การกอดเป็นพลังมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่มาก ทำให้ลูกรับรู้ได้ถึงความรัก ความอบอุ่น ความห่วงใย และส่งผลไปถึงการพัฒนาทางอารมณ์ของเด็กด้วย
พญ.ภัทรวรรณ อธิบายถึงลักษณะการกอดว่ามีหลายแบบ เช่น กอดแบบหมี (Bear hug) กอดแบบหน้าแนบหน้า (A frame hug) กอดแนบแก้ม (Cheek hug) กอดกันกลม (Sandwich hug) กอดเป็นกลุ่ม (Group hug) กอดจากหัวใจ (Heart centered hug) สามารถใช้การกอดได้หลายแบบขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในช่วงวัยของเด็กและเวลา รวมทั้งสถานที่ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 วัย ดังนี้
1. การกอดในวัยแรกเกิดและหัดเดิน เด็กต้องการสัมผัสอย่างมากเป็นพิเศษในช่วง 2-3 ปีแรก และโชคดีที่การอุ้มและการกอดเป็นสัญชาตญาณของแม่ เด็กควรได้รับการสัมผัสอย่างรักใคร่และอ่อนโยน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ้าอ้อม ป้อนอาหารหรือขณะอุ้ม พอโตขึ้นทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงล้วนยังต้องการการกอดและการหอม สัมผัสกันด้วยความรักใคร่เหมือนกัน เพราะมีความสำคัญมากต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็ก
2. การกอดในวัยเริ่มเรียน คือ การกอดลูกก่อนไปโรงเรียนทุกเช้า อาจส่งผลให้เขามีอารมณ์มั่นคงได้ตลอดทั้งวัน ในขณะเดียวกัน การกอดลูกตอนกลับจากโรงเรียนอาจทำให้เขารู้สึกสงบ ไม่งอแง เพราะเวลาไปโรงเรียนเขาต้องเจอเหตุการณ์ใหม่ๆ ทุกวัน อาจมีทั้งความรู้สึกดีหรือไม่ดีต่อคนรอบข้าง การกอดด้วยความรักอย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและสามารถปรับตัวเข้ากับคนรอบข้างได้ง่ายขึ้น
3. การกอดสำหรับลูกวัยรุ่น สิ่งสำคัญ คือ การแสดงความรักในทางสร้างสรรค์และเหมาะสมทั้งเวลาและสถานที่ พ่อแม่ควรแสดงความรักต่อทั้งลูกสาวลูกชาย เพราะวัยรุ่นยังต้องการการสัมผัสเหมือนเดิม เพียงแต่ควรทำที่บ้าน แม่ไม่ควรกอดลูกชายต่อหน้าเพื่อนของลูก เนื่องจากเด็กกำลังพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง การทำแบบนั้นอาจทำให้เด็กอายและอาจถูกเพื่อนล้อ ในทำนองเดียวกันลูกสาวก็ยังต้องการการกอดและการหอมจากพ่อ ดังนั้นเวลาและสถานที่จึงมีความสำคัญในวัยนี้ ส่วนการที่พ่อกอดลูกชายและแม่กอดลูกสาวอย่างรักใคร่ เป็นสิ่งที่เหมาะสมในทุกช่วงการพัฒนาการของเด็ก
ที่มา:
manager.co.th
นักบำบัดจิตวิทยาครอบครัวกล่าวว่า คนเราต้องการการกอดวันละ 4 ครั้ง เพื่อการดำรงชีวิต คนเราต้องการการกอดวันละ 8 ครั้ง เพื่อให้ชีวิตเดินต่อไปได้ดี และคนเราต้องการกอดวันละ 12 ครั้ง เพื่อการเจริญเติบโต
“พลังแห่งการกอด” เห็นผลง่าย รวดเร็ว และชัดเจน
ที่มา:
somdet.go.th
ขอบคุณภาพประกอบ
แม่เก๋และน้องฮาร์โมนี่