10 คำถามสุดฮิตที่แม่ท้องอยากรู้

การตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ครอบครัวจะมีสมาชิกตัวน้อย ๆ ที่เกิดมาจากความรักของคุณพ่อคุณแม่ แต่สำหรับว่าที่คุณแม่โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่แล้วท่ามกลางความยินดี มักจะมีความกังวลที่แฝงอยู่ และอาจเกิดคำถามขึ้นในใจหลาย ๆ อย่าง ติดตามอ่านกันค่ะว่ามีคำถามอะไรบ้างจะโดนใจแม่ท้องบ้างหรือไม่

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

10 คำถามสุดฮิต ที่ แม่ท้อง อยากรู้

10 ข้อสงสัยสุดฮิตที่คนท้องอยากรู้

มีคนท้องจำนวนมากที่ยังมีข้อสงสัยในเรื่องการตั้งครรภ์  โดยเฉพาะแม่ท้องมือใหม่  สำหรับข้อสงสัยสุดฮิตที่คนท้องอยากรู้ เราได้รวบรวมมาไว้ที่นี่ค่ะ

คำถามที่ 1   น้ำหนักที่เหมาะสมจนถึงคลอดควรควรมีน้ำหนักประมาณเท่าใดถึงจะดี

คำตอบ  รศ.ดร.นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล  สูตินรีแพทย์  โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับน้ำหนักของคนท้องที่เหมาะสมว่า  โดยทั่วไปตลอดอายุการตั้งครรภ์คุณแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 12–15 กิโลกรัม โดยน้ำหนักของแม่ท้องมักจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 2 กิโลกรัม แบ่งออกเป็น

ไตรมาสที่ 1  เดือนที่ 1-3 ในช่วงนี้คนท้องจะยังมีอาการแพ้ท้อง อาจทำให้กินอาหารได้น้อยลง หรือบางคนมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย ดังนั้น ในช่วงนี้น้ำหนักของแม่ท้องมักจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 กิโลกรัม หรืออาจะเป็นไปได้ที่บางคนจะมีน้ำหนักที่ลดลงเล็กน้อยถือว่าไม่อันตราย

ไตรมาสที่ 2  เดือนที่ 4-6   ในช่วงนี้คนท้องจะเริ่มมีน้ำมีนวล อิ่มเอิบมากขึ้น เพราะอาการแพ้ได้ลดลงแล้ว และเริ่มกินอาหารได้มากขึ้น ทำให้ตอนนี้น้ำหนักตัวจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ประมาณสัปดาห์ละ 0.25 กิโลกรัม หรือเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม ในช่วงนี้คุณแม่จะต้องเริ่มใส่ชุดคลุมท้องกันแล้ว  เพราะท้องจะเริ่มขยายมากขึ้น

ไตรมาสที่ 3 เดือนที่ 7-9   ช่วงนี้รูปร่างของคุณจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม หรือประมาณเดือนละ 2-2.5 กิโลกรัม  ในเดือนสุดท้ายน้ำหนักจะคงที่หรือลดลงเล็กน้อย  ช่วงนี้ลูกจะเจริญเติบโตเร็วมาก ทั้งทางสมองและร่างกายและเป็นช่วงที่คุณแม่จะเจริญอาหารมากที่สุด เห็นอะไรก็อร่อยไปหมด   แต่ควรระมัดระวังพวกของหวาน หรือผลไม้ที่ให้น้ำตาลมาก ๆ เพราะอาจส่งผลให้เกิดภาวะเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์ได้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ได้คลายข้อสงสัยสำหรับคนท้องในเรื่องน้ำหนักกันแล้วนะคะ  ติดตามอ่านข้อต่อไปเลยค่ะ

10 คำถามสุดฮิต ที่ แม่ท้อง อยาก รู้

คำถามที่ 2  วัคซีนที่จำเป็นสำหรับคนท้อง มีอะไรบ้าง

คำตอบ   กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้มีการฉีดวัคซีนสำหรับคนท้อง  เพื่อความปลอดภัยของแม่และทารกในครรภ์  วัคซีนที่จำเป็นสำหรับคนท้อง มีดังนี้

1. วัคซีนบาดทะยัก(Tetanus) วัคซีนตัวนี้ช่วยป้องกันบาดทะยักทั้งแม่และทารกในครรภ์ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเจ้าตัวน้อยจะคลอดออกมาแล้วการดูแลสายสะดือให้สะอาดเป็นสิ่งจำเป็นนะคะ เพราะหากเกิดติดเชื้อโรคจะทำให้เกิดอันตรายต่อทารกได้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

2. วัคซีนคอตีบ (Diptheria) วัคซีนคอตีบจะช่วยป้องกันโรคคอตีบในแม่และทารกในครรภ์ ตามปกติแล้ววัคซีนคอตีบจะฉีดร่วมกับวัคซีนบาดทะยัก

3. วัคซีนไอกรน (Pertussis) โรคไอกรน พบว่า จำนวนทารกเกินร้อยละ 50 ที่ป่วยเป็นโรคไอกรน ติดมาจากเชื้อโรคไอกรนจากแม่ ซึ่งหากลูกเป็นโรคไอกรนใน 3 เดือนแรก ลูกมีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต แต่หากฉีดวัคซีนไอกรนให้แม่ สามารถป้องกันโรคไอกรนในลูกที่คลอดออกมาได้ตั้งแต่ 2-6 เดือน

4. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ตามปกติไข้หวัดใหญ่จะระบาดมากในช่วงหน้าหนาว แต่สำหรับคนท้องแล้วไม่ว่าจะฤดูไหนก็ตามสามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ตลอด โรคนี้จะเป็นอันตรายต่อคนท้องมากกว่าคนปกติ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง  เช่น  ปอดบวม  เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ฯลฯ ส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูกได้

5. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)  แม้ว่าแม่ท้องจะไม่เคยฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี หรือเจาะเลือดแล้วไม่มีภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี ควรฉีดวัคซีนนี้ซึ่งนอกจากป้องกันแม่ท้องแล้วยังป้องกันทารกในครรภ์อีกด้วย

เรื่องน่ารู้    วัคซีนหัดเยอรมัน การฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันควรฉีดก่อนที่จะตั้งครรภ์ ไม่น้อยกว่า 3 เดือน  เนื่องจากให้ฤทธิ์ของวัคซีนนั้นจะได้เพาะบ่มในร่างกายของคุณแม่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน  ดังนั้น  หากคู่แต่งงานที่วางแผนจะมีลูกควรฉีดวัคซีนหัดเยอรมันตั้งแต่เนิ่นๆ จะดีที่สุด

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

10 คำถามสุด ฮิต ที่ แม่ท้อง อยาก รู้

คำถามที่ 3 ยาบำรุง  วิตามินเสริม หรืออาหารเสริมจำเป็นต่อแม่ท้องหรือไม่

คำตอบ  การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับแม่ท้อง  ส่วนสารอาหารที่ต้องเพิ่มเติม  ได้แก่  ธาตุเหล็ก  เพราะเป็นตัวช่วยสำคัญในการนำออกซิเจนไปสู่ทารกในครรภ์,  แคลเซียม  ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์  ซึ่งแม่ท้องต้องรับประทานตลอดช่วงอายุครรภ์  และโฟเลตเป็นสิ่งที่คนท้องขาดไม่ได้  เพราะช่วยเสริมสร้างสมองให้แก่ทารก

สำหรับคนท้องที่ไม่สามารถทานอาหารได้ครบทุกหมู่ สามารถรับประทานวิตามินเสริมเพื่อทดแทน แต่ควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ เนื่องจากการได้รับวิตามินบางชนิดมากเกินไปอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้

10 คำถาม สุดฮิตที่แม่ท้องอยากรู้

คำถามที่ 4  ถอนฟัน  อุดฟัน ในช่วงตั้งครรภ์อันตรายหรือไม่

คำตอบ  การทำฟันในช่วงตั้งครรภ์สามารถทำได้  เพียงแต่เวลาที่ไปทำฟันคุณแม่ต้องแจ้งให้คุณหมอทราบด้วยว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่
สำหรับคุณแม่ที่จำเป็นต้องถอนฟัน อาจจะทำให้มีเลือดออกได้มากกว่าคนที่ไม่ตั้งครรภ์บ้าง  หมอฟันจึงมักจะหลีกเลี่ยงที่การถอนฟันของคนท้อง  แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็ทำได้  สำหรับคนท้องบางรายที่มีปัญหาต้องกรอฟันเป็นเวลานาน ๆ อาจจะทำให้เกิดอาการเกร็ง ถ้าเคยมีประวัติหรือมีความเสี่ยงจะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด  อาจจะทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ ดังนั้น คุณแม่ควรปรึกษาหมอฟันเพื่อรับคำแนะนำก่อนทำฟันเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่ค่ะ

คำถามที่ 5 แม่ท้องดื่มนมวัวดีหรือไม่

คำตอบ   การดื่มนมวัวในช่วงตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนท้อง  เพราะจะช่วยเพิ่มแคลเซียมในร่างกายแก่แม่ท้องได้ อีกทั้งช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย

อ่าน คำถามสุดฮิตที่แม่ท้องอยากรู้ข้อ 6 – 10 คลิกหน้าถัดไป

คำถามที่ 6 การใช้ยารักษาสิวระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่

คำตอบ    รศ.ดร.นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล กล่าวถึง  การใช้ยารักษาสิวในคนท้องว่า  ยารักษาสิวบางกลุ่มทั้งชนิดทาและชนิดรับประทาน เช่น ยากลุ่มกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์ ได้แก่ Tretinoin, Isotretinoin, Adapaleneและ Tazarolene จัดเป็นยาอันตรายที่มีผลต่อทารกในครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความพิการได้ ดังนั้น  ก่อนการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ และแจ้งทุกครั้งว่าตนเองตั้งครรภ์ เพื่อได้รับการจ่ายยาที่เหมาะสม

คำถามที่ 7 คำว่า  “ภาวะครรภ์เสี่ยง” คืออะไร  และสังเกตอย่างไร

คำตอบ  รศ.ดร.นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล ได้อธิบายถึงภาวะครรภ์เสี่ยง  ไว้ว่า   ภาวะครรภ์เสี่ยง หมายถึง การตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงซึ่งส่งผลกระทบต่อแม่และทารกในครรภ์ โดยอาจทำให้เกิดอันตรายหรือเสียชีวิตได้ทั้งในขณะตั้งครรภ์ คลอด หรือหลังคลอด ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ได้แก่  คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น  โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เคยมีประวัติคลอดบุตรยาก ผ่าตัดมดลูก แท้งบุตร รวมถึงตั้งครรภ์ในขณะที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป

เมื่อไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล คุณหมอจะเป็นผู้ทำการวินิจฉัยภาวะครรภ์เสี่ยง โดยทำการซักประวัติเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับวิธีอื่น ๆ เช่น การตรวจปัสสาวะ วัดความดันโลหิต ตรวจดูยอดมดลูกเพื่อประมาณขนาดทารก หากพบว่า  มีภาวะเสี่ยง เช่น เป็นโรคเบาหวาน ไทรอยด์ หรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรรักษาโรคนั้นๆ ให้หายก่อนการตั้งครรภ์

คำถามที่ 8  เนื้องอกระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่

คำตอบ  เนื้องอกในระหว่างตั้งครรภ์  ต้องดูว่าเนื้องอกนั้นอยู่บริเวณใดและต้องขึ้นอยู่กับว่า  เนื้องอกนั้นเป็นเนื้องอกชนิดใด  เนื้อร้ายหรือไม่  ซึ่งคุณหมอจะเป็นผู้วินิจฉัยและทำการรักษาตามวิธีการที่เหมาะสม  ทางที่ดีการเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่จำเป็น เช่น ตรวจหาเนื้องอกและทำการรักษาให้หายก่อนการตั้งครรภ์จะปลอดภัยที่สุด

คำถามที่ 9 หากเป็นริดสีดวงระหว่างตั้งครรภ์จะทำอย่างไร

คำตอบ  ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่มักมีอาการท้องผูกได้ง่าย  เนื่องจากมดลูกขยายไปกดทับลำไส้ใหญ่  ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่าย   นอกจากนี้ผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน  และการไหลเวียนของหลอดเลือดที่มากขึ้น อาจทำให้หลอดเลือดบริเวณรอบทวารหนักเกิดการขยายตัวและโป่งพองได้ วิธีป้องกันริดสีดวง คือ

1. ทำได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ หรือธัญพืช ให้มากขึ้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

2. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น เดิน หรือเดินในน้ำ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้

3. ควรเพิ่มปริมาณการดื่มน้ำสะอาดในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยลดอาการท้องผูกได้ ทั้งนี้คุณแม่ควรขับถ่ายให้ได้ทุก 1 – 2 วัน

คำถามที่ 10  ในช่วงที่ตั้งครรภ์ มักจะมีอาการปวดนิ้วมือ นิ้วเท้า และมีอาการชา เกิดจากอะไร จะเป็นอันตรายหรือไม่

คำตอบ  รศ.ดร.นพ.บุญศรี จันทร์รัชชกูล  ได้อธิบายว่า  ในระหว่างการตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนส่งผลให้เอ็นคลายตัวจึงทำให้ข้อต่อกระดูกมีการหย่อนตัว จึงส่งผลต่อาการปวดบวมและอาการชา ดังนี้

อาการปวดนิ้วมือ นิ้วเท้า

ในช่วงตั้งครรภ์กล้ามเนื้อจะทำงานหนักมากขึ้น  จึงเกิดอาการปวดตามข้อมากขึ้น ดังนั้น  คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การใส่รองเท้าส้นสูง และควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ หากมีอาการปวดหลัง ควรนั่งพัก และอย่าเดินมาก  หากอาการเจ็บปวดส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือสร้างความรำคาญใจ  คุณแม่สามารถใช้ยานวดทาเพื่อบรรเทาอาการได้

อาการชา

อาการชาที่เกิดขึ้น   เนื่องจากอาการบวมของพังผืดบริเวณข้อมืออาจบีบรัดเส้นประสาทบริเวณแขนและข้อมือ  ทำให้เกิดอาการชาบริเวณปลายประสาทได้ อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดหรือชาของคุณแม่ไม่ลดลง หรือมีความเจ็บปวดมากขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอ

เชื่อว่าคงทั้ง 10 คำถาม ที่กล่าวมานั้น คงเป็นคำถามที่อาจจะค้างคาใจคุณแม่อยู่  ได้คลายข้อสงสัยไปบ้างนะคะ สิ่งสำคัญในช่วงตั้งครรภ์หากเกิดความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุด  ไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเองเพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้  ขอให้คุณแม่ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงและคลอดเจ้าตัวน้อยออกมาอย่างปลอดภัย หากยังมีคำถามใด ๆ ที่อยากทราบ  คุณแม่สามารถถามได้นะคะ  จะหาคำตอบมาให้ในโอกาสต่อไป

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.bumrungrad.com

https://baby.kapook.com

https://women.sanook.com

https://www.being-mom.com

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เลี่ยงโรคทางพันธุกรรม

10 สัญญาณการตั้งครรภ์ที่แม่ท้องควรรู้