การลาออกจากงานเพื่อมา เลี้ยงลูกเอง หรือฝากเลี้ยง มักจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ ครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่เพิ่งจะมีลูกคนแรกด้วยแล้ว ความกังวลต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการ เลี้ยงลูกเอง หรือฝากเลี้ยง ต่างก็มีข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ของแต่ละครอบครัวเป็นหลัก
การจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น อันดับแรกต้องถามตัวคุณแม่เองก่อนว่า ตนเองกังวลกับเรื่องใดเป็นหลัก เช่น คุณแม่กังวลเรื่องรายได้หรือไม่ หากต้องฝากเลี้ยงแล้ว รายได้ที่หามาจะเหลือใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ ถ้าหากจะลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูกเอง คุณสามีจะช่วย Support ค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้หรือไม่ ซึ่งต้องรวมถึงค่าใช้จ่ายของตัวคุณแม่ และลูกน้อยด้วยเช่นกัน หรือถ้าจะฝากเลี้ยงตามศูนย์ต่าง ๆ จะดีกับตัวคุณพ่อ – คุณแม่ หรือแม้กระทั่งตัวลูกน้อยเอง มากแค่ไหน
การฝากเลี้ยง
การฝากเลี้ยงที่ศูนย์เลี้ยงเด็ก หรือเนอสเซอรี่ มีให้เลือกมากมาย แต่หากจะเลือกที่ถูกใจคุณพ่อคุณแม่ คงจะต้องคัดสรรกันซักนิด ลองเลือกดูสถานที่รับฝากใกล้บ้าน หรือที่ทำงาน หรืออยู่ระหว่างทางไป – กลับ ซึ่งเรทค่าใช้จ่ายในการรับฝากนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราฝากแบบไหน เต็มวัน ครึ่งวัน หรือฝากเป็นรายวัน รายเดือน
เด็กที่พ่อแม่ฝากเลี้ยงที่ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก หรือ เนอสเซอรี่ โดยมากมักจะมีพัฒนาการที่ไวกว่าการเลี้ยงดูเอง เนื่องจาก สถานที่รับฝากเลี้ยงต่าง ๆ จะมีขั้นมีตอนในการเลี้ยงดู และฝึกทักษะให้เด็กอย่างมีหลักการ ตามหลักสูตร หรือนโยบายที่ทางศูนย์ได้จัดตั้งไว้ โดยเฉพาะการมีเด็กคนอื่นอยู่ด้วย จะเห็นถึงข้อเปรียบเทียบ หรือตัวอย่างการพัฒนา ทำให้เด็กมีการเลียนแบบ และทำตาม
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคืออัตราส่วนของเด็กต่อพี่เลี้ยงว่ามีมากน้อยแค่ไหน สมดุลกัน หรือไม่ อาหารที่ให้เด็กทานเป็นแบบไหน มีกิจกรรมอะไรบ้าง และที่สำคัญ ก่อนที่จะตัดสินใจฝากลูกน้อยของเรานั้น คุณพ่อ – คุณแม่ ควรจะไปสำรวจที่ศูนย์เลี้ยงเด็ก หรือเนอสเซอรี่ โดยละเอียด ก่อนจะตัดสินใจ การสอบถามข้อมูลจากคนรู้จัก หรือคุณพ่อ – คุณแม่ ที่ฝากลูก ๆ ในเนอสเซอรี่นั้น ๆ มาก่อนแล้ว ก็จะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจได้มากพอสมควร
ถ้าสงสัยว่าสถานที่รับเลี้ยงเด็กที่พบถูกกฎหมายหรือไม่ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ ดูว่าได้รับใบอนุญาตจัดตั้ง ติดให้เห็นชัดเจนหรือไม่ กรณีไม่ได้ขออนุญาตยังไม่มีตัวเลขชัดเจน คาดว่ามีหลายแห่ง บางคนรับจ้างเลี้ยงเด็กเริ่มจาก 1 – 2 คน ต่อมากลายเพิ่มไปถึง 6 คนขึ้นไป ตรงนี้เข้าข่ายเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กแต่ก็ไม่ได้เข้าระบบ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ สถานรับเลี้ยงเด็กที่จดทะเบียนถูกต้อง มีระยะเวลาดำเนินงาน 1 ปีต้องต่ออายุใบอนุญาตทุกปี ล่วงหน้า 30 วันก่อนครบกำหนด
ข้อควรระวังในการฝากเลี้ยง
- เจ็บป่วยบ่อย เป็นความเสี่ยงที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องรับให้ได้ หากเราจะเลือกที่จะนำลูกไปฝากในที่ ๆ มีคนหลากหลาย มาจากหลายครอบครัว หลายสถานที่ การติดเชื้อไข้หวัด หรือโรคติดต่อในเด็ก ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นตามลำดับ
- ความปลอดภัย การดูแลที่ไม่ทั่วถึงของพี่เลี้ยง หรือพี่เลี้ยงไม่ได้รับการอบรมที่ถูกต้อง ทำให้ดูแลลูกของเราได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้ ตัวคุณพ่อ – คุณแม่เอง จะต้องใส่ใจและลงรายละเอียดเรื่องนี้ ตั้งแต่ตอนที่เข้าไปสำรวจสถานที่รับฝากเลี้ยง และพิจารณาว่าดีพอหรือไม่
การจ้างพี่เลี้ยง
เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คุณแม่หลาย ๆ คนคิดว่าเป็นการตอบโจทย์ในแง่ของการที่เราจะมีเวลาในการทำมาหากิน สร้างรายได้ และยังมีคนมาช่วยแบ่งเบาภาระทำให้เราเหนื่อยน้อยลง แถมลูกยังได้อยู่ในบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ปลอดภัย ไม่ต้องกังวลเรื่องอาการป่วยของลูกที่จะติดมาจากคนอื่น เมื่อเทียบกับการฝากเลี้ยงในเนอสเซอรี่ หรือ สถานรับเลี้ยงเด็ก
แต่การจ้างพี่เลี้ยงเด็กนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่น ทั้งการหาคนที่เราจะสามารถไว้ใจ ให้เค้ามาอยู่ในบ้านเรา ดูแลลูกเรา เสมือนรับคนอื่นเข้ามาเพิ่มในครอบครัวเราอีกคนหนึ่งเลยทีเดียว ถ้าหากเจอคนที่ดีไว้ใจได้ ก็เหมือนถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 กันเลยทีเดียว แต่เราอาจจะไม่สามารถคาดหวังในเรื่อง คุณภาพในการเลี้ยงดู
ข้อควรระวังในการจ้างพี่เลี้ยงเด็ก
- ควรตรวจสอบประวัติบุคคล เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีเคยมีคดีติดตัวมาก่อน ซึ่งสามารถขอใช้บริการ การตรวจสอบประวัติได้ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 2 สัปดาห์
- หากจ้างพี่เลี้ยงจากศูนย์ ควรจะตรวจสอบศูนย์จัดหาพี่เลี้ยงเด็กด้วยว่า มีใบอนุญาตถูกต้องและได้มาตรฐานจริงหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบกับ กระทรวงศึกษาธิการ โทร. 1579
- หากจัดหาพี่เลี้ยงเด็กมาเอง ควรพาตัวพี่เลี้ยงไปตรวจโรคเบื้องต้นก่อน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่เด็กเล็ก
เลี้ยงลูกเอง
ถ้าคุณแม่ เลือกที่จะออกมาเลี้ยงลูกเองนั้น ก็จะสามารถลดเรื่องค่าใช้จ่ายในการจ้างเลี้ยง หรือฝากเลี้ยง และแน่นอน รายได้ที่คุณแม่เคยทำได้ ก็จะหายไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อมาเลี้ยงลูกเองนั้น ควรที่จะพูดคุยกับสามีให้เรียบร้อย คิดให้ละเอียดว่า รายได้ของสามีหลังหักค่าใช้จ่ายหลักแล้ว ยังมีเงินหมุนเวียนให้ใช้จ่ายได้อีกเท่าไหร่ สามารถให้เงินคุณแม่ได้เหมือนเดิม หรือเพียงพอกับการใช้จ่ายได้ หรือไม่
ความเสี่ยงกับการออกมาเลี้ยงลูกเองนั้น คือ ถ้าสามีเป็นผู้หารายได้เพียงคนเดียว ดังนั้น หากเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้สามีไม่สามารถทำงานต่อไปได้ นั่นหมายถึง รายได้ทั้งหมดของครอบครัวก็จะหายไปด้วย ดังนั้น จึงต้องเตรียมแผนบริหารความเสี่ยงในจุดนี้ด้วย
แต่การเลี้ยงลูกเองจะทำให้เราสามารถใส่ใจ ดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่ เราจะสามารถเห็นพัฒนาการของลูกน้อยอย่างต่อเนื่อง และ
หากคุณแม่ลาออกจากงานที่ทำอยู่ นั่นหมายถึงสวัสดิการต่าง ๆ ที่เคยได้รับจากบริษัทก็จะหมดลงไปด้วย จริงอยู่ว่าการทิ้งหน้าที่การงานที่ดีของตัวเองไป เหมือนการทิ้งเงินเป็นหมื่น เป็นแสน จากทำงานไม่เคยมีวันหยุด แถมยังต้องทำโอทีเกือบทุกวัน แม้การเลี้ยงลูกเองจะต้องเสียสละ ต้องแลกมาจะเยอะมากแค่ไหน แต่คุณแม่เต็มเวลาที่เลือกเส้นทางนี้มาก่อน คงตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า แม้มูลค่าที่ได้กลับมา จะไม่ได้มาเป็นในรูปเงินสด แต่ความน่ารักสดใส ความฉลาดทางอารมณ์ และสติปัญญาของเด็กน้อย ๆ คนหนึ่ง แม้มีเงินมากแค่ไหน ก็ไม่อาจที่จะหาซื้อมาได้เช่นกัน
ข้อควรรระวังจากการเลี้ยงลูกเอง
- อาการซึมเศร้า การเลี้ยงลูกในช่วงแรก ๆ อาจทำให้คุณแม่บางคนรู้สึกหดหู่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้า แต่จะเป็นเพียงไม่กี่สัปดาห์ในช่วงแรก แต่หากยาวนาน คุณแม่ควรจะไปปรึกษาแพทย์ มิเช่นนั้น การเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง จะทำให้อาการซึมเศร้าของแม่แย่ลง คุณแม่ควรออกไปหาเพื่อนคุย หรือมีกลุ่มสมาคมคุณแม่ที่เลี้ยงลูกที่มีลูกอายุไล่เลี่ยกัน เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เจอ จะทำให้คุณแม่รู้สึกถึงการมีสังคม และผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น
- ไม่ควรฟังคนรอบข้างเยอะ ร้อยคนร้อยความคิด ทั้งการดูแลแบบคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ บ้างก็เลี้ยงตามความเชื่อที่ได้ยินต่อ ๆ กันมา แต่ละครอบครัวต่างก็มีวิธีเลี้ยงดูลูกที่แตกต่างกัน ดังนั้นคุณแม่เพียงแค่ฟังไว้ก็พอค่ะ ส่วนจะทำตามหรือไม่นั้น ให้ใช้หลักการเบื้องต้นอ้างอิง หรือถ้าหากสงสัย ก็สามารถพูดคุย และปรึกษากับแพทย์ได้โดยตรง
- ไม่มีใครที่สมบูรณ์พร้อม ดังนั้นหากคุณแม่ทำอะไรที่ผิดพลาด เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่ควรคิดมากค่ะ ตั้งสติใหม่ แล้วเลี้ยงดูลูกให้ดี และระมัดระวังยิ่งขึ้น
การวางแผนที่ดี
หลังจากที่ทั้งคู่ได้เลือกแล้ว ขั้นต่อไปคือการวางแผนที่ดี เพื่อป้องกันหากเกิดกรณีที่ฉุกเฉินด้วยเช่นกัน
- สามีสำรองเงินฉุกเฉินให้มากขึ้น กรณีตกงาน หรือขาดรายได้
- หาข้อมูลเกี่ยวกับการประกันสุขภาพของสามี ภรรยา และของลูกน้อย
- คำนวณค่าใช้จ่ายครอบครัว และมูลค่าหนี้สินคงค้างที่เหลืออยู่
- คำนวณค่าใช้จ่ายการศึกษาบุตร (รวมถึงการออม / การลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้)
- พิจารณาสินทรัพย์ที่มี VS เป้าหมายการเงิน เพื่อดูว่าจำเป็นต้องมีทุนประกันเพิ่มหรือไม่
ที่มา : financeformom , พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เคล็ดลับเพิ่มความสะดวก ในการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วน สำหรับคุณแม่ทำงาน
เลี้ยงลูกแบบธรรมชาติ เคล็ดไม่ลับ ฝึกลูกให้มีความพยายาม พร้อมประสบความสำเร็จในอนาคต
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!