โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคที่เด็ก ๆ ก็เป็นได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างมาก หลายคนจึงสงสัยว่ายาเคลือบกระเพาะ เด็กสามารถกินได้หรือไม่ กินแล้วจะส่งผลเสียหรือไม่ หากเด็กกิน ยาเคลือบกระเพาะ จะเป็นอันตรายหรือเปล่า วันนี้เรามีคำตอบค่ะ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เกิดจากอะไร?
กระเพาะอาหารอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่มีการอักเสบของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นในเด็ก หากสามารถหาสาเหตุได้ อาจเกิดจาก 3 สาเหตุ คือ ยา การติดเชื้อ และโรคและสภาวะต่าง ๆ สาเหตุจากการทานยา ตัวอย่างเช่น ยาแก้ปวดแอสไพริน สาเหตุจากการติดเชื้ออาจเป็นได้ทั้ง เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย เช่น H.pylori ส่วนสาเหตุจากโรค และสภาวะต่าง ๆ เช่น ภาวะช็อกติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะการหายใจล้มเหลว เป็นต้น แต่บางครั้งกระเพาะอาหารอักเสบอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จากการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารที่มากกว่าปกติ มีความต้านทานที่ผิวของเยื่อบุกระเพาะอาหารลดลงในเด็กบางคน และโรคนี้อาจมีความสัมพันธ์กับสภาวะทางจิตใจ ความเครียด หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมก็ได้
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ในเด็กเป็นอย่างไร?
อาการของโรคกระเพาะอาหารในเด็ก มีได้ตั้งแต่ อาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หากรุนแรงอาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ ทานอาหารน้อย ในเด็กเล็กอาจจะพบว่ามีน้ำหนักตัวน้อย และเลี้ยงไม่โตได้ อาการของกระเพาะอาหารอักเสบในเด็กโตหรือวัยรุ่นจะคล้ายกับผู้ใหญ่มาก ก็คือมีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่เรื้อรัง มีอาการมากขึ้นเวลาหิว อาการปวดจะลดลงหลังรับประทานอาหารเข้าไป แต่หากทานอาหารมาก ๆ ก็มีอาการปวดได้ บางครั้งอาการปวดจะเป็นมากตอนกลางคืนแม้จะนอนหลับไปแล้ว หรือหลังตื่นนอนตอนเช้าช่วงที่ท้องว่าง
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคกระเพาะ โรคสุดฮิตที่เราไม่ควรมองข้าม สาเหตุเกิดจากอะไร?
หากสงสัยว่าลูกมีอาการปวดท้องจากกระเพาะอาหารอักเสบควรทำอย่างไร?
หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกมีอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหาร ควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อที่จะได้รับการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอนนะคะ เพราะหากลูกเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจริง ๆ การรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรก จะง่ายกว่าการรักษาเมื่อเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง ช่วงแรกคุณหมอจะให้การรักษาด้วยยาก่อน เช่น ยาเคลือบกระเพาะ ยาลดกรด และนัดมาตรวจติดตามอาการหลังจากได้รับยา ประมาณ 1-3 เดือน เพื่อดูการตอบสนองต่อการรักษา หากไม่ดีขึ้นจึงพิจารณาปรึกษาคุณหมอทางเดินอาหารเด็ก เพื่อพิจารณาส่องกล้องทางเดินอาหาร ตามข้อบ่งชี้ค่ะ
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
วิธีการป้องกันโรคนี้ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลให้ลูกปฏิบัติได้ คือ การหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้ปวดประเภทแอสไพริน หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด การไม่ให้ลูกดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ ให้ลูกทานอาหารให้ตรงเวลาทั้ง 3 มื้อ และการให้ความรัก ความเข้าใจ เพื่อช่วยลดความเครียดของลูกอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารเยอะ ก็ช่วยลดโอกาสเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบลงได้ด้วยค่ะ
เด็กกินยาเคลือบกระเพาะได้ไหม?
อย่างที่รู้กันดีว่าโรคกระเพาะเป็นอีกหนึ่งโรคที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับลูกของเรา แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่รู้ว่าลูกของเราเป็นโรคกระเพาะก็ไม่ต้องตกใจไปเพราะโรคเหล่านี้สามารถรักษาได้ และโดยทั่วไปแล้วการที่เราจะรักษาโรคกระเพาะในเด็ก เราจะต้องดูสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้นมาจากอะไร ซึ่งตอนแรกเราอาจจะรักษาด้วยขั้นตอนเบื้องต้นที่ยังไม่ได้ใช้ยาก่อน แต่ถ้ายังไม่หายเรา อาจจะใช้ยาช่วยรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียหรือลดกรดในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่ยังไม่มั่นใจว่าลูกของเราจะทานได้ไหม ก็อาจจะปรึกษาแพทย์ก่อนให้ลูกรับประทานได้เช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ยารักษาโรคกระเพาะ รักษาอาการปวดท้องเหตุจากโรคกระเพาะอาหาร
ยาเคลือบกระเพาะ ยาเคลือบกระเพาะ คืออะไร?
ยาเคลือบกระเพาะ (Stomach-lining protector) เป็นยาอีกหนึ่งชนิดที่ช่วยทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อทานเข้าไปสิ่งเหล่านี้จะเข้าไปเคลือบกระเพาะและลดอาการอักเสบภายในกระเพาะของเราได้ รวมถึงช่วยบรรเทาอาการเกิดแผลหรือกรดในกระเพาะได้ดีอีกด้วย ซึ่งยาเคลือบกระเพาะสามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด ดังนี้
1. ยาประเภทต้านทานเยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ
- บิสมัธซับซาลิไซเลท (Bismuth Subsalicylate) ยาตัวนี้เมื่อทานเข้าไปแล้วจะช่วยในเรื่องของการเคลือบด้านในกระเพาะได้ดีมากๆ เพราะมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการแผลในกระเพาะ แต่ถ้าทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้อุจจาระกลายเป็นสีดำได้
- ซูคราลเฟท (Sucralfate) ยาตัวนี้จะช่วยในเรื่องของการปกคลุมแผลในกระเพาะอาหารของเรา ซึ่งออกฤทธิ์และทำงานโดยการอาศัยกรดในกระเพาะอาหารของเรา โดยยาตัวนี้ไม่ควรใช้ร่วมกับยาลดกรดเพราะอาจส่งผลอันตรายต่อตัวเราได้
2. ยายับยั้งการหลั่งกรด ยาเคลือบกระเพาะ (Antisecretory Drugs)
- ยากลุ่มยับยั้งโปรตอนปัมพ์ (Proton pump inhibitors) ยากลุ่มนี้จะช่วยในเรื่องของการลดกรดในกระเพาะอาหารได้ดีอีกหนึ่งตัว มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการทำงานของโปรตีนไม่ให้ทำปฏิกิริยาทางเคมีออกมา เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่โปรตีนทำปฏิกิริยาทางเคมีสิ่งนี้ก็จะส่งผลให้เราเกิดกรดในกระเพาะอาหารนั่นเอง ซึ่งยากลุ่มนี้ที่คนเป็นโรคกระเพาะอาหารมักใช้กันเป็นประจำ อาทิเช่น Lanzoprazole, Pantoprazole, Omeprazole, Esomeprazole และ Pantoprazole เป็นต้น
3. ยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะ (Antacids) หรือที่เรียกว่า ยารักษาโรคกระเพาะอักเสบ
- อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide) แล้วก็แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) หรืออาจผสมกับยาตัวอื่นอย่างไซเมทิโคน (Simethicone) โดยยาเหล่านี้จะช่วยในเรื่องของการขับลมในกระเพาะอาหาร ซึ่งการที่เราจะใช้ยาเหล่านี้ได้ก็ต่อเมื่อมีอาการท้องผูก ท้องอืด หรือท้องเดินนั้นเอง และถ้าในกรณีที่เป็นโรคกระเพาะในเด็กยาเหล่านี้อาจจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ หรืออาจจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนให้ลูกรับประทานในทุกครั้ง
- ยากลุ่มยับยั้งตัวรับฮิสทามีนชนิดที่ 2 (H2-receptor antagonist) โดยยาตัวนี้จะช่วยทำให้การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารลดลง เพราะมีฤทธิ์ช่วยจับ (H2 receptor) ของเซลล์ในกระเพาะอาหารได้ดี โดยยากลุ่มนี้ที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นยาฟาโมทิดีน (Famotidine) ไซเมททิดีน (Cimetidine) และรานิทิดีน (Ranitidine) เป็นต้น แต่ยาเหล่านี้ก็ไม่ควรกินในปริมาณที่มากจนเกิน หรือถ้าใช้รักษาโรคกระเพาะในเด็กก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเช่นกัน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลข้างเคียงต่อลูกของเราได้
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ถือเป็นโรคอีกหนึ่งชนิดที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าลูกเราจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถเป็นโรคกระเพาะได้เช่นกัน ส่วนคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่ไม่อยากให้โรคเหล่านี้เกิดขึ้นกับลูกของเรา เราก็ควรต้องใส่ใจและดูแลลูกเป็นอย่างดี รวมถึงเรื่องของอาหารการกินด้วย และถ้าใครที่อยู่ยังเด็ก แล้วเกิดอาการปวดท้องขึ้นมา ก่อนที่จะให้ลูกทานยาเราก็อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง และถ้าอาการเหล่านี้ยังไม่หายดี ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อลูกจะได้ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายนั่นเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกปวดท้อง แบบไหนเป็นสัญญาณของ 4 โรคร้าย ที่พ่อแม่ต้องระวัง
ยารักษาโรคกระเพาะ รักษาอาการปวดท้องเหตุจากโรคกระเพาะอาหาร
ทารกปวดท้อง อาการทารกป่วย เจ็บ ๆ ปวด ๆ ใต้พุง ลูกน้อยเป็นอะไรได้บ้าง
ที่มา : thaichildcare, excessivesweating
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!