4 สถานที่ที่ ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนลำพัง
คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายคะ เพื่อให้ลูกได้นอนหลับสบายให้มากที่สุด จึงไม่แปลกที่คุณพ่อคุณแม่อย่างเราจะต้องสรรหาที่นอน หรือสถานที่ปลอดภัยไว้ให้ลูกรักของเราได้นอน และเวลาที่ลูกหลับแล้ว ก็เป็นช่วงเวลาเดียวที่เราจะสามารถจัดการงานบ้าน หรือธุระต่าง ๆ ที่เราต้องทำได้ แต่เชื่อไหมคะว่า ไม่ใช่ทุกสถานที่หรอก ที่เราจะสามารถปล่อยลูกไว้นอนลำพังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 สถานที่นี้ เป็นสถานที่ที่ ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนลำพัง
สถานที่ที่ ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนลำพัง
1. เก้าอี้หัดนั่ง จริงอยู่ค่ะ ที่เก้าอี้หัดนั่งนั้นมีประโยชน์สำหรับตัวเราเองและลูก เพราะลูกจะได้สามารถนั่งเล่นหรือนั่งดูอะไรก็ได้ โดยที่เราไม่ต้องอุ้มให้นั่งตัก ที่สำคัญดีกับคุณพ่อคุณแม่ ที่จะได้ทำอะไรได้สะดวก และบ่อยครั้ง ที่เรามักจะเห็นลูก ๆ มักเผลอหลับบนเก้าอี้นี้ด้วย … ถ้าหากเราได้อ่านคู่มือของเก้าอี้ที่ซื้อมา เราจะรู้เลยว่า จะมีการเตือนไม่ให้ทารกนอนหลับบนเก้าอี้นี้ เพราะอาจจะเกิดอันตรายกับทารกได้
2. คาร์ซีท เวลาเดินทางไปไหน ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล อาจจะมีบ้างที่ลูก ๆ ของเรามักจะเผลอหลับบนคาร์ซีทเอาเสียง่าย ๆ คุณพ่อคุณแม่ อาจจะกำลังสงสัยว่า แล้วจะอันตรายอย่างไร ในเมื่อลูกก็นอนอยู่บนคาร์ซีทดี ๆ … จริง ๆ แล้วลูก ๆ นอนหลับบนคาร์ซีทได้นะคะ แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรที่จะปล่อยให้เขานอนหลับลำพัง หรือนอนหลับโดยที่ปราศจากการดูแลอย่างใกล้ชิดค่ะ เพราะสายรัด อาจจะไปปิดบังอากาศของลูกก็เป็นได้ค่ะ
3. โซฟาหรือเตียงนอน แน่นอนว่า โซฟานุ่ม ๆ กับเตียงนอนนิ่ม ๆ นั้น เป็นสถานที่ ๆ ลูก ๆ น่าจะนอนได้อย่างสบายที่สุด แต่อย่าลืมนะคะว่า เมื่อลูก ๆ เริ่มเคลื่อนไหวได้ ลูก ๆ อาจจะเผลอนอนดิ้น หรือลุกขึ้นคลานหาคุณพ่อคุณแม่ จนเผลอตกลงมาจนเป็นอันตรายก็เป็นได้ นอกจากนี้ ลูกอาจจะเผลอดิ้นแล้วตกลงไปที่มุมหรือขอบเตียงหรือโซฟาก็ได้ด้วยเช่นกันนะคะ
4. เตียงเขย่า คุณพ่อคุณแม่นึกถึงเตียงเขย่าที่มีของเล่นเด็ก ๆ หรือเพลงแล้วมีไว้ให้ลูกนอนเล่น และสามารถปรับระดับของการเขย่าได้ไหมคะ ถ้านึกออกละก็ อันนั้นละค่ะ แนะนำว่า หากลูกเล่นเพลิน ๆ แล้วเผลอหลับไป ให้คุณพ่อคุณแม่ อุ้มลูกออกจากเตียงเขย่านี้ และพาไปนอนในพื้นที่ราบจะดีที่สุดค่ะ
จัดเตียงนอนให้ลูกนอนสบาย
แล้วนอนอย่างไรจึงปลอดภัยกับลูก
บทความ : ทารกนอนอย่างไรให้ปลอดภัย ท่านอนทารก เด็กแรกเกิด–4 เดือน วิธีจัดเตียงนอนที่ปลอดภัย
วิธีจัดเตียงนอนที่ปลอดภัย
เด็กแรกเกิด ถึง 4 เดือน พ่อแม่ควรจัดท่านอนที่เหมาะสม จัดเตียงนอนที่ปลอดภัย ดังนี้
- ทารกต้องนอนที่นอนที่ปลอดภัย คือแยกที่นอนมาอยู่ด้านข้างผู้ใหญ่ด้วยระยะห่างประมาณเอื้อมมือถึง
- ทารกต้องไม่นอนระหว่างผู้ใหญ่หรือติดชิดกับผู้ใหญ่ เพราะอาจเผลอนอนเบียดหรือทับเด็กจนหายใจไม่ออก
- ทารกต้องนอนที่นอนเด็ก สูงประมาณ 2 ฟุต พ่อแม่ต้องระวังไม่ให้ทารกโดนผ้าห่ม หมอนของพ่อแม่ทับเด็กโดยไม่รู้ตัว
- ทารกต้องนอนที่นอนไม่นิ่มเกินไป ระวังผ้าห่ม หมอน มุ้ง อาจปิดทับจมูกทำให้หายใจไม่สะดวกหรืออุดกลั้น
หากจำเป็นต้องนอนด้วยเตียงนอน ควรมีที่กันตก รั้วขอบของเตียงต้องมีระยะห่างของซี่รั้วน้อยกว่า 15 เซนติเมตร และมีที่นอนที่พอดีกับเตียง ไม่มีช่องห่างระหว่างที่นอนกับขอบเพราะอาจเกิดการติดค้างของศีรษะที่ลอดผ่านซี่ราวหรือลอดผ่านรูช่องบนผนังรั้วรอบเตียง และการกดทับใบหน้า จมูก ในช่องห่างระหว่างเบาะที่นอนกับราวกันตก
ท่านอนที่เหมาะสมสำหรับทารก
- ท่านอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กคือนอนด้วยท่านอนหงาย ไม่ใช่นอนคว่ำ เพราะอาจอุดกลั้นทางเดินหายใจ
- หากต้องการให้เด็กหัวทุย ก็จัดท่านอนตะแคงซ้ายและขวาสลับกันกันไป โดยให้เด็กนอนกอดหมอนข้างเพื่อป้องกันการคว่ำหน้า
- การจัดท่านอนของเด็กนั้นต้องดูช่วงอายุ และลองเปลี่ยนท่านอนให้เรื่อย ๆ เพื่อหาท่านอนที่เด็กนอนหลับสบายที่สุด
ทารกนอนอย่างไรให้ปลอดภัยแต่ละช่วงวัย
- เด็กแรกเกิด–4 เดือน ควรนอนตะแคงหรือนอนหงาย เป็นท่าที่เหมาะกับพัฒนาการของกล้ามเนื้อคอที่ยังไม่ค่อยแข็งแรง ทำได้เพียงหันซ้ายและขวา สามารถมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวและฝึกการมองได้
- ทารกวัย 5–6 เดือน สามารถนอนคว่ำได้ และเด็กยกคอได้แล้วเพราะกระดูกคอเริ่มแข็ง แต่ยังต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพราะอาจเกิดการอุดกลั้นการหายใจได้
- ทารกวัย 7-12 เดือน สามารถนอนได้ทุกท่าเพราะเด็กพลิกตัวด้วยตนเองได้แล้ว ที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองต้องสังเกตตัวเด็กและสภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กอยู่เสมอ เช่น บนที่นอนของเด็กจะต้องไม่มีอะไรที่จะมาปิดหน้าได้ระหว่างที่นอนหลับอยู่ โดยเฉพาะเด็กที่มีนิสัยชอบคว้าสิ่งของรอบตัว
ท่านอนที่ปลอดภัย
วิธีจัดที่นอนลูกวัย 1 ปีขึ้นไป
แพทย์หญิงนนธนวนัณท์ สุนทรา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า เด็กอายุเกิน 1 ปี ที่เริ่มยืนได้ ควรจัดให้นอนเตียงเด็กอย่างถูกวิธีคือ
- เตียงเด็กต้องมีราวกันตกที่มีซี่ราวแนวตั้งตรง ไม่ใช่แนวนอน และห่างกันไม่เกิน 15 เซนติเมตร
- ราวกันตกจะต้องมีตัวยึดแน่น เด็กไม่สามารถเหนี่ยวให้เคลื่อนไหวได้เอง ไม่อ้า ไม่เผยอ จนเกิดช่องห่างจากเตียงจนลำตัวเด็กลอดตกได้
- เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียงและไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับราวกันตก
- มุมเสาทั้ง 4 มุมต้องเรียบ มีส่วนนูนได้ไม่เกิน 1.5 มิลลิเมตร
- ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าต้องไม่มีการตัดตกแต่งให้เกิดร่องและรู
- จากขอบบนของเบาะที่นอนถึงราวกันตกด้านบนต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 65 เซนติเมตร
- เด็กที่มีความสูงเกินกว่า 89 เซนติเมตร มีความเสี่ยงต่อการปีนราวกันตกและตกจากที่สูงได้
พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องระวังหากพบว่าเด็กแน่นิ่ง ตัวซีดหรือเขียวคล้ำ ให้จับเด็กนอนหงาย พยายามปลุก เรียก สังเกตการหายใจโดยดูการเคลื่อนไหวของหน้าอก หน้าท้อง ถ้าเรียกไม่รู้ตัวลักษณะเหมือนไม่หายใจ ให้กดทรวงอกบริเวณ สันอกทันที สลับกับการเป่าปากหรือเป่าจมูก-ปากเด็กในเวลาเดียวกันและรีบตามหน่วยฉุกเฉิน 1669 เพื่อนำส่งโรงพยาบาล
ที่มา : Belly Belly
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ข้อดีข้อเสียของการให้ลูกนอนกับพ่อแม่
ปูเบาะลมให้ลูกนอนเล่นในรถอันตรายถึงชีวิต
ทายนิสัยลูกน้อยจากท่านอน คนไหนใจดี คนไหนใจร้อนท่านอนบอกได้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!