พบเด็กไทย 1.5 แสนคนทั่วประเทศเป็น โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว เด็กเกเร โรคที่ต้องได้รับการกล่อมเกลาบำบัด พ่อแม่อย่าเข้าใจผิดว่ากล้าแสดงออก
เด็กไทย 1.5 แสนคนทั่วประเทศ เป็นโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2559 ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ13-17 ปีที่มีประมาณ 4 ล้านกว่าคน พบเป็นโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าวร้อยละ 3.8 คาดว่ามีประมาณ 1. 5 แสนคนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาย
โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว เป็นโรคทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งของเด็ก
สาเหตุของปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว เกเร
โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว (conduct disorder) เป็นโรคทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งของเด็ก พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ที่มีความก้าวร้าว เกเรรุนแรง โดยสาเหตุของปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลัก 3 อย่าง คือ ปัจจัยทางชีวภาพ จิตใจ และสิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางชีวภาพ คือ ระบบโครงสร้างทางสมองและระดับของสารเคมีในสมอง ซึ่งจะมีผลต่ออารมณ์ของเด็กแต่ละคนทำให้เป็นคนใจร้อนหรือใจเย็น ส่วนปัจจัยทางด้านจิตใจ คือ ลักษณะบุคลิกภาพของเด็กที่เกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัว ที่ส่งผลต่อการเกิดความมั่นคงทางด้านอารมณ์ มีความอดทนรอคอยได้มากหรือน้อย โดยพบว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยการตามใจ เอาแต่ใจตัวเองมักมีปัญหาในด้านนี้ ส่วนปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม นั้นได้รับผลมาจาก ตัวอย่างพฤติกรรมก้าวร้าวในครอบครัว หรือตัวอย่างพฤติกรรมก้าวร้าวผ่านทางสื่อ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี เกม หรือภาพยนตร์ โดยนอกจากนี้ยังพบว่า พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กบางรายอาจเกิดจากปัญหาทางด้านจิตใจ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ เช่น เด็กที่มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ก็จะมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าวได้ง่าย เด็กสมาธิสั้นจะมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ ซึ่งส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป
บทความที่น่าสนใจ : ลูก ๆ ติดทีวี แก้ปัญหานี้ยังไงดี มาดูวิธีรับมือก่อนที่จะสายเกินไป
วิธีสังเกตว่า ลูกเสี่ยงเป็นโรคพฤติกรรม เกเร ก้าวร้าว
สาเหตุที่ทำให้เด็กก้าวร้าวมีหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานของเด็กที่เป็น อาทิ
- เด็กเลี้ยงยาก เจ้าอารมณ์ ซึ่งมีประมาณร้อยละ 15
- อาจเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เช่น เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก โรคซึมเศร้า และสมองพิการ
- เกิดจากสภาพสังคมสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่าเด็กที่ดูหนัง เล่นเกมที่มีเนื้อหาต่อสู้รุนแรงบ่อย ๆ จะมีผลให้เด็กมีจิตใจฮึกเหิม อยากเลียนแบบ
- สาเหตุสำคัญที่สุดก็คือครอบครัวและการเลี้ยงดู
ความก้าวร้าวไม่ใช่ความกล้าแสดงออก
เด็กที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ต้องได้รับการกล่อมเกลาบำบัดรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยให้ดีขึ้น ที่ผ่านมา พ่อแม่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าความก้าวร้าวเป็นการพัฒนาความกล้าแสดงออกของเด็กปกติทั่ว ๆ ไป จึงไม่ห้ามปราม แต่โรคนี้หากปล่อยไปเรื่อย ๆ เมื่อเด็กโตขึ้นกว่าร้อยละ 40 อาจทำให้เป็นนักเลงอันธพาลได้ และนำมาสู่ปัญหาอื่น เช่น เกิดความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาการเรียน ปัญหายาเสพติด และพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร
บทความที่น่าสนใจ : ลูกขี้อายแก้ไขได้อย่างไร ทำยังไงให้ลูกเข้าสังคมเก่ง ไม่เขินไม่อายเวลาคนเยอะๆ
เลี้ยงลูกแบบไหนทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว
- เลี้ยงแบบทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ดูแล
- ใช้วิธีลงโทษเด็กรุนแรง
- เลี้ยงแบบตามใจเด็ก เพราะกลัวเด็กไม่รัก
- ครอบครัวมีการทะเลาะวิวาท ด่าทอ ตบตีกันให้เด็กเห็นบ่อย ๆ
- ชอบแหย่เด็กหรือยั่วยุอารมณ์ให้เด็กโมโห
- การเลี้ยงดูเด็กที่ขาดการจัดระเบียบวินัยความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน
- การให้ท้ายเด็กเมื่อทำผิด ทำให้เด็กคิดว่าเรื่องผิดเป็นเรื่องถูกต้อง
วิธีป้องกันปัญหาเด็กก้าวร้าว
- ผู้ใหญ่ควรควบคุมให้เด็กหยุดความก้าวร้าวด้วยความสงบ เช่น ใช้การกอดหรือจับให้เด็กหยุด หลังจากที่เด็กอารมณ์สงบแล้ว ควรพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่พอใจจนแสดงความก้าวร้าว เพื่อให้เด็กได้ระบายออกเป็นคำพูด
- ต้องไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปเสริม การลงโทษอย่างรุนแรงในเด็กที่ก้าวร้าวไม่ช่วยให้ความก้าวร้าวดีขึ้น เด็กอาจหยุดพฤติกรรมชั่วครู่ แต่สุดท้ายก็จะกลับมาแสดงพฤติกรรมนั้นอีก อาจเรื้อรังไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ได้
- ไม่ควรมีข้อต่อรองกันขณะเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว
- ควรเริ่มฝึกฝนเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบให้รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง เช่นฝึกให้แยกตัวเมื่อรู้สึกโกรธ
- ฝึกให้เด็กรู้จักเห็นอกเห็นใจ มีจิตใจโอบอ้อมอารีแก่คน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงการตำหนิว่ากล่าวเปรียบเทียบ เพราะจะทำให้เด็กมีปมด้อย รวมทั้งการข่มขู่หลอกให้กลัว หรือยั่วยุให้เด็กมีอารมณ์โกรธ เนื่องจากเด็กจะซึมซับพฤติกรรมและนำไปใช้กับคนอื่นต่อ
- ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างของความปรองดองเป็นมิตรต่อกัน และมีวินัย
หากพฤติกรรมเด็กยังไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา : thaihealth
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ดื้อต่อต้าน โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน หากลูกเกิน 3 ขวบแล้วยังเป็นอย่างนี้ ใช่เลย!
เทคนิคเลี้ยงลูกให้ฉลาดตั้งแต่แรกเกิด พ่อแม่ต้องสอนลูกด้วยวิธีเหล่านี้
ลูกดื้อ สอนไม่จำ ผิดที่ลูกหรือเป็นเพราะเราเองที่สอนลูกผิดวิธี
เทคนิคเลี้ยงลูกให้ฉลาดตั้งแต่แรกเกิด พ่อแม่ต้องสอนลูกด้วยวิธีเหล่านี้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!