ลูกเป็นหัด เป็นอีสุกอีใส หายเร็วขึ้นด้วย ยาเขียว
ลูกเป็นหัด เป็นอีสุกอีใส หายเร็วขึ้นด้วย ยาเขียว คนสมัยก่อนไม่มีใครไม่รู้จักยาเขียวนะคะ แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่เจนวายสมัยนี้ คงยากที่จะรู้จักกันแล้วใช่ไหมละคะ แต่ถ้ายังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะใช้ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนทุกครั้งนะคะ
ยาเขียวเป็นตำรับยาไทย ตามองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้าน ที่มีการใช้กันมานานหลายทศวรรษ และเป็นตำรับที่ยังมีการผลิตขายทั่วไปตราบจนปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปในสมัยก่อนจะรู้จักวิธีการใช้ยาเขียวเป็นอย่างดี กล่าวคือ มักใช้ยาเขียวในเด็กที่เป็นไข้ออกผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส เพื่อกระทุ้งให้พิษไข้ออกมา เป็นผื่นเพิ่มขึ้น และหายได้เร็ว
เป็นหัด เป็นอีสุกอีใส ยาเขียวช่วยได้ยังไง
เพราะยาเขียวมีสรรพคุณ ดับความร้อนของเลือดที่เป็นพิษ1 (พิษในที่นี้ มีความหมายแตกต่างจากความเข้าใจในปัจจุบัน คือ ไม่ใช่สารพิษ แต่น่าจะหมายถึง ของเสียที่เกิดขึ้นในเลือดมากกว่าปกติ และร่างกายกำจัดออกไม่หมด อาจจะตรงกับ toxin หรือ oxidative stress ที่เกิดขึ้นในภาวะโรค หรือจากการติดเชื้อบางชนิด) ซึ่งตามความหมายของการแพทย์แผนไทยนั้น หมายถึงการที่เลือดมีพิษและความร้อนสูงมากจนต้องระบายทางผิวหนัง เป็นผลให้ผิวหนังเป็นผื่น หรือ ตุ่ม เช่นที่พบในไข้ออกผื่น หัด อีสุกอีใส เป็นต้น
ส่วนประกอบของยาเขียว
ตำรับยาเขียวที่พบในคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์มีบันทึกไว้ 3 ตำรับ ได้แก่ ยาเขียวมหาพรหม ยาเขียวน้อย ยาเขียวประทานพิษ และ ตำรับยาเขียวหอม ที่ได้รับการบรรจุในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556
ยาเขียวหอม ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ. 2556 ประกอบด้วย ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้ ใบหมากเมีย ซึ่งมีรสเย็น แก้ไข้ ตัวยาเย็นอื่นๆที่มิใช่ส่วนของใบ ได้แก่ รากแฝกหอม มหาสดำ ดอกพิกุล สารภี เกสรบัวหลวง ว่านกีบแรด เนระพูสี ตัวยาแก้ไข้ที่มีรสขม ได้แก่ จันทน์แดง พิษนาศน์
เนื่องจากยาไทยเป็นยารักษาโดยองค์รวม ดังนั้นจึงพบตัวยาสรรพคุณอื่นๆได้แก่ ตัวยารสสุขุม เพื่อควบคุมร่างกายมิให้เย็นจนเกินไป ได้แก่ ใบสันพร้าหอม บุนนาค พร้อมกับตัวยาช่วยปรับการทำงานของธาตุลมได้แก่ จันทน์เทศ เปราะหอม ว่านร่อนทอง อย่างไรก็ดี ในสูตรตำรับยาเขียวหอมที่บรรจุในประกาศบัญชียาสามัญประจำบ้านฉบับล่าสุด ได้ตัดไคร้เครือออกจากตำรับ เนื่องจากมีข้อมูลงานวิจัยบ่งชี้ว่าไคร้เครือที่ใช้ และจำหน่ายในท้องตลาด เป็นพืชในสกุล Aristolochia ซึ่งพืชในสกุลนี้มีรายงานพบสาร aristolochic acid ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อไต (nephrotoxicity) และ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้พืชสกุล Aristolochia เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002
ใช้ยาเขียวยังไง
การใช้ยาเขียวหอม บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ ควรใช้น้ำกระสายยา เพื่อช่วยละลายตัวยา ทำให้ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้น เช่น น้ำสุกหรือน้ำดอกมะลิเป็นน้ำกระสาย เพื่อให้ยาออกฤทธิ์แรงขึ้น ด้วยเหตุว่าน้ำดอกมะลิ มีรสหอมเย็น ช่วยเสริมฤทธิ์ของยาตำรับ
ยาเขียวยังใช้เป็นยาแก้ไข้ออกผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ทั้งวิธีกินและทา โดยละลายยา ด้วยน้ำรากผักชีต้ม การใช้ยาเขียวในโรคไข้ออกผื่นในแผนไทย ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการยับยั้งเชื้อไวรัส แต่ต้องการกระทุ้งพิษที่เกิดขึ้นให้ออกมามากที่สุด ผู้ป่วยจะหายได้เร็วขึ้น ผื่นไม่หลบใน หมายถึงไม่เกิดผื่นภายใน ดังนั้นจึงมีหลายคนที่กินยาเขียวแล้วจะรู้สึกว่ามีผื่นขึ้นมากขึ้นจากเดิม
แพทย์แผนไทยจึงแนะนำให้ใช้ทั้งวิธีกินและชโลม โดยการกินจะช่วยกระทุ้งพิษภายในให้ออกมาที่ผิวหนัง และการชโลมจะช่วยลดความร้อนที่ผิวหนัง ถ้าจะเปรียบเทียบกับหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน น่าจะเป็นไปได้ที่ยาเขียวอาจออกฤทธิ์โดยลดการอักเสบ หรือ เพิ่มภูมิคุ้มกัน หรือต้านออกซิเดชัน แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุน อีกทั้งยังไม่มีการเก็บข้อมูลการใช้ยาเขียวในผู้ป่วยไข้ออกผื่น หรืออาการไข้ธรรมดา
ยาเขียวหอม หนึ่งในบัญชียาสามัญประจำบ้าน
การที่มีการใช้ตั้งแต่โบราณ น่าจะเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่งว่า การใช้ยาเขียวน่าจะบรรเทาอาการไข้ออกผื่นได้ไม่มากก็น้อย แม้จะมีความรู้ที่ว่าไข้ออกผื่นที่เกิดจากไวรัสสามารถหายได้เอง ความทรมาณที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่เป็นซึ่งอาจบรรเทาได้ด้วยยาเขียวก็เป็นที่น่าสนใจศึกษาพิสูจน์ฤทธิ์ต่อไป
ยาเขียวหอมเป็นตำรับที่บรรจุอยู่ในบัญชียาสามัญประจำบ้าน และบัญชียาสมุนไพรที่เป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ น่าจะเป็นคำตอบได้ว่า ยาเขียวเป็นยาที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน เป็นที่ยอมรับ แม้ยังมีการวิจัยไม่มาก การใช้สืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษของเรา ซึ่งอาจจะยาวนานกว่าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็น่าจะไว้วางใจในความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง และหากเรานำมาใช้อย่างผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันโดยพิจารณาจากคนไข้ จะทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ มากกว่าการหวังพึ่งการแพทย์เพียงแผนใดแผนหนึ่งเพียงอย่างเดียว
ข้อควรระวังในการใช้ยาเขียว
เนื่องจากตำรับมีองค์ประกอบเป็นดอกไม้ 4 ชนิด ได้แก่ พิกุล บุนนาค สารภี เกสรบัวหลวง ซึ่งมีละอองเรณูผสมอยู่ ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีประวัติการแพ้ละอองเกสรดอกไม้
นอกจากนี้ยังไม่เคยมีรายงานความปลอดภัยในกลุ่มคนไข้เลือดออก อีกทั้งสมุนไพรส่วนหนึ่งมักมีรายงานการยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด หรือละลายลิ่มเลือด เช่น พรมมิ2 เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการ
ถ้ากินเพียงแค่ซองสองซองแล้วเด็กไม่ดีขึ้น ก็ควรพาไปให้หมอตรวจ ไม่ใช่กินยาเขียวต่อไปเรื่อยๆ เพราะเด็กอาจเป็นโรคอื่น ๆ ไม่ใช่ดื้อยาเขียว พอผื่นขึ้น อาการไข้ของเด็กจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่เด็กบางคนไข้ไม่ยอมลด ทั้งนี้เป็นเพราะโรคแทรกซ้อน
ระหว่างที่เด็กออกหัด ภูมิต้านทานของเด็กจะลดต่ำลงมาก ทั้งนี้เป็นผลจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของหัด ดังนั้นเด็กจึงมีโรคแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น เป็นปอดบวมแทรกเข้ามา หรือเป็นโรคตาแดงตาแฉะ โรคหูน้ำหนวก โรคหลอดลมอักเสบ เป็นต้น หัดนั้นเป็นครั้งเดียว เด็กคนไหนออกหัดแล้วจะไม่เป็นหัดอีกตลอดชีวิต
แต่บางครั้งเด็กๆ อาจดูเหมือนออกหัดเป็นครั้งที่สองได้ แต่นั่นเป็นเพราะเชื้อไวรัสที่ทำให้เด็กมีอาการไข้และออกผื่นนั้น มีอยู่หลายชนิดและทำให้เกิดโรคต่างชนิดกัน แต่อาการมี่ส่วนคล้ายคลึงกัน คล้าย ๆ หัด
ยกตัวอย่างเช่น หัดเยอรมัน (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เหือด”) ก็ทำให้มีไข้แล้วขึ้นผื่นได้เช่นเดียวกับหัด แต่อาการจะน้อยกว่าหัด ผื่นก็น้อยกว่า และอาการไม่เหมือนกัน
หรืออย่างโรค “ส่าไข้” หรือฝรั่งเรียกว่า Exanthemsubitum ก็ทำให้มีผื่นขึ้นอีกนั้นแหละ และแถมทำให้เด็กชักขณะมีไข้สูงได้บ่อย ๆ เสียด้วย ต่างจากหัดที่โรคส่าไข้ จะมีผื่นขึ้นเมื่อตัวหายร้อนแล้ว เด็กคนไหนออกหัดไปเรียบร้อยแล้ว เด็กคนนั้นจะมีภูมิต้านทานต่อโรคหัดไปชั่วชีวิต รับรองไม่ออกหัดอีก แต่ไม่รับรองว่าจะไม่เป็นหัดเยอรมัน หรือส่าไข้อีก
ที่มา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ หาหมอ หมอชาวบ้าน และ โรงพยาบาลราชวิถี
บทความที่น่าสนใจ
โรคหัด โรคไข้ออกผื่น โรคร้ายมาพร้อมฤดูหนาว
เมื่อลูกเป็นโรคอีสุกอีใส
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!