คุณแม่ที่ใกล้คลอดหรือคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกและกำลังจะพาทารกแรกเกิดของเรากลับบ้านทุกคนคะ ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่า พร้อมแล้วหรือยังคะ กับชีวิตจริงของการสวมบทบาทเป็นคุณแม่เต็มร้อยที่ต้องดูแลลูกตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ถ้าหากยังละก็ วันนี้เรามีคู่มือง่าย ๆ สำหรับคุณแม่กับการพาทารกแรกเกิดกลับบ้านมาฝากกันค่ะ
1. วางแผนทุกอย่างล่วงหน้า คุณแม่ควรคุยกับคุณพ่อหรือคนที่จะมาช่วยดูแลน้องเลยนะคะว่า ใครจะทำหน้าที่อะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หน้าที่ให้นมลูกคือหน้าที่ของคุณแม่ ดังนั้น หน้าที่ในการเปลี่ยนผ้าอ้อม หน้าที่ในการทำให้ลูกเรอ อาจจะเป็นหน้าที่ของคุณพ่อเป็นต้น
2. เรียนรู้ตารางเวลาของลูก ปกติแล้วเด็กแรกเกิดไปจนถึงสามเดือนนั้น จะตื่นและหิวนมบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ทานนมแม่ด้วยแล้ว ด้วยนมแม่นั้นย่อยง่ายจึงทำให้กระเพาะอาหารของทารกนั้นทำงานได้ด้วยดี ลองสังเกตดูนะคะว่า ลูกของเรานอนในแต่ละครั้งกี่ชั่วโมง เพราะเด็กแรกเกิดไปจนถึงสองเดือน ต้องการพักผ่อนวันละ 11-18 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเด็กทารกวัยสองเดือนไปจนถึงสิบสองเดือน ต้องการพักผ่อนวันละ 11-15 ชั่วโมงต่อวัน
3. หมั่นนับผ้าอ้อม การนับผ้าอ้อมจะช่วยให้คุณแม่สามารถเช็คได้ว่าในแต่ละวันนั้น ลูกได้รับนมแม่มากเพียงพอกับร่างกายหรือไม่ ซึ่งทารกที่ได้รับนมแม่เพียงพอต่อวัน จะปัสสาวะให้ผ้าอ้อมเปียกชุ่มตกวันละ 6-8 ผืน หรือต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปประมาณ 4-6 ชิ้นในหนื่งวัน และสีของปัสสาวะนั้น จะต้องเป็นสีเหลืองจาง ๆ ไม่ใช่สีเหลืองเข้ม
4. ทำความรู้จักกับอุจจาระลูกเสีย อย่าไปกลัวอุจจาระของลูกเลยค่ะ เพราะคุณแม่จะต้องเจออะไรอีกเยอะกว่าลูกจะโต ซึ่งก่อนอื่นนั้น มาทำความรู้จักกับ “ขี้เทา” ของทารกแรกเกิดกันก่อน ทารกแรกเกิดจะถ่ายขี้เทาหลังคลอดภายใน 2-3 วันแรก โดยสีที่ออกมานั้นจะมีสีเขียวเข้มคล้ำ ๆ และเหนียว ถือได้ว่าเป็นอุจจาระชุดแรกของลูกที่ช่วยในเรื่องของการจับสารเหลือง ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ทารกตัวเหลือง และหลังจากนั้น สีของอุจจาระก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเอง ไม่ต้องกังวลนะคะ
5. การทำให้ลูกเรอหลังทานนมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการเรอจะช่วยทำให้ระบบย่อยในท้องของลูกทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากขณะที่ลูกดูดนม ลูกจะกลืนลมเข้าไปและจะรู้สึกอิ่มอึดอัด ดังนั้นการกำจัดลมในท้องจะช่วยบรรเทาอาการแน่นท้องได้
6. รับมือกับอาการโคลิกของลูก เด็กแรกเกิดไปจนถึงสามเดือนมักจะมีอาการโคลิกขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืน ซึ่งอาการดังกล่าว คุณแม่สามารถสังเกตได้จากการที่ลูกร้องไห้จนงอตัว งอขา และกำมือแน่นนะคะ วิธีการที่จะช่วยให้เกิดอาการดังกล่าวน้อยลงก็คือ คุณแม่ควรระมัดระวังในเรื่องของการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคุณแม่ที่ให้นมลูก พยายามหลีกเลี่ยงกลุ่มอาหารเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ในเด็ก เช่น นมวัว เป็นต้น
7. ให้รางวัลกับตัวเองบ้าง หลังที่เหนื่อยมาทั้งวันแล้ว คุณแม่ต้องหาเวลาให้กับตัวเองได้พักผ่อนบ้างนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งดูรายการโปรด การพูดคุยกับสามีหรือเพื่อนฝูง และที่สำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยคือ ให้ร่างกายของคุณแม่ได้พักผ่อน หาเวลางีบระหว่างวันสัก 10-15 นาทีบ้างเถอะค่ะ เพราะค่ำคืนนี้ยังอีกยาวไกล จริงไหมคะ
ดังนั้น ทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ทุกคน ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่มือใหม่ทุกคนนะคะ ถึงแม้ว่าเราจะเหนื่อยขนาดไหน แต่ความสุขก็มีมากกว่า…จริงไหมคะ
ที่มา: Totallythebomb
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ไขข้อข้องใจ “ไขทารกแรกเกิด”มีดีหรือไม่
พัฒนาการทารกแรกเกิดถึง 1 ปีที่น่าจับตา
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!