15 ความเชื่อแบบโบราณสารพัดวิธี หลังคลอดเกี่ยวกับทารกน้อย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เมื่อคลอดลูกน้อยออกมาแล้ว ครอบครัวไหนที่มีคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย มาช่วยเลี้ยงหลาน ก็อาจจะได้ยิน ความเชื่อแบบโบราณสารพัดวิธี หลังคลอดเกี่ยวกับทารกน้อยกันมาบ้าง จนอาจตั้งคำถามว่าความเชื่อต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ วันนี้เราจะพาไปดูความจริงเกี่ยวกับความเชื่อเหล่านี้ พร้อมคำแนะนำดี ๆ ในการเลี้ยงลูกค่ะ มาดูกันว่ามีความเชื่อไหนบ้างที่คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยิน

 

15 ความเชื่อแบบโบราณสารพัดวิธี หลังคลอดเกี่ยวกับทารกน้อย

1. โกนผมไฟผมจะได้ดกดำ

ความจริง : สมัยโบราณนิยมโกนผมไฟให้แก่เด็ก เพราะเชื่อกันว่าผมของเด็กที่ติดมาตั้งอยู่ในท้องแม่นั้นเป็นผมที่ไม่สะอาด และยังบอบบางมากอีกด้วยทำให้หลุดร่วงง่ายจึงต้องโกนทิ้ง ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีแชมพูสำหรับเด็กเช่นสมัยนี้จะใช้น้ำอุ่นสระผมให้เด็ก ดังนั้น การโกนผมไฟจึงมุ่งเน้นไปที่สะดวกในการทำความสะอาดมากกว่าที่จะให้ผมขึ้นมาดกดำ

เพราะความจริงแล้วการโกนผมไม่ได้ทำให้ผมดกดำขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ผมเดิมตอนที่คลอดออกมาจะดูบอบบาง และจะหลุดร่วงไปเองประมาณ 2-3 เดือน ที่คนโบราณมักพูดว่า ช่วงไหนที่ลูกผมร่วงแปลว่าลูกจำหน้าแม่ได้แล้ว ผมจะดกดำหรือไม่นั้นแท้ที่จริงขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ หากคุณพ่อคุณแม่ผมบางลูกก็มักจะผมบาง หากมีผมดกดำลูกก็จะมีแนวโน้มผมดกดำเช่นกัน ดังนั้นโกนหรือไม่โกนก็ไม่มีผลทำให้ดกดำหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์

 

2. ดอกอัญชัน น้ำนมแม่ กานพลู ทำให้ผมและคิ้วดกดำ

ความจริง : จากผลการทดสอบของนักวิจัย พบว่า ดอกอัญชันมีสารกลุ่มแอนโทไซยานินซึ่งหากนำมาหมักผมจะช่วยกระตุ้นหนังศีรษะกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงรากผมทำให้ผมดกดำ ส่วนกานพลู น้ำนมแม่นั้น ยังไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงหากคุณแม่คิดจะใช้อัญชัน หรือกานพลู ต้องดูว่ามีการเกิดอาการผื่นแพ้หรือไม่เพราะผิวทารกบอบบางอาจเกิดการระคายเคืองได้

 

3. ใช้ปัสสาวะทารกกวาดลิ้นป้องกันฝ้าขาว

ความจริง : ปัสสาวะเป็นของเสียที่ร่างกายขับออกมาหากนำไปกวาดลิ้นจะทำให้ทารกได้รับเชื้อโรค  ฝ้าขาวที่ลิ้นนั้นเมื่อทารกดูดนมเข้าไปแน่นอนว่าลิ้นจะต้องเป็นฝ้าขาวแน่นอน  ทางที่ดีควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดลิ้นเบา ๆ จะดีกว่าค่ะ ปลอดภัยกว่าการใช้ปัสสาวะแน่นอน  ไม่ต้องกังวลเรื่องการติดเชื้อในช่องปากอีกด้วย

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

4. บีบจมูกทารกเพื่อดั้งจมูกโด่ง

ความจริง : กระดูกตรงสันจมูกของลูกน้อยจะเป็นกระดูกอ่อน ๆ ทารกที่เกิดมาใหม่แทบจะทุกคนจมูกจะดูแบน ๆ แต่พอโตขึ้นแล้วถึงจะรู้ว่าจมูกโด่งหรือไม่โด่ง  การบีบจมูกลูกน้อยบอกได้เลยค่ะว่าไม่มีผล คุณแม่ไม่จำเป็นต้องบีบ นวด คลึงใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะการที่เด็กมีจมูกโด่งหรือไม่โด่งนั้นขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ การไปบีบจมูกในขณะที่ยังเป็นทารกอยู่นั้นด้วยผิดที่บอบบางอาจทำให้จมูกเกิดการอักเสบได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีทำให้จมูกโด่ง บีบดั้ง ดึงจมูกทารก กระตุ้นให้ดั้งลูกโด่งได้จริงหรือ?

 

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

5. ห้ามตัดเล็บจนกว่าจะ 1 เดือน ความเชื่อผิด ๆ หลังคลอด

ความจริง : การตัดเล็บของทารกที่เกิดใหม่ โบราณท่านว่าห้ามตัดก่อน 1 เดือน เพราะอาจทำให้เด็กทารกไม่สบายได้ ในความเป็นจริงแล้วการตัดเล็บของทารกก่อน 1 เดือนไม่มีผลทำให้ไม่สบายแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าเล็บของทารกจะอ่อนและบางมาก คุณแม่มือใหม่อาจจะเผลอตัดเล็บลูกแล้วเข้าเนื้อต้องเจ็บเนื้อเจ็บตัวกันไป น่าจะเป็นเพียงกุศโลบายเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นมากกว่าค่ะ

คุณแม่ควรดูแลเล็บไม่ให้ข่วนหน้าข่วนตาและมีการเล็มเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อความปลอดภัยดีที่สุด หรือป้องกันด้วยการใส่ถุงมือ แต่อย่างไรก็ตามการใส่ถุงมือไม่ควรใส่เป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้เด็กมีพัฒนาการในการหยิบจับช้าได้นะคะ

 

6. นอนคว่ำหัวจะสวยและนอนได้นาน

ความจริง : ตามหลักวิชาการแล้ว ไม่แนะนำให้ทารกนอนคว่ำเลยค่ะ แม้ว่าอาจจะทำให้หัวสวยก็จริง แต่เป็นอันตรายมาก เพราะมีกรณีที่เด็กทารกนอนคว่ำแล้วหยุดหายใจและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เพราะเด็กไม่สามารถยกศีรษะเพื่อช่วยเหลือตนเองได้หน้าคว่ำอยู่กับที่นอน หมอน ทำให้ขาดอากาศหายใจนั่นเอง อีกอย่างคุณแม่บางคนให้ลูกกินนมอิ่ม ๆ เมื่อลูกหลับ แล้วจับนอนคว่ำเพราะคิดว่าจะได้หลับนาน อาจทำให้ลูกสำลักนมได้ ทางที่ดีให้เด็กนอนตะแคงจะปลอดภัยกว่าค่ะ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

7. ปากและรอยตำหนิ ความเชื่อเรื่อง ลูกมาเกิด

ความจริง : คนโบราณเชื่อกันว่า เด็กทารกที่เกิดมามีปาน ไม่ว่าจะเป็นปานแดงหรือปานดำ นั่นเป็นเพราะเจ้าหนูได้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง แล้วถูกป้ายด้วยของเพื่อทำตำหนิไว้ ของนั้นอาจจะเป็นปูนแดงหรือถ่าน เป็นต้น เพื่อที่ว่าเกิดมาใหม่ญาติพี่น้องจะได้จำได้ อันนี้ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใด ๆ นะคะ

แต่ที่แน่ ๆ ตำหนิ กระ หรือปาน ที่ขึ้นตามที่ต่าง ๆ ในร่างกาย สามารถเกิดขึ้นได้ตามกรรมพันธุ์ เป็นเพราะเซลล์ผิวหนังส่วนนั้นผิดปกติ ซึ่งเป็นเรื่องของผิวหนังเฉพาะบุคคล แต่บางคนเมื่อโตขึ้นมักจะจางลงขึ้นอยู่กับชนิดของปานบางชนิดก็เป็นถาวร แต่หากพบว่ามีความผิดปกติ เช่น เข้มขึ้น หรือโตขึ้นเช่นนี้แล้วควรปรึกษาแพทย์ดีกว่าค่ะ

 

8. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หลัง 6 เดือนไปแล้ว ควรเลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นด้วย

ความจริง : นมแม่เป็นอาหารที่วิเศษที่สุดสำหรับทารกเพราะเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและคุณค่าทางสารอาหาร ทารกที่ดื่มนมแม่มากกว่า 2-3 ครั้ง/วันนั้น ไม่จำเป็นต้องเสริมนมผงหรือนมชนิดอื่นใด แต่อาจจะเสริมเป็นอาหารเสริม แต่ให้นมแม่เป็นอาหารหลัก อย่างไรก็ตามทารกที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนและไม่เคยดื่มนมผสมมาก่อน มักจะไม่ยอมดื่มเพราะไม่คุ้นเคยและไม่อร่อยเหมือนนมแม่ กรณีเช่นนี้เสริมเป็นอาหารเสริมจะดีกว่าค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่แม่ให้นมอยากรู้มากที่สุด แม่ให้นมอยากรู้เรื่องอะไรบ้าง?

 

 

9. น้ำนมแม่รักษาตาแดง

ความจริง : คุณหมอยืนยันว่า น้ำนมไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้หรือจะนำมารักษาโรคตาแดงได้ เพราะน้ำนมแม่มีเชื้อฝ่ายดีที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ คือ ช่วยป้องกันการท้องเสียให้กับทารกน้อย หากนำมาหยอดตาอาจเกิดการอักเสบได้ ดังนั้นเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ค่ะ

 

10. ดัดขาตั้งแต่เล็กขาจะได้ไม่โก่ง

ความจริง : ความเชื่อเรื่องการดัดขาทารกมีมาทุกยุคทุกสมัย เด็กแรกเกิดจะดูขาโก่ง ๆ โค้ง ๆ อยู่แล้วค่ะ แท้ที่จริงแล้ว ขาเด็กจะเริ่มตรงเข้าที่เข้าทางเมื่อมีอายุประมาณ 2 ขวบ แต่ถ้าไปดัดขามาก ๆ เมื่อถึงเวลาที่ควรจะตรงมันก็อาจจะไม่ตรงก็ได้นะคะ แต่ถ้ากรณี 2 ขวบแล้วถึงวัยที่ขาจะตรงแต่ขายังโก่งแบะอยู่อันนี้น่าจะผิดปกติควรปรึกษาคุณหมอดีกว่าเพื่อให้ได้คำแนะนำที่ดีและตรวจแต่เนิ่น ๆ ดังนั้น คุณแม่ไม่ต้องไปดัดขาลูกน้อยแต่เป็นการนวดขาให้ทารกเกิดความสบายเท่านั้นก็เพียงพอแล้วค่ะ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

11. เด็กไม่ยอมพูดต้องเอากบตบปาก

ความจริง : เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่ไม่เท่ากัน สำหรับเด็กที่ไม่ยอมพูด พูดช้า อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเครียด กลัวว่าลูกจะมีพัฒนาการช้า แต่หากใช้วิธีนี้ก็จะทำให้ลูกได้รับเชื้อโรคทางปากและเป็นอันตรายได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใช้วิธีหมั่นสังเกตพัฒนาการของลูก ไม่ควรเอาลูกไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น และควรหมั่นพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ เพราะยิ่งหากลูกมีปฏิสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้เขาเรียนรู้ได้เร็วและเก่งขึ้นได้เอง

 

12. ให้ลูกกินกล้วยตอนอายุ 3 เดือน

ความจริง : เด็กสามารถกินกล้วยได้เมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่ลูกเริ่มกินอาหารแข็ง และเป็นช่วงที่ระบบย่อยอาหารสามารถย่อยอาหารประเภทอื่น ๆ ได้ดี และยังเป็นช่วงที่เด็กเริ่มฝึกเคี้ยวด้วย หากคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกกินกล้วยตั้งแต่อายุ 3 เดือน ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพของลูก เพราะระบบย่อยอาหารของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือนยังไม่แข็งแรง และยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ หากกินกล้วยเข้าไป ก็อาจส่งผลให้ลูกเกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย และเสี่ยงลำไส้อุดตันได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : ป้อนกล้วยเด็กก่อน 6 เดือน อันตราย! ทารกกินกล้วย เสี่ยงตาย พ่อแม่ต้องระวัง

 

 

13. อุ้มลูกบ่อย ๆ ลูกจะติดมือ

ความจริง : เด็กในช่วง 6 เดือนต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ด้วยการร้องไห้ ยิ่งหากได้รับการตอบสนองจากคุณพ่อคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นการอุ้ม การสัมผัส หรือการพูดปลอบ ก็จะทำให้เด็กเกิดความไว้ใจว่าต้องมีคนคอยดูแล ซึ่งจะส่งผลให้ลูกร้องไห้น้อยลง และเมื่อเติบโตขึ้นมาก็จะเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย อารมณ์ดี และไม่เรียกร้องความสนใจมากจนเกินไป ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถอุ้มลูกได้นะคะ

 

14. ใช้ผ้าอ้อมเปื้อนฉี่เช็ดปากลูก

ความจริง : การใช้ผ้าอ้อมเปื้อนฉี่เช็ดปากลูกหรือกวาดลิ้นลูก ไม่ได้ช่วยให้ลิ้นหายจากการเป็นฝ้าขาวแต่อย่างใด แต่เป็นการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของลูก ทำให้ลูกเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาด ชุบน้ำต้มสุกแล้วเอามาเช็ดตามปาก ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้มจะดีกว่า เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากลูกลิ้นเป็นฝ้าขาวจับตัวหนาและกินนมได้น้อยลง อาจเป็นเชื้อราได้ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรักษาจะดีกว่า

 

15. ส่องกระจกแล้วฟันจะไม่ขึ้นหรือขึ้นช้า

ความจริง : ไม่เกี่ยวกันแต่อย่างใด กระจกถือเป็นของเล่นกระตุ้นพัฒนาการอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเด็กในช่วง 6-7 เดือน จะชอบมองกระจกบ่อย ๆ เพราะเป็นของเล่นที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย เมื่อลูกเคลื่อนไหว เงากระจกก็เคลื่อนไปตามด้วยนั่นเอง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเรื่องการมองเห็นได้

นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นพัฒนาการสมองของทารกได้ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเวลาที่เด็กจ้องมองและสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ในกระจก ก็จะทำให้สมองส่งกระแสไปยังเส้นใยของเซลล์ประสาท ช่วยให้เกิดการรับรู้ และการตอบสนองต่อสิ่งที่เห็น

 

จากที่อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อหลังคลอดของทารก แม้ว่าบางสิ่งไม่มีอันตรายแต่ก็ไม่ควรอยู่ในความประมาทนะคะ เพราะผิวหนังของทารกอ่อนโยนและบอบบางมาก หากมีข้อสงสัยควรปรึกษากุมารแพทย์โดยตรงจะดีที่สุดค่ะ จะได้รับคำแนะนำดีและปลอดภัยหายห่วงอีกด้วย

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

7 ความเชื่อผิด ๆ เรื่องการกินของคนท้อง ไม่อยากพลาดต้องอ่าน!

ความเชื่อโบราณ อยากมีลูก ต้องทำอย่างไร แบบไหนทำแล้วได้ลูก

อาการโคลิก Vs ความเชื่อโบราณ อะไรคือความจริง!! สิ่งที่พ่อแม่หลายคนต้องเจอ