5 วิธีเล่นกับลูกในท้อง กระตุ้นสมองดีได้ตั้งแต่ในครรภ์ ลูกคลอดออกมาฉลาด หัวไว ไหวพริบดี เพราะแม่ท้องชอบเล่นกับลูก
5 วิธีเล่นกับลูก กระตุ้นสมองดีได้ตั้งแต่ในครรภ์
การที่ทารกจะมีสมองดีหรือมีความเฉลียวฉลาดนั้น มีปัจจัยที่สำคัญเช่น ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ การกินอาหาร หรือสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในขณะตั้งครรภ์ แต่นอกจากนี้ส่วนที่ช่วยเสริมสร้างความฉลาดและส่งเสริมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการทางสมองที่ดีนั้น คือการกระตุ้นลูกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มีวิธีเล่นกับลูกในท้อง แบบไหนกันบ้างที่จะช่วยกระตุ้นให้ลูกน้อยสมองดีได้
1.วิธีเล่นกับลูกในท้อง – ฟังเพลงเพลิน ๆ ไปด้วยกัน
การใช้เสียงเพลง คลื่นเสียงจะไปกระตุ้น ให้เครือข่ายใยประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการได้ยินของลูกมีพัฒนาการดีขึ้น เมื่อลูกคลอดออกมาจะมีความสามารถในการจัดลำดับความคิดในสมอง และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี เพลงที่ฟังไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงโมสาร์มหรือคลาสสิค แต่เป็นเพลงโปรดอะไรก็ได้ที่แม่ชอบ และแบ่งปันให้ลูกในท้องได้ฟัง โดยเปิดเสียงเพลงให้ดังห่างจากหน้าท้องประมาณ 1 ฟุต
การให้ทารกในครรภ์ได้ฟังเพลงจะเป็นการทำให้ลูกได้ผ่อนคลาย รวมถึงมีพัฒนาการทางร่างกายที่ตอบสนองได้ดีจากการได้ยินเสียงและขยับตัวไปมา ซึ่งเมื่อลูกคลอดจะทำให้เขามีความพร้อมทั้งทางร่างกายและอารมณ์ที่ดี ส่งผลต่อการเลี้ยงง่ายให้คุณสบายขึ้นด้วย
2.วิธีเล่นกับลูกในท้อง – อ่านหนังสือให้ลูกในท้องฟัง
การอ่านหนังสือและพูดคุยกับลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสและสร้างวงจรในสมองของลูกได้ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสมองกล่าวว่า เด็กจะมีความจำเกี่ยวกับคำและจะคุ้นชินกับคำและประโยคที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง ยิ่งพ่อแม่มีการต่อยอดหลังจากลูกคลอดออกมา เด็กจะยิ่งมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีขึ้น และเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
ทุกเสียงที่พ่อแม่อ่านเป็นคำ ๆ ให้ลูกฟังนั้นจะกระตุ้นสมองของลูก ทารกจะบันทึกและสร้างวงจรของคำศัพท์ต่าง ๆ เอาไว้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์” หนังสือที่จะอ่านเพื่อกระตุ้นสมองลูกให้ฉลาดได้ในช่วงนี้ คุณแม่ควรเลือกหยิบหนังสือนิทานที่สามารถอ่านให้ลูกฟังได้ตั้งแต่ในท้องจนถึงวัยเด็กเลยนะคะ
3.วิธีเล่นกับลูกในท้อง – พูดคุยกับลูกในท้องบ่อย ๆ
ระบบประสาทการรับฟังของลูกน้อยจะเริ่มทำงานประมาณอายุครรภ์ 5 เดือน การใช้ช่วงเวลานี้ส่งเสียงผ่านไปถึงลูกในท้องด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ใช้ประโยคซ้ำ ๆ จะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดี เพราะทารกจะรู้จักเสียงต่าง ๆ ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้ว
บางวันคุณแม่อาจจะใช้การเล่านิทาน หรือเล่าว่าวันนี้แม่รู้สึกดี ๆ กับลูกอย่างไร การพูดคุยกับลูกในท้องบ่อย ๆ จะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด เมื่อทารกเกิดมาจะมีพัฒนาการทางด้านสมองและพร้อมสำหรับพัฒนาการด้านภาษาที่ดีกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้คุยด้วย
4.วิธีเล่นกับลูกในท้อง – ไฟฉายส่องหน้าท้อง
เมื่ออายุครรภ์ประมาณเดือนที่ 7 คุณแม่สามารถใช้ไฟฉายส่องแสงไฟไปที่หน้าท้อง เพื่อกระตุ้นเล่นกับลูกน้อยในครรภ์ได้ การส่องไฟที่หน้าท้องจะทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็นมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยการนำไฟฉายไปส่องที่หน้าท้องแล้ววนเป็นวงกลมรอบสะดือ หรือเล่นเป็นสัญญาณไฟกะพริบโดยการใช้แสงไฟห่างจากบริเวณหน้าท้องพอสมควรและแสงต้องไม่จ้าจนเกินไป วิธีนี้จะช่วยให้ลูกปรับสภาพการมองเห็นได้ดีขึ้น และจะส่งผลให้ทารกมีการตอบสนองที่แสดงว่าลูกน้อยรับรู้ได้ เช่น การเคลื่อนไหว การถีบหน้าท้อง หรือการดิ้น
ที่สำคัญคือ ไฟฉายที่นำมาส่องท้องเล่นกับลูกนั้นไม่ควรใช้ไฟฉายที่มีกำลังไฟแรงสูงเพราะอาจส่งผลเสียต่อจอประสาทตาของทารกได้
5.วิธีเล่นกับลูกในท้อง – ลูบหน้าท้อง
การลูบท้องระหว่างตั้งครรภ์เป็นการกระตุ้นระบบประสาท ทุกสัมผัสที่เกิดขึ้นจะพัฒนาเส้นใยประสาทของสมองส่วนรับความรู้สึกของลูกให้มีพัฒนาการดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ และความไวในการรับรู้ของทารก รวมถึงพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ดีอีกด้วย จะสังเกตได้ว่าขณะที่แม่ลูบท้องหรือขยับตัวลูกในท้องก็จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบหรือมีการเคลื่อนไหว เช่น ลูกจะขยับตัวไปตามบริเวณที่มือของคุณพ่อหรือคุณแม่ลูบไป ทำให้รู้สึกว่าลูกในท้องก็รับรู้ได้ถึงสัมผัสนี้ที่เป็นการส่งความรู้สึกผ่านหน้าท้องสู่ทารกในครรภ์โดยตรง ขณะเดียวกันการลูบท้องและพูดคุยกับลูกไปด้วย จะเป็นการสร้างความคุ้นเคยและความผูกพันระหว่างแม่ลูก เบบี๋จะคุ้นน้ำเสียงและได้รับความอบอุ่นจากแม่
ลูบท้องกระตุ้นพัฒนาการลูกด้วยวิธีง่าย ๆ คือให้คุณแม่ลูบท้องเป็นวงกลมวนไปมา เริ่มจากบนลงล่างหรือซ้ายไปขวาก่อนก็ได้
credit content : www.mthai.com
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
กระตุ้นสมองลูกน้อยให้ฉลาดสร้างได้ตั้งแต่วัยคลาน
5 วิธีกระตุ้นให้ลูกสมองฟิตความคิดปรู้ดปร้าด
เล่นกับลูกอย่างไร เพื่อให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ 100 เรื่องพ่อแม่ต้องรู้ก่อนลูก 1 ขวบ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!