4 เรื่องที่หมอเด็ก อยากให้แม่ท้องเข้าใจก่อนคลอด
-
คุณอาจประสบปัญหาในการให้นมแม่ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติ
คุณแม่รู้ดีว่านมแม่มีประโยชน์มากแค่ไหน แต่สิ่งที่คุณแม่ควรทำความเข้าใจก่อนที่จะคลอดเจ้าตัวน้อยก็คือ การให้นมแม่เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถให้นมลูกภายใน 24 ชั่วโมงแรกของชีวิตได้เพราะน้ำนมยังไม่มา บางคนก็ใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าน้ำนมจะมา ซึ่งคุณแม่สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านนมแม่ หรือคลินิกนมแม่ ที่จะช่วยหาวิธีให้คุณแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ
แต่หากคุณได้รับความช่วยเหลือแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถให้นมลูกน้อยได้ คุณแม่ไม่ต้องรู้สึกผิดหรือตำหนิตัวเองนะคะ เพราะสิ่งที่ลูกน้อยต้องการเหนือสิ่งอื่นใดนั้นก็คือ ความรักและความเอาใจใส่ของคุณแม่นั่นเองค่ะ
-
ไตรมาสที่ 4 มีอยู่จริง
ไตรมาสที่ 4 ของการตั้งครรภ์ คือช่วงไม่กี่สัปดาห์แรกหลังคลอดที่คุณแม่อาจตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เนื่องจากร่างกายต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวภายหลังการคลอด ทั้งในเรื่องการแผลฝีเย็บ อาการปวดช่องคลอด น้ำคาวปลา ผมร่วง และอื่นๆ
หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้ ขอให้รู้ไว้ว่ามันไม่ได้เกิดกับคุณเพียงคนเดียว ผู้ที่ปรึกษาแพทย์ก็จะได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น แต่พบว่าคุณแม่จำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่ไปพบแพทย์ตามนัดหมายในช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อรับการประเมินสุขภาพคุณแม่ ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพาเจ้าตัวน้อยไปพบแพทย์ตามนัดเช่นกัน
และหากคุณยังคงมีอาการเจ็บปวดต่อเนื่องแม้พ้นระยะของการฟื้นตัวไปแล้ว คุณมีสิทธิที่จะได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์คนที่สอง สาม สี่ จนกว่าคุณจะได้รับคำตอบที่ต้องการ
-
เตรียมพร้อมสำหรับการนอน
แม้ว่าคุณจะเตรียมใจไว้แล้วว่าอาจจะไม่ได้หลับไม่ได้นอน แต่คุณอาจแปลกใจว่าคุณสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วกับการนอนน้อย เพราะต้องตื่นทุก 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้นมลูก เมื่อลูกน้อยนอนหลับคุณแม่ควรใช้ช่วงเวลานี้ในการพักผ่อนด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ คุณแม่ไม่ควรมองข้ามความปลอดภัยในการนอนของทารกด้วย โดยท่านอนที่ปลอดภัยที่สุดคือท่านอนหงาย และไม่ควรมีผ้าห่ม ตุ๊กตาสัตว์ เบาะกันกระแทก หรือแม้แต่หมอน บนที่นอนของลูก และไม่ควรมีช่องว่างหรือรอยแยกใดๆ ที่ลูกสามารถเข้าไปติดได้
-
ฮอร์โมนยังคงมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพหลังคลอด
ถ้าคุณเคยแพ้ท้อง หรือเป็นลม หรือจุกเสียดท้องระหว่างตั้งครรภ์ คุณทราบดีว่าเป็นอาการที่เกิดจากฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ แต่คุณแม่อาจไม่รู้ว่า ฮอร์โมนเหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญไปถึงช่วงหลังคลอดด้วย ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นอาการที่พบบ่อยในช่วง 2 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งคุณแม่มักไม่เข้าใจว่าตัวเองเป็นอะไร และทำไมถึงได้รู้สึกเช่นนั้น
คุณแม่มากถึง 15% ที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอด และคุณอาจไม่ทราบว่าอาการนี้ได้เกิดกับคุณแล้ว เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนลดลงทันทีหลังคลอด ซึ่งคุณแม่บางคนอาจมีปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนอย่างรวดเร็วจนเกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดตามมาได้
ที่มา www.whattoexpect.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!