5 ปัญหาหลังคลอดปล่อยไว้ไม่ดีแน่
Part 1 : 5 ปัญหาสำคัญหลังคลอด
ปัญหาหลังคลอดที่มักพบอยู่เสมอ บางอาการไม่ร้ายแรง แต่บางอาการปล่อยไว้อันตรายถึงชีวิต มาดูกันค่ะว่ามีปัญหาอะไรบ้าง
1. ปัญหาหลังคลอด : เจ็บฝีเย็บ
ปัญหาหลังคลอดที่มักพบ ได้แก่ เจ็บฝีเย็บเป็นปัญหาที่ต้องพบเจออย่างแน่นอน การเจ็บฝีเย็บอาจเกิดจากการฉีกขาดเองหรือจากการตัดหลังจากทำคลอดแล้ว แต่อาการเจ็บฝีเย็บโดยทั่วไปคุณแม่เพียงแค่ทานยาแก้ปวดก็บรรเทาลงแล้วค่ะ ผ่านไป 3 – 4 วัน อาการที่เจ็บจะเริ่มดีขึ้นมาก
แต่อาการเจ็บฝีเย็บที่น่าเป็นห่วง คือ มีอาการเจ็บปวดมาก เจ็บจนทรมานทานยาก็ไม่หาย บางรายมีรอยบวมแดงหรืออาจมีเลือดออกแบบนี้ไม่ดีแน่ เพราะอาจเกิดการติดเชื้อหลังคลอดได้ รีบไปพบคุณหมอโดยด่วนเลยนะคะ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่เอง
2. ปัญหาหลังคลอด : ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ
ในขณะที่คลอด ศีรษะของทารกจะเคลื่อนต่ำมากดท่อปัสสาวะ ส่งผลทำให้ท่อปัสสาวะบวม ทำให้เวลาที่คุณแม่ถ่ายปัสสาวะลำบาก เนื่องจากเกิดการคั่งค้างของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ และทำให้ติดเชื้อได้ง่าย บางคนก็เกิดการติดเชื้อเฉพาะในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมักไม่ค่อยมีไข้ เพียงแต่จะมีแค่อาการถ่ายปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะแสบขัดโดยเฉพาะตอนถ่ายปัสสาวะจะสุด
แต่คุณแม่บางคนมีอาการอักเสบติดเชื้อด้วยและลามไปถึงกรวยไต เมื่อเป็นเช่นนี้คุณแม่จะมีอาการไข้ หนาวสั่น ไม่ควรปล่อยไว้นะคะต้องรีบพบคุณหมอโดยด่วนเพราะอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ร้ายแรงจนถึงช็อกและเสียชีวิตได้ค่ะ
3. ปัญหาหลังคลอด : เป็นไข้
ภายหลังคลอดทันทีจนถึงประมาณ 1 ชั่วโมง คุณแม่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองมีอาการตัวรุม ๆ หนาวสั่นคล้ายจะมีไข้ เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากภายหลังคลอดใหม่ ๆ คุณแม่มีการเสียเลือดไปจากร่างกายค่อนข้างมากและทันที ทำให้ร่างกายต้องมีการปรับตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เมื่อคุณแม่ปรับตัวได้แล้ว อาการไข้ก็จะหายไปได้เอง
แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับคุณแม่ที่เมื่ออาการไข้หลังคลอดที่เกิดจากช่วงปรับตัวหายแล้ว แต่ในวันต่อมากลับมีไข้ขึ้นมาอีก ต้องให้คุณหมอตรวจดูก่อนนะคะว่า สาเหตุของอาการไข้นั้นเกิดจากอะไร รุนแรงแค่ไหน เช่น
ไข้หวัด ในห้องคลอดอากาศค่อนข้างเย็น คุณแม่ที่กว่าจะคลอดและเจ็บครรภ์เป็นเวลานานทำให้ต้องนอนอยู่ห้องคลอดนาน อีกทั้งร่างกายอ่อนเพลีย อาการนี้เพียงแค่ ไอ จาม หรือมีน้ำมูก ซึ่งไม่มีอันตรายใด ๆ
มดลูกอักเสบ คุณแม่ที่มีปัญหาขณะคลอด เช่น มีน้ำเดินนาน มีการตรวจภายในบ่อยครั้ง มีการทำหัตถการต่าง ๆ เช่น ใช้คีมช่วยคลอด มีการล้วงรก รวมทั้งคุณแม่บางคนมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคเอสแอลอี คุณแม่เหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะมีการอักเสบของมดลูกได้ ซึ่งถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย คุณแม่อาจจะมีอาการเพียงแค่เลือดออกผิดปกติหลังคลอด แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้นก็จะมีไข้ มีอาการเจ็บที่มดลูก และมีตกขาวผิดปกติ ร่วมด้วย
ฝีเย็บอักเสบ อาการเช่นนี้จะทำให้คุณแม่มีอาการปวดอย่างมาก และอาจมีไข้ขึ้นร่วมด้วย บางรายมีหนองเกิดขึ้นบริเวณฝีเย็บเนื่องจากการอักเสบรุนแรง
4. ปัญหาหลังคลอด : ตกเลือด
การตกเลือดหลังคลอด แบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ ระยะแรกคือ การตกเลือดภายหลังคลอดทันทีหรือภายใน 24 ชั่วโมง หลังคลอด และระยะที่ 2 คือ การตกเลือดที่เกิดขึ้นภายหลังคลอดในระยะเวลาตั้งแต่ 24 ชั่วโมงไปจนถึง 6 สัปดาห์ภายหลังคลอด
การตกเลือดหลังคลอดทันที
– มักมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการหดรัดตัวของมดลูกไม่ดี
– การฉีกขาดของช่องคลอด การมีรกค้าง
– ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
– อาการตกเลือดหลังคลอดจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการเสียเลือดได้
– ปัญหาการตกเลือดหลังคลอดทันทีมักจะเป็นเรื่องที่รุนแรง แต่ข้อดีก็คือปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นขณะที่คุณแม่ยังคงนอนในโรงพยาบาล ทำให้การดูแลรักษามักไม่ล่าช้า
ส่วนการตกเลือดภายหลังคลอดนานเกิน 24 ชั่วโมงไปแล้ว
– สาเหตุมักจะเกิดจากมดลูกอักเสบและการมีเศษรกหรือเศษถุงน้ำคร่ำค้างอยู่ในโพรงมดลูก ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นเพียงชิ้นเล็ก ๆ
– สาเหตุทั้ง 2 ประการมักจะทำให้คุณแม่มาพบคุณหมอด้วยอาการคล้าย ๆ กัน คือ น้ำคาวปลาที่เคยมีสีแดงแล้วจางลงจนเป็นสีเหลืองและขาว กลับมีสีแดงขึ้นมาใหม่
– หากมีอาการดังกล่าว คุณแม่ต้องรีบมาพบคุณหมอ ถ้าเป็นการอักเสบของมดลูกคุณหมอก็จะให้การรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ แต่ถ้ามีเศษรกหรือเศษถุงน้ำคร่ำค้าง คุณแม่อาจจำเป็นต้องรับการขูดมดลูก
บทความแนะนำ ตกเลือดหลังคลอดอันตรายถึงชีวิต
5. ปัญหาหลังคลอด : น้ำคาวปลาผิดปกติ
น้ำคาวปลาปกติเป็นอย่างไร
– น้ำคาวปลาปกติ หมายถึง เลือดและเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีการฉีกขาดและหลุดลอกออกมาร่วมกันภายหลังคลอด
– ในระยะ 2-3 วันแรกจะมีสีแดงจากการที่ยังมีเลือดออกค่อนข้างเยอะ หลังจากนั้นประมาณ 3-4 วัน เลือดจะออกน้อยลง ทำให้น้ำคาวปลาสีจางลง
– ภายหลังคลอดประมาณ 10 วัน น้ำคาวปลาจะออกน้อยและภายในช่องคลอดเริ่มมีการสร้างตกขาวปนออกมากับน้ำคาวปลา ทำให้น้ำคาวปลาในระยะนี้มีสีขาวปนเหลือง และเหนียวข้น และหลังจากนั้นน้ำคาวปลาก็จะหมดไปกลายเป็นตกขาวตามปกติ
น้ำคาวปลาที่ผิดปกติ
– น้ำคาวปลาที่ผิดปกติ หมายถึง น้ำคาวปลามีคุณสมบัติต่างจากน้ำคาวปลาที่ปกติ ซึ่งอาจจะเป็นความผิดปกติของ ลักษณะปริมาณ หรือช่วงระยะเวลาที่น้ำคาวปลาไหลออกมา
– น้ำคาวปลาที่ผิดปกติซึ่งที่พบได้บ่อย ๆ มี 2 ชนิด คือ น้ำคาวปลาที่เคยจางลงแล้วกลับมามีสีแดงใหม่และน้ำคาวปลาที่มีกลิ่นเหม็น
– น้ำคาวปลาที่กลับมามีสีแดงใหม่ส่วนมากแล้วเกิดจากการที่มีเศษรกค้างอยู่ในมดลูกหรือมีการอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูก สำหรับปัญหาว่าทำไมบางคนรกถึงค้างในมดลูกไม่ยอมคลอดเหมือนคนอื่น ๆ สาเหตุที่พบบ่อย ๆ คือ คุณแม่เคยมีการอักเสบติดเชื้อในมดลูกมาก่อน หรือเคยขูดมดลูกมาหลายครั้ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดการอักเสบในมดลูก หรือถ้าเคยขูดมดลูกก็อาจทำให้ผนังของโพรงมดลูกไม่เรียบ มีแผลทำให้รกเกาะติดแล้วลอกตัวได้ไม่ดี ทำให้มีปัญหารกค้าง
– น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น ปกติน้ำคาวปลาจะมีกลิ่นคาวเลือด แต่ถ้ามีกลิ่นเหม็นแสดงว่าน่าจะมีการติดเชื้อในมดลูกสำหรับ สาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อน่าจะเกิดจากการที่ปล่อยให้น้ำเดินเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้เชื้อโรคซึ่งอยู่บริเวณช่องคลอดเข้าไปในมดลูกได้ นอกจากนี้ การตรวจภายในเป็นระยะ ๆ เพื่อดูว่าการเจ็บครรภ์ของคุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าตรวจบ่อยครั้งก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
บทความแนะนำ ไขข้อข้องใจ น้ำคาวปลาของแม่หลังคลอด
Part 2 : การดูแลตนเองหลังคลอด
หลังคลอดแล้วมาดูวิธีการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม มีคำแนะนำดี ๆ มาฝากค่ะ
1. หลังคลอดควรพักผ่อนให้มากที่สุด
หลังคลอดแล้ว คุณแม่ยังมีร่างกายที่อ่อนแอและอ่อนเพลียมาก ดังนั้น คุณแม่ควรพักผ่อนให้มากในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด โดยควรนอนพักผ่อนกลางคืนให้ได้ 6-8 ชั่วโมง และพักผ่อนในช่วงกลางวัน โดยหลับไปพร้อมกับลูก พักผ่อนอย่างน้อย ประมาณ 30 นาที ในช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอด คุณแม่ไม่ควรหยิบหรือยกของหนัก ๆ เด็ดขาด เพราะช่วงนี้กล้ามเนื้อมดลูกกำลังกลับคืนสู่สภาพเดิม หากคุณแม่พักผ่อนน้อยหรือยกสิ่งของหนักก็อาจกระทบกระเทือนถึงอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานมดลูกได้
2. หลังคลอดรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและมีประโยชน์
ในช่วงที่ร่างกายคุณแม่กำลังฟื้นตัวคุณแม่ควรรับประทานอาหารจำพวกเนื้อ นม ไข่ ผักและผลไม้สด งดอาหารที่มีรสจัด ของหมักดองทุกชนิด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก สำหรับคุณแม่ให้นม การจิบน้ำอุ่นตลอดวันจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้มีน้ำนมสำหรับทารกมากขึ้นนะคะ
บทความแนะนำ หัวปลาต้มมะละกอดิบ อาหารเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่
3. รักษาความสะอาดของร่างกายหลังคลอดสำคัญนะ
– คุณแม่สามารถอาบน้ำชำระล้างร่างกายได้ตั้งแต่ 12-14 ชั่วโมงหลังคลอด หมั่นเปลี่ยนเสื้อผ้าที่สวมใส่เพราะหลังคลอดคุณแม่มักมีเหงื่อออกง่าย
– สำหรับคุณแม่ที่มีน้ำนมออกมาแล้วแนะนำให้เปลี่ยนเสื้อชั้นในบ่อย ๆ หรืออาจใช้แผ่นซับน้ำนมก็สามารถช่วยได้เช่นกันค่ะ
– ทุกครั้งที่คุณแม่อาบน้ำควรทำความสะอาดหัวนมอยู่เสมอ สำหรับก่อนให้นมลูกคุณแม่ควรใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดบริเวณเต้านมและรอบหัวนมให้สะอาด หลังจากให้นมลูกเสร็จแล้วคุณแม่ก็เช็ดหรือล้างทำความสะอาดอีกรอบค่ะ
– การรักษาความสะอาดอวัยวะเพศให้เป็นอย่างดีทุกครั้งหลังการขับถ่าย เพราะในช่วงหลังคลอด น้ำคาวปลาจะถูกขับออกมาเยอะ ทุกครั้งที่คุณแม่ขับถ่ายเสร็จแล้วจึงควรทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นและหมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่มดลูกจนอาจก่อให้เกิดอาการอักเสบติดเชื้อได้
4. งดมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์
สำหรับคุณแม่ที่คลอดโดยธรรมชาติ ควรงดการมีสัมพันธ์อย่างน้อย 6 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการฉีกขาดของแผล
บทความแนะนำ การมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดลูกสำหรับผู้หญิง
5. ออกกำลังกายฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอด
หลังคลอดคุณแม่สามารถออกกำลังกายเบาๆ ในช่วงหลังคลอด 6 สัปดาห์เป็นต้นไป ช่วงแรกอาจจะเป็นการเดินหรือทำงานบ้านเบา ๆ ไปก่อน การออกกำลังกายจำเป็นอย่างมากเพื่อช่วยในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อและอวัยวะภายในให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดน้ำหนักให้หุ่นกลับมาเพรียวกระชับสำหรับคุณแม่หลังคลอดได้เป็นอย่างดี การให้นมลูกก็ช่วยลดน้ำหนักหลังคลอดได้ดีเช่นกันนะคะ
บทความแนะนำ ฟิตหุ่นสวยเซียะ…ด้วยสูตรลดน้ำหนักหลังคลอด
อ้างอิงข้อมูล
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
อาการฟื้นตัวหลังคลอดต้องเป็นแบบนี้!!
TOP 10 ปัญหาหลังคลอดที่หมอสูติอยากบอก