โรคมะเร็งในเด็ก
โรคมะเร็งในเด็ก ไม่มีแม่คนไหนอยากเห็นลูกป่วยเป็นมะเร็ง ดังนั้น แม่ต้องรู้ ระวังตัวตั้งแต่ตอนท้อง
สถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็ก
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงสถิติโรคมะเร็งในเด็กของประเทศไทย ว่า พบอุบัติการณ์เป็น 21.7, 16.6 และ 10.2 ต่อประชากร 100,000 คน ในผู้ป่วยเด็กชายอายุระหว่าง 0-4 ปี, 5-9 ปี, และ 10-14 ปี ตามลำดับ และ 14.1, 10.5 และ 9.4 ต่อประชากร 100,000 คน ในผู้ป่วยเด็กหญิงอายุระหว่าง 0-4 ปี, 5-9 ปี, และ 10-14 ปี ตามลำดับ
ชนิดของโรคมะเร็งในเด็ก
ได้มีการแบ่งโดยใช้เกณฑ์ขององค์กรระหว่างประเทศ International Childhood Cancer Classification (ICCC) โดยแบ่งโรคมะเร็งทั้งหมดเป็น 12 ชนิด ข้อมูลจากชมรมโรคมะเร็งในเด็กแห่งประเทศไทย ได้จัดทำทะเบียนมะเร็งผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็กของประเทศไทย โดยความร่วมมือของโรงพยาบาล/สถาบันที่ดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งทั้งสิ้น 20 สถาบันทั่วประเทศ ได้ร่วมมือเก็บบันทึกข้อมูลผู้ป่วยเด็กอายุระหว่าง แรกเกิดถึง 14 ปีได้ข้อมูลโรคมะเร็งในเด็ก จำนวน 2,792 ราย ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยใหม่ระหว่างปี 2546 ถึง 2548 (1,602 คนในเพศชายและ 1,190 คน ในเพศหญิง) อายุเฉลี่ยที่ 6.5 ปี
ด้านสถิติโรคมะเร็งในโรงพยาบาลรามาธิบดี จากการจัดทำทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ซึ่งได้มีการอ้างอิงการจัดกลุ่มแบบ ICCC เช่นเดียวกัน พบสถิติผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งอายุระหว่างแรกเกิด ถึง 15 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างปี 2554-2558 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 472 คนพบเพศชายมากกว่าเพศหญิง เล็กน้อย โดยพบจำนวนผู้ป่วยเด็กชาย 271 คน (57.4%) และผู้ป่วยเด็กหญิง 201 คน (42.6%) อัตราการวินิจฉัยของเพศชายต่อเพศหญิง เป็น 1.3:1 มีอายุเฉลี่ยที่ 6.6 ปี
จากรายงานสถิติ 5 ปีย้อนหลัง (2554-2558) พบจำนวนผู้ป่วยเด็กใหม่ของรามาธิบดีทั้งหมด 472 คน เป็นมะเร็งสมองมากที่สุด รองลงมาคือชนิด Germ cell tumors และ มะเร็งตา โดยพบเป็นจำนวน 128 คน(27.1 %), 57 คน(12.1%), และ 45 คน(9.5%), ตามลำดับ ชนิดของผู้ป่วยมะเร็งในเด็กที่พบน้อยที่สุด คือมะเร็งไต พบเป็นจำนวน 19 คน (4.0%)
ที่มา : https://med.mahidol.ac.th
มะเร็งในเด็กพบได้ 1 ใน 10 ของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่
จากสถิตินี้เอง ทำให้พ่อแม่ต้องตระหนักถึงอันตรายของโรคมะเร็งในเด็ก โดยเฉพาะแม่ตั้งครรภ์ แม้ว่ามะเร็งในเด็กจะพบได้ 1 ใน 10 ของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ก็ตาม
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายว่า โรคมะเร็งในเด็กเกิดได้ทั้งกับเด็กแรกเกิดตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่ จนถึงเด็กที่อายุไม่เกิน 15 ปี ปัจจุบันประเทศไทย พบอุบัติการณ์ของเด็กป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ประมาณ 1,000 รายต่อปี มะเร็งเม็ดเลือดขาวพบได้มากกว่าร้อยละ 50 ของโรคมะเร็งทั้งหมดในเด็ก รองลงมา ได้แก่
- โรคมะเร็งสมอง
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- โรคมะเร็งต่อมหมวกไต
ปัจจัยเสี่ยงทำให้เด็กป่วยเป็นมะเร็ง
- การทานผักและผลไม้ที่มีสารปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลง เชื้อราในถั่วลิสง ข้าวโพด
- อาหารตากแห้งที่มีความชื้นมาก เช่น หอม กระเทียม พริกแห้ง
- การบริโภคอาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหาร ใส่สารกันบูด สารปรุงแต่งรส สีสันต่าง ๆ หรือรมควัน
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งจอตา
- การได้รับรังสีบางชนิดปริมาณสูงขณะอยู่ในครรภ์ เช่น รังสีเอกซ์ (รังสีในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค) รังสีแกมม่า อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- การติดเชื้อของมารดาในขณะตั้งครรภ์ เช่น การติดเชื้อไวรัส เอชไอวี (HIV) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด บี ซี รวมทั้งการขาดสารบางชนิดของมารดาขณะที่ตั้งครรภ์ เช่น วิตามินบี 9
อาการที่หมอพบบ่อยเมื่อเด็กเป็นมะเร็ง
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ระบุว่า อาการของโรคมะเร็งในเด็กโดยปกติมักจะไม่มีอาการเฉพาะ หรือสามารถระบุอาการต่าง ๆ ได้ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ ต้องอาศัยความเอาใจใส่ และการสังเกต ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ
- คลำพบก้อนเนื้อผิดปกติในร่างกาย
- มีอาการไข้สูง โดยจะเป็น ๆ หาย ๆ
- มีจุด จ้ำ เป็นห้อเลือดง่าย
- มีจุดเลือดตามลำตัว แขน หรือขา อาการจะคล้ายคนเป็นไข้เลือดออก และอ่อนเพลียง่าย
โรคมะเร็งในเด็กส่วนใหญ่มีความรุนแรงของโรคสูง แต่มีโอกาสรักษาให้หายได้ ขึ้นอยู่กับระยะของโรคชนิดของเซลล์มะเร็ง ความสามารถในการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออก การตอบสนองต่อเคมีบำบัด อายุ และสุขภาพของเด็ก วิธีการรักษา ได้แก่ การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และวิธีรังสีรักษา ซึ่งจะใช้ในกรณีที่พบว่ามีความรุนแรงของโรคสูงเกิดการแพร่กระจาย ไม่สามารถผ่าตัด และมีอาการดื้อต่อเคมีบำบัด
วิธีป้องกันโรคมะเร็งในเด็ก
หลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ หรือสารก่อมะเร็ง จากอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ต้องคอยหมั่นสังเกตเด็ก หากพบความผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที
ที่สำคัญ แม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น
- อาหารสำเร็จรูป
- บุหรี่
- แอลกอฮอล์
เพื่อให้ลูกน้อยคลอดออกมาอย่างแข็งแรง ปลอดภัย ห่างไกลจากโรคมะเร็งในเด็ก แม่ท้องต้องดูแลตัวเองให้ดี เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะกระทบต่อทารกในครรภ์
ที่มา : https://www.thaihealth.or.th/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ตั้งครรภ์ ท้องเสีย ปวดท้องบิด อาการแบบนี้ส่งผลอย่างไรต่อลูกในท้อง
กินแล้วลูกผิวขาวหรือกินแล้วแท้ง จริงๆแล้ว คนท้องกินน้ำมะพร้าวได้มั๊ย
คลิปทารกตัวสั่นรุนแรง ลูกติดยาตั้งแต่เกิด เพราะแม่ท้องเสพยาไงล่ะ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!