอาการท้องผูกในวัยทารก ก็คืออาการท้องเสียในวัยทารก อาจจะทำให้ทารกเกิดภาวะขาดน้ำ เป็นอันตรายได้จากการเสียน้ำและเกลือแร่
อาการท้องเสียในวัยทารก
- ลูกท้องเสียเกิดจากการได้รับเชื้อผ่านทางพี่น้องที่โตกว่า
- ท้องเสียจากการสัมผัสเชื้อแล้วเอามือเข้าปาก
- ลูกอาจได้รับเชื้อไวรัสจากอาหารที่ปนเปื้อนหรือบูด
ทารกกินนมแม่อาจถ่ายบ่อยกว่าผู้ใหญ่ทั่วไป หากลูกท้องเสียสามารถสังเกตได้เมื่อลูกถ่ายเป็นน้ำมากเกินไป การสูญเสียน้ำมากอาจเป็นอันตรายต่อลูก เมื่อทารกท้องเสียจึงต้องพาไปพบคุณหมอ ซึ่งอาจจะให้จิบน้ำเกลือแร่ป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ หากลูกกินอาหารอื่นนอกจากนมได้แล้ว คุณหมออาจแนะนำให้ทานอาหารที่ช่วยลดอาการท้องเสีย (BRAT diet) เช่น กล้วย ข้าว น้ำแอปเปิ้ล และขนมปังปิ้ง
ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ แนะนำว่า ถ้าลูกดื่มนมแม่อยู่ก็ให้ดื่มตามปกติ ถ้าดื่มนมขวดในระยะแรกที่ท้องเสีย (2-4 ชั่วโมงแรก) ให้ดื่มนมที่ผสมเจือจางลง (ลดนมผงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของที่เคยผสม) จนกว่าอาการจะดีขึ้น จึงให้ดื่มนมผสมตามปกติได้
ที่มา : thebump.com, manager.co.th และ doctor.or.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
มือ เท้า ปาก รักษา ทีต้องใช้เวลานาน ลดเสี่ยงอย่าพาลูกเล็กเที่ยวที่คนเยอะ
ป้อนยาลูกให้ถูกวิธี ทารก เบบี๋ เล็กเด็ก เด็กโต ไร้ปัญหาเรื่องกินยา
โรคหัด อาการ แบบนี้ใช่เลย ลูกแรกเกิด-4 ปี สุ่มเสี่ยงป่วยโรคหัด ต้องระวัง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!