คุณพ่อคุณแม่หลายคน อาจเคยตั้งคำถามว่า เราเรียนดนตรีไทย ไปทำไม และเหตุใดการเล่นดนตรีไทย จึงเหมาะกับเด็ก ๆ รู้หรือไม่คะ ว่าการเล่นดนตรีไทย ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกน้อย ในหลาย ๆ ด้าน อีกทั้งยังสร้างความท้าทาย และสามารถหัดเล่นได้ไม่ยาก การเล่นดนตรีไทย จึงเหมาะที่จะให้ลูก ๆ ได้ทดลองเล่น และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ค่ะ สำหรับเครื่องดนตรีไทยนั้น มีอะไรบ้าง และเหมาะกับลูกน้อยอย่างไร ไปดูพร้อมกันได้เลย
ทำไมเด็กจึงควรเล่น เครื่องดนตรีไทย?
แม้ว่าการเล่นดนตรีไทย จะได้รับความนิยมน้อยกว่าการเล่นดนตรีสากล แต่ในปัจจุบัน เครื่องดนตรีไทยนั้น ได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในการเรียนการสอน มักถูกนำมาประยุกต์ให้เข้าชั้นเรียน หรือในการแข่งขันสำหรับเด็ก เป็นต้น การเล่นดนตรีไทย จึงเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และต่อยอดพื้นฐานในด้านอาชีพ
- เครื่องดนตรีไทย ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อย : การเล่นดนตรี มีผลต่ออารมณ์และจิตใจของเด็ก ซึ่งการฝึกเล่น เครื่องดนตรีไทยนั้น จะช่วยให้เด็กพัฒนาอารมณ์ และความรู้สึก ซึ่งจะฝึกให้เด็ก เกิดสมาธิ และรู้สึกสงบ รวมทั้งยังทำให้จิตใจแจ่มใส นอกจากนี้การเล่น เครื่องดนตรีไทน ยังสามารถพัฒนาร่างกายของลูก เช่น การบริหารกล้ามเนื้อมือ หรือแขน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เด็กมีสุขภาพร่างกายที่ดีนั่นเอง
- เครื่องดนตรีไทย ฝึกการเข้าสังคมของลูก : แน่นอนว่าการเล่นดนตรีไทย ช่วยให้เด็กได้เข้าสังคมมากขึ้น เพราะการเล่น เครื่องดนตรีไทย ส่วนใหญ่นั้น มักเล่นเป็นวง หรือรวมกลุ่มในการเล่น ดังนั้นเด็ก ๆ จะได้ร่วมทำงานกับผู้อื่น และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ การทำงานพร้อมเพื่อน ๆ ซึ่งจะช่วยให้ลูก รู้จักปรับตัวเองให้เข้าผู้อื่น ซึ่งถือเป็นการฝึกเข้าสังคมโดยตรง
- เครื่องดนตรีไทย สร้างวินัย และฝึกความอดทนให้แก่เด็ก : การเล่นเครื่องดนตรีไทย ฝึกให้เด็กเกิดวินัย และสร้างความอดทนให้แก่เด็ก เพราะการเล่นดนตรีนั้น ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และฝึกฝนหลายชั่วโมง เด็กหลายคนจึงอาจถอดใจ และเลิกเล่นดนตรีไทยได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ จึงควรให้กำลังใจ และสนับสนุนให้ลูก ได้เสริมสร้างความอดทน และความเพียรพยายาม
- การเล่น เครื่องดนตรีไทย ช่วยสร้างรายได้ และทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : การเล่น เครื่องดนตรีไทย ช่วยสามารถสร้างรายได้ ให้แก่ลูก เนื่องจากดนตรีไทย เป็นที่สนใจสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก ซึ่งหากลูก ถนัดในการเล่นเครื่องดนตรีประเภทนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสนับสนุนให้เขา ได้ต่อยอดไปเป็นอาชีพในอนาคตได้ และการเล่นดนตรีไทยนั้น ยังช่วยสร้างเศรษฐกิจให้สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการขยายอำนาจ (Soft Power) ของวัฒนธรรมไทยนั่นเอง
- การเล่น เครื่องดนตรีไทย เป็นการช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย : นอกจากการเสริมสร้างพัฒนาการของลูกแล้ว การเล่น เครื่องดนตรีไทย ยังทำให้เด็กยุคใหม่ รู้จักประวัติของดนตรีไทย ซึ่งถือว่าเป็นมรดกของชาติ ควรค่าแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเล่นเครื่องดนตรีไทย จะทำให้เด็กหันมารู้จัก ศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง ซึ่งถือเป็นการสืบทอดทางด้านวัฒนธรรม
บทความที่เกี่ยวข้อง : เครื่องดนตรีขิม เล่นยังไง? เด็ก ๆ สามารถเล่นได้ไหมมาดูกัน
เครื่องดนตรีของประเทศไทย มีอะไรบ้าง?
หากคุณพ่อคุณแม่ อยากให้เด็ก ๆ เริ่มฝึกการเรียนดนตรีไทย ควรเริ่มต้นจากการปูพื้นฐาน ให้รู้จักเครื่องดนตรีไทยก่อน เพื่อให้เด็กได้รู้จัก และทดลองเล่นเครื่องดนตรีที่ชอบ สำหรับเครื่องดนตรีไทยนั้น แบ่งได้ 4 ประเภท ตามภูมิภาคของประเทศไทย โดยแบ่งทั้งหมด 4 ภาค ดังนี้
- เครื่องดนตรีภาคเหนือ : ดนตรีในภาคเหนือส่วนใหญ่ ใช้ในการประกอบพิธีกรรม โดยมักใช้เครื่องตีในการบรรเลงทำนอง เช่น กลองยาว กลองแอว กลองรำมะนา กลองสองหน้า และตะโพนมอญ ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องเป่า เช่น ปีแน ปีมอญ ย่ะเอ้ และเครื่องสี เช่น สะล้อลูก รวมทั้ง เครื่องดีด ได้แก่ พิณเปี๊ยะ และซึงอีก 3 ขนาดนั่นเอง ลักษณะของการบรรเลงดนตรีภาคเหนือ จึงมักจะบรรเลงทำนองนุ่มนวลตามบรรยากาศ และยังมีการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมชนเผ่าต่าง ๆ
- เครื่องดนตรีภาคกลาง : เครื่องดนตรีภาคกลาง เป็นเครื่องดนตรีแบบวงปี่พาทย์ ซึ่งผสมผสานกับดนตรีหลวง โดยประกอบไปด้วยเครื่องดีด เช่น จะเข้ และจ้องหน่อง เครื่องสี เช่น ซออู้ และซอด้วง เครื่องตี เช่น ระนาดเอก ระนาดทอง ระนาดทุ้ม ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ และกรับ รวมทั้งเครื่องเป่า เช่น ปี่ และขลุ่ย เป็นต้น หากลูก ๆ ชอบเล่นดนตรี ในลักษณะการประสานวง เครื่องดนตรีในภาคกลาง จึงเหมาะกับลูกในการเล่นดนตรีไทย
- เครื่องดนตรีภาคอีสาน : เครื่องดนตรีในภาคอีสาน ส่วนใหญ่ทำมาจากวัสดุท้องถิ่น เพื่อใช้เลียนเสียงธรรมชาติ ซึ่งจะมีความไพเราะ ตัวอย่างเครื่องดนตรีในภาคอีสาน เช่น ระนาด กลอง กรับ โปง พิณ โปงลาง และแคน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการตั้งวงดนตรีพื้นบ้านเพื่อนำมาบรรเลง สร้างความสนุกครื้นเครง และใช้ประกอบการละเล่น ดังนั้น หากเด็ก ๆ ที่ชอบเล่น ดนตรีไทยที่มีความสนุกสนาน เครื่องดนตรีอีสาน จึงเหมาะแก่การเล่นอย่างยิ่ง
- เครื่องดนตรีภาคใต้ : เครื่องดนตรีในภาคใต้ สันนิษฐานว่า รับมาจากเผ่าเงาะซาไก ซึ่งได้พัฒนาเป็นเครื่องดนตรีแตร กรับ และกลองชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีเครื่องเป่า เช่น ปี่นอก เครื่องสี เช่น ซออู้ บรรเลงผสมผสานในการเล่นเครื่องดนตรีของรำมะนา เครื่องดนตรีในภาคใต้ จึงมักถูกนำไปผสมผสานในการเล่นหลาย ๆ การแสดง ซึ่งแตกต่างจากดนตรีของภาคอื่น ๆ หากเด็ก ๆ ชอบการเล่นดนตรีแบบท้าทาย เครื่องดนตรีในภาคใต้ สามารถช่วยพัฒนาทักษะด้านการเล่นดนตรีได้เป็นอย่างดี
บทความที่เกี่ยวข้อง : การรำไทย ดียังไง? ศิลปะวัฒนธรรมไทยที่เด็ก ๆ ไม่ควรมองข้าม
เครื่องดนตรีไทย สำหรับเด็ก
เครื่องดนตรีไทย ที่เหมาะสำหรับการเรียนการสอนของเด็กนั้น เป็นเครื่องดนตรีที่ง่ายต่อการเรียนและการเล่น ไม่ซับซ้อนเกินไป สามารถพัฒนาทักษะการเล่นได้อย่างรวดเร็ว เด็ก ๆ จึงควรเริ่มเล่นดนตรีไทย ที่ง่ายต่อการเรียนรู้ ซึ่งเราได้รวบรวมมาไว้ ดังนี้
- ระนาดเอก : ระนาดเอก เป็นเครื่องดนตรีที่เหมาะสำหรับเด็กอย่างมาก เด็กหลายคน อาจเคยเล่นเครื่องเล่นระนาดสำหรับเด็ก เพราะการเล่นระนาด ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือของเด็กได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม การเล่นระนาดเอก ควรเริ่มเรียนในวัย 6 -7 ปีขึ้นไป เพราะระนาดเอก ต้องใช้แรงในการเล่น รวมถึงยังต้องใช้ข้อมือ และการควบคุมน้ำหนักมือซ้ายขวาอีกด้วย เด็กเล็กจึงอาจไม่เหมาะที่จะเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ ควรเล่นระนาดแบบของเล่นแทน
- ขลุ่ย : ขลุ่ย ได้รับความนิยมในการเล่นกันอย่างแพร่หลาย เพราะมีราคาถูก น้ำหนักเบา พกพาได้สะดวก และเอื้ออำนวยต่อการเรียน เพราะขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีที่มีวิธีการบรรเลงที่ไม่ซับซ้อนที่ เด็กสามารถเล่นได้ง่าย ๆ อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ขลุ่ย จึงมักถูกนำมาบรรจุในการเรียนการสอน
- ซออู้ : ซออู้ เป็นเครื่องดนตรีที่เด็ก สามารถเล่นได้ง่าย เพราะการเล่น ซออู้ ผู้เล่นต้องเล่นตามวง ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีสมาธิ และฝึกการนับจังหวะของตัวเองได้ดี การหัดเล่นซออู้ หรือซอด้วง จะทำให้เด็กเกิดวินัยในตนเอง เพราะต้องนับจังหวะ การบรรเลง ร่วมกับเครื่องดนตรีไทยอื่น ๆ ในวงนั่นเอง
- ขิม : อีกหนึ่งเครื่องดนตรีที่ เด็กผู้หญิงหลายคนชอบเล่น เพราะการเล่นขิม ไม่ต้องออกแรงมากนัก อีกทั้งยังเป็นเครื่องดนตรีที่มีตัวโน้ตที่ไม่ซับซ้อน ง่าย และชัดเจนในการเล่น รวมถึงยังมีเสียงที่ไพเราะ เด็กเล็ก จึงสามารถเริ่มเลยขิม เพื่อฝึกการเล่นดนตรีไทยได้
- ฆ้องวงใหญ่ : เด็ก ๆ ที่มีความสนใจในวงปี่พากย์ ควรเริ่มเล่น ฆ้องวงใหญ่ก่อน เพราะจะฝึกให้เด็กเกิดความเข้าใจ ระบบของการบรรเลงในวงปี่พากย์ อีกทั้งยังเป็นเครื่องดนตรีไทย ที่ไม่หวือหวา เด็กจึงต้องมีสมาธิ และวินัยในการเล่น ก่อนที่จะเริ่มไปหัดเล่นเครื่องดนตรีไทยประเภทอื่น ๆ
- กลอง : แน่นอนว่า กลอง เป็นเครื่องดนตรีที่ช่วยฝึกพัฒนาการสำหรับเด็กได้เป็นอย่างดี เด็กหลายคนจึงอาจคุ้นชิน หรือเคยตีกลองของเล่นมากันแล้วบ้าง การเล่นกลอง ง่าย และมีหลากหลายชนิด หลากหลายรูปทรง และน้ำหนัก เด็ก ๆ สามารถเลือกเล่นกลอง ได้ตามใจชอบ
- จะเข้ : จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะนอกจาก วิธีการเล่นที่ไม่ยากจนเกินไปแล้ว การเล่นจะเข้ ยังช่วยฝึกความแข็งแรงของนิ้วมือ และกล้ามเนื้อมือ ได้เป็นอย่างดี เพราะผู้เล่น ต้องใช้มือ ในการบรรเลงเล่น
- ฉิ่ง : เครื่องดนตรีสุดท้าย ที่มักถูกนำมาใช้สอนในการเรียน ฉิ่ง เป็นเครื่องดนตรีที่เหมาะสำหรับเด็ก เพราะนอกจากจะมีรูปร่างที่เล็กแล้ว ฉิ่ง ยังสามารถฝึกให้เด็ก นับจังหวะ ที่ถูกต้องได้ ฉิ่ง จึงเหมาะสำหรับเด็ก ๆ ที่อยากเริ่มต้นในการเล่นดนตรีไทย เพราะเล่นได้ง่าย ไม่ยากเกินไป
การเล่นดนตรีไทย คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกเริ่มเรียนได้ ตั้งแต่อายุ 5-6 ปี ขึ้นไป เพราะเด็กในวัยนี้ จะมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง และสติปัญญา รวมทั้งกล้ามเนื้อ คุณพ่อคุณแม่สามารถปลูกฝังให้เด็กมีโอกาสได้สัมผัสกับ เครื่องเล่นดนตรีไทย เหล่านี้ เพื่อให้เขาได้ทดลองทำในสิ่งที่ชอบ อย่างไรก็ตาม การให้ลูกเล่นเครื่องดนตรีนั้น ไม่ควรกดดันเด็กจนเกิดไป เพราะอาจทำให้ลูกเครียด คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูก ได้สนุกสนานกับการเล่นดนตรี เพื่อให้เขามีความสุข และนำทักษะการเล่นเครื่องดนตรีนี้ ไปใช้ในอนาคตต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 เครื่องดนตรีสากล ฝึกง่าย เสริมทักษะ พัฒนาการเรียนรู้ สำหรับลูกน้อย
เครื่องดนตรีเด็กเล่นได้ ฝึกเพิ่มทักษะ ลูกให้ลูกเป็นอัจฉริยะด้านดนตรี เริ่ด!
กลอง ช่วยเสริมสร้างทักษะแก่เด็กจริงหรือไม่ ให้ลูกเล่นกลองดีอย่างไร ?
ที่มาข้อมูล : thepappyness, 2, mgronline
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!