4 อาการของแม่ท้องไตรมาสสุดท้าย ในระยะ 9 เดือน หรีอ ราว ๆ 40 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ในช่วงไตรมาสสุดท้าย หรือ ประมาณสัปดาห์ที่ 28 ถึง สัปดาห์ที่ 40 อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ อายุครรภ์มารดาก็จะสมบูรณ์ พร้อมที่จะให้กำเนิด แม้ว่าแม่ท้อง จะครบกำหนดคลอดบุตร เมื่อครรภ์มีอายุราว ๆ 39 สัปดาห์ แต่ก็มีการคลอดก่อนกำหนด คือก่อนสัปดาห์ที่ 39 หรือ มีกำหนดคลอดหลัง คือ เมื่ออายุครรภ์ 40 -42 สัปดาห์ ดังนั้น อายุครรภ์ไตรมาสสุดท้าย จึงขึ้นอยู่กับการกำหนดคลอด ของคุณแม่แต่ละคน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
ก่อนจะไปดูว่า 4 อาการของแม่ท้องไตรมาสสุดท้าย ในช่วงไตรมาสที่สาม หรือไตรมาสสุดท้ายนี้ ทารกในครรภ์จะมีการเจริญเติบโตที่ไว้ขึ้น น้ำหนักตัวของเจ้าหนูน้อย เกือบจะถึงครึ่งหนึ่ง ของน้ำหนักที่เจ้าตัวจะได้ชั่งเป็นครั้งแรก ในวันที่ถือกำเนิดออกมา ในวันที่ลูกสาว ลูกชาย จะออกมาดูโลกกว้างเป็นครั้งแรกนั้น เขา หรือเธอจะจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 2.7 กิโลกรัม ถึง 4 กิโลกรัม ส่วนสูง 18 – 20 เซนติเมตร ไขมันใต้ผิวหนังกำลังเติบโตอย่างเต็มที่ ลูกน้อยก็จะมีหน้าตาใกล้เคียงกับตอนเกิด เมื่อครบ 36 สัปดาห์ การเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ ก็สมบูรณ์ และ พร้อมที่จะออกมาเผชิญโลกภายนอก
แม่ท้องแก่กับอาการบวม
อาการบวมเป็นธรรมชาติที่ร่างกายของเรากักเก็บน้ำในเนื้อเยื่อ ทำให้มีปริมาณของเหลวในร่างกายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้น ก็ทำให้กระดูกเชิงกรานกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ ที่ชื่อว่าเวนาคาวา (vena cava) ซึ่งอยู่ทางด้านขวาของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถส่งเลือดจากบริเวณหลังช่วงล่าง กลับไปที่หัวใจได้สะดวก โดยส่วนใหญ่เราจะรู้สึกบวมที่บริเวณข้อเท้าและเท้า วิธีลดอาการบวม ยกขาสูงทุกครั้งที่ทำได้ หากอยู่ที่ทำงานก็ควรหาเก้าอี้ หรือกล่องอะไรก็ได้มาหนุนให้ขาสูงขึ้น หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นตลอดจนยืดขาโดยให้ส้นเท้าแตะพื้นก่อน แล้วค่อย ๆ เหยียดปลายเท้าเพื่อให้กล้ามเนื้อน่องผ่อนคลาย จากนั้นก็ขยับนิ้วเท้าไปมา ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อให้ร่างกายเก็บน้ำน้อยลง
แม่ท้องแก่เหนื่อยง่ายเพราะครรภ์ใหญ่ขึ้น
อาการเหนื่อยง่ายเมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นเกิดขึ้นเนื่องจากมดลูกขยายใหญ่ขึ้นตามขนาดตัวของเด็กที่เติบโตภายในครรภ์ มดลูกจะดันกระเพาะอาหาร และลำไส้ขึ้นบน ส่งผลให้กระบังลมถูกดันสูงขึ้น นอกจากนั้นมดลูกยังดันผนังหน้าท้อง ให้ยื่นออกมา ทั้งกระบังลมและผนังหน้าท้องมีส่วนช่วยในการหายใจ จึงไม่แปลกใจที่คุณจะรู้สึกหายใจลำบากเมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้น อาการเหนื่อยง่ายเมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นพบได้บ่อย เนื่องจากหัวใจต้องสูบฉีดเลือดเพิ่มมากขึ้น เลือดบางส่วนต้องไปเลี้ยงลูกในครรภ์ เลือดส่วนที่ไปเลี้ยงบริเวณขาจะไหลกลับสู่หัวใจลำบาก วิธีลดอาการเหนื่อยง่าย หากคุณเดินแล้วเหนื่อยหรือเกิดอาการหายใจลำบาก ควรค่อย ๆ นั่งยอง ๆ โดยใช้มือใดมือหนึ่งเกาะเสาหรือหลักให้แน่น สูดหายใจลึก ๆ ให้เต็มปอด เลือดจะกลับสู่หัวใจมากขึ้น และเลือดบางส่วนจะไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ช่วยลดอาการเหนื่อยและหายใจลำบากได้ดี
แม่ท้องแก่เป็นตะคริว
ดิฉันว่าทุกคนคงเคยเป็นตะคริวเวลาท้องบ้าง มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ตะคริวนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุจนก่อให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง กล้ามเนื้อขาของเราอาจจะแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นอาจไปกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ของขา ประกอบกับ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปขณะตั้งครรภ์ร่วมด้วย นอกจากนี้ ตะคริวยังเกิดจากการขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และเกลือในกระแสเลือด เนื่องจากเด็กดึงสารอาหารเหล่านี้ผ่านรกไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตในครรภ์ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าถ้าคุณทานวิตามินเสริมแร่ธาตุที่คุณขาดแล้ว จะช่วยป้องกันตะคริวได้ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรก็ตาม ความเจ็บปวดจากตะคริวก็ทำให้เราสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกได้ทันที วิธีป้องกันตะคริว ยืดน่อง ยืนห่างจากกำแพง 1 เมตร แล้วใช้มือยันกำแพงไว้ พยายามให้ฝ่าเท้าแบบราบติดพื้นไว้นะคะ ทำค้างไว้ครั้งละ 5 วินาที เซ็ตละ 5 ครั้ง ทำสัก 3 เซ็ด โดยเฉพาะก่อนนอนนะคะ ดื่มน้ำเยอะ ๆ อย่างน้อยก็ให้ถึง 8-10 แก้วต่อวัน
แม่ท้องแก่เป็นริดสีดวงทวาร
เนื่องจากมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปกดทับเส้นเลือดดำบริเวณด้านขวาของร่างกายทำให้ระบบไหลเวียนเลือดบริเวณนั้นทำงานไม่ปกติ ส่งผลให้เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักปูดออกมา เวลาขับถ่ายจึงเกิดการเสียดสี และเกิดเลือดออกบริเวณทวารหนัก สร้างความระคายเคือง และความเจ็บปวด วิธีการดูแลตัวเองหากเป็นริดสีดวง หากพบว่าเป็นริดสีดวงสิ่งแรกที่คุณควรทำคือพยายามรักษาความสะอาดบริเวณทวารหนัก และใช้กระดาษทิชชูที่นิ่ม ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ใช้ความเย็นประคบบริเวณที่เป็นริดสีดวงหลายครั้งต่อวัน เพื่อลดอาการบวมของหลอดเลือดดำที่ปูดออกมา แช่ก้นในน้ำอุ่นครั้งละ 15 นาที หรือลองแช่น้ำอุ่นสลับ กับการประคบน้ำแข็งก็ได้ค่ะ ถ้าลองทำแล้วยังไม่รู้สึกดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์
อ้างอิง: www.pampers.com
บทความที่เกี่ยวข้อง
อาการคนท้องที่พบบ่อยในไตรมาสแรก
พัฒนาการการตั้งครรภ์ 9 เดือนของหนูในท้องแม่ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
คนท้องต้องรู้ การตกไข่ และตัวช่วยให้ท้องง่าย เทคนิคทำให้ท้องได้ง่าย!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!