โรคเริมในเด็ก ลูกน้อยติดเริม เพราะจูบของแม่
รอยจูบของแม่ ใครจะไปรู้ว่าสามารถทำร้ายลูกได้ เนื่องจากผิวของทารก เป็นผิวที่บอบบางเป็นพิเศษ ดังนั้นการจูบ การกอด การสัมผัสกับทารกน้อย จึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ไม่อย่างงั้นอาจจะเป็นแบบเหตุการณ์นี้ได้ โรคเริมในเด็ก ลูกน้อยติดเริม เพราะจูบของแม่ ตุ่มขึ้นเต็มหน้า จนเกือบตาบอด คนเป็นแม่เห็นแล้ว ใจแทบสลาย
สำหรับเคสนี้ เป็นเคสที่แสดงให้เห็นว่า แค่จูบเดียว ก็สามารถทำให้เด็กติดเริมได้ น้อง Oarlah ลูกสาวของ Hollie Cruickshanks ถูกนำส่งโรงพยาบาล ด้วยวัยเพียงแค่ 6 เดือน พร้อมกับความกังวลของคุณแม่ กลัวว่าลูกน้อยจะตาบอด
Oarlah มีตุ่มขึ้นบริเวณศีรษะ ใบหน้า และใกล้ ๆ กับดวงตาข้างซ้าย เนื่องจาก Hollie Cruickshanks ผู้เป็นแม่ ได้ไปจูบเธอเข้า ทำให้เธอติดเริม!
ตอนช่วงที่ Hollie ตั้งครรภ์ เธอก็เห็นโพสต์บน Facebook จากแม่ ๆ เยอะแยะนะ ว่ามีหลายเคสที่ลูกน้อยติดเริมจากการจูบ ซึ่งเธอก็กลัวมาก หวาดระแวงสุด ๆ ไม่ให้ใครจูบ Oarlah เลย แต่คนที่อดใจไม่ได้ ก็คือตัวเธอเอง เธอเผลอจูบเข้าที่หน้าผากของลูกน้อย ทำให้ลูกของเธอต้องเป็นแบบนี้
ตอนแรกเธอเป็นห่วงมากว่าลูกสาวจะตาบอดมั้ย แต่โชคดีที่หมอบอกว่า เธอสามารถมองเห็นได้ปกติ และอาการทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ จน Oarlah อายุได้ 15 เดือน แผลต่าง ๆ ก็เริ่มจางหายไปหมด และจนถึงตอนนี้ เธอก็ยังคงหวาดระแวงกับเหตุการณ์นั้น และยังไม่กล้าให้ใครมาจูบ Oarlah อีกเลย
โรคเริมในเด็กไม่ได้ติดต่อด้วยการ “จูบ” เพียงอย่างเดียว
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ให้ข้อมูลว่า โรคเริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ (Herpes simplex virus หรือ HSV) มี 2 ชนิด คือ ชนิด HSV-1 และ HSV-2
โดย HSV-1 มักก่อให้เกิดการติดเชื้อในช่องปากและริมฝีปาก HSV-2 มักก่อให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะเพศ ระบบประสาท และ โรคเริมชนิดแพร่กระจายทั่วร่างกายในทารกแรกเกิด
HSV ทั้งสองชนิดอาจเป็นสาเหตุติดเชื้อกับเนื้อเยื่อส่วนไหนก็ได้เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลง เช่น ที่เยื่อหุ้มสมอง สมอง ตา
โรคเริมติดต่ออย่างไร
โรคเริมในเด็กแรกเกิด อาจติดจากคุณแม่ได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ แต่มีรายงานการเกิดน้อยมาก ทารกจะมีอาการผื่นหรือแผลเริม ตาอักเสบ และขนาดหัวเล็กกว่าปกติ ส่วนมากโรคเริมในเด็กแรกเกิดมักเกิดจากการติดเชื้อในช่วงระหว่างการคลอดทางช่องคลอด ถ้าขณะคลอดมารดาติดเชื้อนี้ที่อวัยวะเพศ
โรคเริมในเด็กที่โตกว่าวัยทารกแรกเกิดและผู้ใหญ่ มักติดโรคเริมจากการสัมผัสกับแผลที่เป็นโรค น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย จึงเกิดเมื่อสัมผัสใกล้ชิด ใช้ของใช้หรือทานอาหารด้วยภาชนะร่วมกัน การจูบ การกิน ทางเพศสัมพันธ์ โดยเชื้อจะแทรกเข้าทางเยื่อบุหรือผิวหนังที่ถลอกเป็นแผล
อาการของโรคเริมมีอะไรบ้าง?
อาการของโรคเริมมีได้หลายแบบ ทั้งโรคเริมที่ริมฝีปากและเยื่อบุช่องปาก โรคเริมที่อวัยวะเพศ โรคเริมแบบแพร่กระจายทั่วตัว และโรคเริมในระบบประสาท เป็นต้น เมื่อเป็นโรคเริมครั้งแรกจะมีอาการรุนแรง แตกต่างจากอาการที่เป็นซ้ำครั้งต่อ ๆ มา ที่มักเป็นเพียงรอยอักเสบหรือถลอกเล็กน้อย และหายเร็วกว่า โดยเมื่อเป็นครั้งแรกแล้วเชื้อไวรัสจะเข้าไปอยู่ในปมประสาท และเมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เชื้อจะออกมาตามเส้นประสาทและเกิดโรคซ้ำที่ผิวหนังหรือเยื่อบุผิว
โรคเริมที่ริมฝีปากและเยื่อบุช่องปากในเด็ก มีอาการอย่างไร?
โรคเริมที่ริมฝีปากและเยื่อบุช่องปากในเด็ก มักจะเป็นครั้งแรกจึงมีอาการมากคือ มีรอยบวมแดงบริเวณที่มีการติดเชื้อ ได้แก่ ริมฝีปากและเยื่อบุช่องปาก เกิดเป็นตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่ม ๆ อย่างรวดเร็ว แตกเป็นแผล ปวด อาจมีต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้รอยโรคอักเสบและโตขึ้น บางคนอาจมีไข้ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว นำมาก่อน
โรคเริมแบบแพร่กระจายทั่วตัว มีอาการอย่างไร?
โรคเริมแบบแพร่กระจายทั่วตัว จะมีการติดเชื้อโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ตับ ปอด และสมอง ทำให้มีอาการตับโต ตาเหลืองตัวเหลือง ปอดอักเสบ ซึม ชัก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หรือถ้าไม่เสียชีวิต ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาทและสมองอย่างรุนแรงได้ มักพบในทารกแรกเกิดที่ติดเชื้อโรคเริม ซึ่งจะมีผื่นที่ผิวหนังและเยื่อบุตาอักเสบ และมีการติดเชื้อในระบบประสาทร่วมด้วย
การติดเชื้อโรคเริมแบบแพร่กระจายนี้ อาจเป็นได้ในเด็กวัยที่โตกว่าทารกแรกเกิด จนถึงผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้เช่นเดียวกัน
ที่มา : thesun
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
จูบเด็กอันตราย? ภัยที่มาจากจูบมีอะไรบ้าง? ผู้ปกครองควรป้องกันอย่างไร?
ลูกติดเริมเพราะโดนจุ๊บ แม่เตือนติดไวรัสเพียงเพราะโดนจุ๊บ ลูกในท้องก็เสี่ยงตาย
ลูกติดเริมจากจูบแม่ ทารก 21 เดือน ติดเริมจากจุมพิษรัก แค่จูบแค่หอมลูกก็ป่วยได้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!