การเลี้ยงลูกน้อยในช่วงวัยทารกอาจเต็มไปด้วยคำถามและความกังวลสำหรับพ่อแม่ เพราะลูกยังไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกหรืออาการต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ทุกอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การร้องไห้ การจาม หรือแม้แต่การมีน้ำลายไหล ลูกน้ำลายไหลเยอะ ทารกน้ำลายเป็นฟอง อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูก และควรจัดการอย่างไร นี่เป็นเรื่องปกติหรือสัญญาณของปัญหาสุขภาพ การทำความเข้าใจสาเหตุและความหมายของอาการนี้จะช่วยให้พ่อแม่ดูแลลูกได้อย่างมั่นใจและลดความกังวลลงได้ค่ะ
ลูกน้ำลายไหล ทารกน้ำลายเป็นฟอง เกิดจากอะไร
มนุษย์มีต่อมน้ำลาย ที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำลายทั้งหมด 6 ต่อม และเมื่อใดที่ต่อมน้ำลายเหล่านี้ผลิตน้ำลายมากเกินไป ร่างกายก็จะเกิดอาการน้ำลายไหล โดยปกติแล้วในผู้ใหญ่ ต่อมน้ำลายสามารถผลิตน้ำลายได้สูงสุดถึง 1.89 ลิตรต่อวันเลยทีเดียว
แต่เนื่องจากผู้ใหญ่มีฟันและการควบคุมกล้ามเนื้อที่พัฒนาจนทำงานได้สมบูรณ์แล้ว จึงกลืนน้ำลายและควบคุมไม่ให้น้ำลายไหลออกมาได้ แต่สำหรับลูกน้อย การควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนยังพัฒนาไม่เต็มที่ ในช่วงขวบปีแรกจึงมักพบว่า ทารกมีน้ำลายไหลตลอดเวลา และบางครั้งน้ำลายอาจมีลักษณะเป็นฟอง ทำให้พ่อแม่กังวลใจ
จะว่าไปแล้วอาการน้ำลายไหลในทารกส่วนใหญ่เป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการ พบได้ในเด็กช่วงอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป สาเหตุที่ทารกมีน้ำลายเป็นฟอง มักเกี่ยวข้องกับการเริ่มทำงานของต่อมน้ำลายและการสำรวจโลกผ่านปากของลูกน้อย เช่นการเป่าลม เป่าปาก ทำให้น้ำลายที่ปกติมีมากอยู่แล้วกลายเป็นฟองเหมือนกับเป่าบับเบิ้ล
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทารกมีน้ำลายเยอะ น้ำลายเป็นฟอง อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
- พัฒนาการของต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำลายเริ่มทำงานอย่างเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 2-3 เดือน แต่ทารกยังไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ดีพอ ทำให้น้ำลายไหลออกมา
- ฟันเริ่มขึ้น ในช่วง 3-6 เดือน น้ำลายที่เพิ่มขึ้นอาจเกิดจากการที่ฟันเริ่มขึ้น โดยน้ำลายช่วยบรรเทาอาการเจ็บเหงือก
- กล้ามเนื้อในปากยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เด็กยังไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อในปากเพื่อกลืนน้ำลายได้ดี ทำให้น้ำลายไหลยืดตลอดเวลา
ทารกน้ำลายเป็นฟอง อันตรายไหม
โดยทั่วไปแล้ว อาการน้ำลายเป็นฟองในทารกถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามที่ได้กล่าวมาแล้ว หากอาการนี้ไม่ได้มาพร้อมกับอาการผิดปกติอื่นๆ พ่อแม่ก็สามารถวางใจได้ เพราะอาการนี้มักจะหายไปเองเมื่อทารกเติบโตและเริ่มควบคุมการกลืนได้ดีขึ้นในช่วงอายุ 18-24 เดือน
อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าน้ำลายของทารกมีปริมาณมากเกินไป หรือมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น ไข้สูง หายใจลำบาก ร้องไห้ไม่หยุด กลืนอาหารหรือของเหลวลำบาก อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ต้องรีบตรวจสอบ เช่น การติดเชื้อในลำคอ โรคปากเท้าเปื่อย หรืออาการหลอดลมตีบ (Epiglottitis) ซึ่งอาจเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาทันที
น้ำลายไหลแบบนี้ ลูกปกติดีหรือเปล่า
สำหรับทารกอายุ 3-6 เดือน การที่น้ำลายไหลมากและชอบกัด เคี้ยว หยิบสิ่งต่างๆ เข้าปาก ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้ โดยเฉพาะเมื่อระบบกล้ามเนื้อในช่องปากและต่อมน้ำลายเริ่มพัฒนา น้ำลายที่ไหลมากขึ้นไม่ได้หมายถึงปัญหาสุขภาพเสมอไป แต่เป็นการเตรียมความพร้อมของร่างกายสำหรับการเริ่มรับประทานอาหารแข็ง คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยดูแลลูกน้อยได้โดยการให้ของเล่นยางกัดหรือจุกหลอก เพื่อให้ลูกกัดเล่นและช่วยบรรเทาความรู้สึกอยากเคี้ยว
กรณีที่น้ำลายไหลในทารก เกี่ยวข้องกับความผิดปกของร่างกาย พ่อแม่จะสังเกตพบว่าน้ำลายไหลมาพร้อมอาการเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น มีแผลในปากหรือแผลพุพองในเหงือก อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อไวรัสในปาก โรคมือเท้าปาก หรือโรคเริม (Herpes) หากลูกงอแงผิดปกติ มีไข้ กินนมน้อยลง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและรักษาได้ทันท่วงที
ในกรณี อาจพบทารกที่มีน้ำลายไหลมากแบบฉุกเฉิน จู่ๆ ก็น้ำลายไหล น้ำลายฟูมปาก ซึ่งแตกต่างจากน้ำลายเป็นฟองจากการเป่าปาก เล่นน้ำลาย มีอาการอื่นๆ ร่วม เช่น หายใจติดขัด หายใจลำบาก อ้าปากกว้าง อาจเป็นสัญญาณของโรคฝาปิดกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน (Epiglottitis) ซึ่งเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ HIB ก่อให้เกิดภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้นอย่างเฉียบพลัน ภาวะนี้เป็นอันตรายและอาจถึงชีวิต แม้จะพบได้บ่อยในเด็กอายุ 2 – 6 ปี แต่ก็สามารถเกิดได้กับทุกช่วงวัย
โดยสรุปคือ หาลูกมีอาการ น้ำลายไหลมากร่วมกับหายใจลำบากหรือไม่สามารถกลืนได้ มีอาการซึม ไม่ร่าเริง หรือมีไข้สูง น้ำลายฟองไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีช่วงหยุดพัก ลูกมีท่าทางหายใจลำบาก สัญญาณเหล่านี้บ่งบอกว่า อาการน้ำลายไหลของทารกผิดปกติ ควรรีบพาลูกพบแพทย์โดยด่วน
ดูแลสุขอนามัย เมื่อลูกน้ำลายไหลตลอดเวลา
- เช็ดน้ำลายอย่างสม่ำเสมอ ใช้ผ้าสะอาดหรือนุ่มๆ เช็ดน้ำลายรอบปากและคอของลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคและป้องกันผิวระคายเคือง
- ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้น เลือกครีมสำหรับเด็กเพื่อช่วยป้องกันผิวแห้งและการลอกบริเวณรอบปากที่สัมผัสน้ำลายบ่อยๆ
- เปลี่ยนเสื้อผ้าให้แห้งสะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกน้ำลายเป็นประจำ และใช้ผ้ากันเปื้อนที่ซึมซับได้ดีเพื่อช่วยลดความเปียกชื้น
- ทำความสะอาดของเล่นและยางกัด ล้างของเล่นหรือยางกัดด้วยน้ำอุ่นและน้ำยาสำหรับเด็ก เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค
- ดูแลพื้นที่นอนและผ้าปูเตียง เปลี่ยนปลอกหมอนหรือผ้าปูเตียงที่เปื้อนน้ำลายบ่อยๆ เพื่อรักษาความสะอาดและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ความรักของแม่มักมาพร้อมกับความกังวลในทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างน้ำลายไหลก็อาจทำให้แม่อดคิดไม่ได้ว่าลูกน้อยจะเป็นอะไรหรือเปล่า แต่เชื่อเถอะว่า ไม่มีใครรู้จักลูกได้ดีเท่ากับแม่ เชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง และเชื่อในความใส่ใจที่คุณมอบให้ลูกน้อย เพราะสิ่งเหล่านี้คือเกราะป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับลูก
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าลูกจะอยู่ในช่วงเวลาไหนของการเติบโต ขอให้มั่นใจว่าแม่ที่หมั่นสังเกต ดูแล และมอบความรักอย่างเต็มหัวใจ จะทำให้ลูกปลอดภัยและเติบโตอย่างแข็งแรง
ที่มา: Playtimedentistry, HealthyChildren., คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ทารกนอนอ้าปาก นอนกรน หายใจทางปาก อันตรายไหม
ลูกกินนมแม่ ทำไมตื่นบ่อย เข้าใจธรรมชาติการกิน-นอนวัยทารก
พัฒนาการทารก 1 – 12 เดือน พัฒนาการที่สำคัญของลูกน้อยแต่ละเดือน มีอะไรบ้าง?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!