คุณยังจำความรู้สึกตอนอุ้มลูกในช่วงขวบปีแรกได้อยู่หรือเปล่า ตอนนั้น คุณเป็นที่พึ่งพิงสำคัญของลูก ขณะเดียวกัน ลูกเองก็เป็นแก้วตาดวงใจที่คุณรักมากและอยากทะนุถนอมให้ดีที่สุดเช่นกัน
สัมผัสและการอุ้มนี้มีความหมายสำคัญมากกว่าที่หลายคนคิด อ้อมกอดของพ่อแม่เป็นสัญญาณให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่กำลังปกป้องเค้าอยู่ จะไม่มีใครมาทำอันตรายเค้าได้ เด็กที่พ่อแม่อุ้มบ่อย ๆ จึงรู้สึกปลอดภัย อุ่นใจ และไว้ใจให้คนอื่นดูแล ยิ่งอุ้มบ่อย เด็กจะยิ่งรู้สึกว่าได้รับความรักและความอบอุ่นเปี่ยมล้น จนเกิดความรู้สึกดีกับตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นอีก
หลาย ๆ คนมักบอกว่าเด็กที่เดินได้ไม่จำเป็นต้องให้อุ้มแล้ว แต่คุณแม่ลูกสี่ เบกกี แมนส์ฟิลด์ ไม่เห็นด้วยค่ะ เธออุ้มลูกชายวัย 7 ขวบโดยไม่สนใจว่าใครจะมองอย่างไร
ตอนลูกชายคนรองวัย 7 ขวบของเบกกีได้รับบาดเจ็บในสนามฟุตบอล เธอรีบเข้าไปอุ้มลูกออกมานอกสนามทันที สามีเธอถามว่า “จะอุ้มทำไม ลูกยังเดินได้อยู่”
เบกกีตอบกลับว่า “คุณรู้ไหมว่ามีคนกี่คนที่แคร์ว่าฉันจะอุ้มลูก คนเดียว! ใช่.. คนเดียวเท่านั้น คือ ‘ลูกของเรา’ ยังไงล่ะ”
เธอรู้ดีว่าลูกเป็นคนเดียวที่แคร์ เพราะเค้าจะรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และรู้ว่าแม่ห่วงใยเมื่อแม่เข้ามากอดเค้า
ส่วนชาวบ้านจะคิดอย่างไรก็ช่างปะไร นั่นไม่ใช่ลูกเธอ
ที่สำคัญที่สุด เบกกีตระหนักดีว่าเธอเหลือช่วงเวลาอุ้มลูกอีกไม่นาน ปีที่แล้วเธอเพิ่งรู้สึกตัวว่าลูกชายคนโตตัวโตขึ้นและหนักขึ้นมากจนเธออุ้มไม่ไหวแล้ว ต่อให้อยากอุ้มแค่ไหนก็ทำไม่ได้อีกต่อไป
เบกกี แมนส์ฟิลด์ กับสามีและลูก ๆ ทั้ง 4 คน
เบกกีย้ำเตือนว่าทุกอย่างมีเวลาจำกัดของมัน เมื่อลูกโตขึ้น พ่อแม่ก็ไม่ต้องคอยห่มผ้าห่ม อ่านนิทานให้ฟัง หรือสอนลูกทำการบ้านอีกต่อไป
จะไม่มีอีกแล้ว โมเมนต์ที่ลูกวิ่งกางแขนโผเข้ามาอ้อนให้แม่อุ้ม
ยิ่งคิดได้ว่าเวลามีจำกัด เบกกียิ่งรู้สึกสุขใจที่ได้ใกล้ชิดกับลูก และอยากอุ้มลูกให้นานที่สุดตราบเท่าที่ตัวเธอจะอุ้มไหวและลูกยังยอมให้อุ้ม
ลูกชายวัย 5 ขวบของเบกกีเริ่มปฏิเสธไม่ให้แม่อุ้มแล้ว แต่เหตุผลที่ลูกบอกว่า ‘โตแล้ว’ ฟังไม่ขึ้นหรอก ก็ใช่.. ลูกตัวโตขึ้น แต่ลูกไม่เคยโตเกินไปในความรู้สึกของแม่
อาทิตย์หน้าอาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอจะได้อุ้มลูกชายขึ้นบันได หรืออุ้มลูกสาวตัวน้อยไปซื้อของด้วย
ในเมื่อวันนี้ยังไม่ใช่วันนั้น เธอจึงอุ้มลูกต่อไป โดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะมองยังไง
ถ้ามัวแต่กลัวว่าอุ้มลูกบ่อย ๆ แล้วลูกจะติดมือ ต่อไปอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า คุณอาจนึกเสียใจว่าทำไมไม่อุ้มลูกให้มากกว่านี้…
ที่มา : yourmodernfamily.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
4 เคล็ดลับการเลี้ยงลูกที่จะทำให้ลูกรู้สึกดีและมีความสุข
9 วิธีสร้างความประทับใจให้ลูกจำไปจนโต
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!