วิธีป้องกันคลอดก่อนกำหนด
วิธีป้องกันคลอดก่อนกำหนด คลอดก่อนกําหนด อาการอย่างไร การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยถึงการคลอดก่อนกําหนด ว่า จากการศึกษาข้อมูลพื้นฐานจากมารดาที่คลอดบุตรก่อนกำหนด พบว่า ประมาณร้อยละ 60 – 70 ของหญิงอายุในช่วง 20 – 34 ปี ยังไม่มีความรู้เรื่องการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เป็นเหตุให้เข้ามารับการรักษาล่าช้า แพทย์จึงไม่สามารถยับยั้งภาวะเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดได้สำเร็จ โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้ทำงานในสถานประกอบการ ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้พนักงานขาดการเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ และเกิดภาวะแทรกซ้อน
ด้านศ.คลินิก นพ.ธราธิป โคละทัต ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาสถานประกอบการต้นแบบฯ กล่าวว่า จากผลการศึกษาปัญหาภาวะคลอดก่อนกำหนดทั่วประเทศ พบว่า มารดาคลอดบุตรมักมีข้อจำกัดด้านองค์ความรู้ เศรษฐานะ และระยะเวลาการลาคลอด เป็นเหตุให้พนักงานส่วนหนึ่งขาดการเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ การดูแลตนเองและทารกในครรภ์อาจไม่เหมาะสม บางรายจึงเกิดภาวะแทรกซ้อนกับตนเองและทารกในครรภ์ การสร้างเสริมสุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงาน เพื่อให้มีภาวะสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ระหว่างการตั้งครรภ์ จึงเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยป้องกัน หรือ ลดความรุนแรงจากภาวะคลอดก่อนกำหนด รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
วิธีการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
สำหรับข้อปฏิบัติพื้นฐานเพื่อป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด คือ
- ฝากครรภ์ครั้งแรกก่อน 12 สัปดาห์
- ยืนยันอายุครรภ์ถูกต้องก่อน 20 สัปดาห์
- มีความรู้ป้องกันคลอดก่อนกำหนด
- มาตรวจครรภ์ให้ครบตามนัดหมาย
- เลี้ยงทารกในครรภ์ให้เติบใหญ่
- กินยาตามแพทย์สั่งมิให้ขาด
- ทำความสะอาดทุกส่วนให้สะอาด
- ไม่ก้าวพลาด เดินอย่างระมัดระวัง
- หาเวลาพักผ่อนและนอนหลับ
- ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หากสงสัย
- สามี เพื่อน เจ้านาย โปรดเข้าใจ
- ต้องมั่นใจ ดูแลได้ ปลอดภัย
วิธีป้องกันคลอดก่อนกำหนดทำอย่างไร
5 สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด
นอกจากวิธีป้องกันคลอดก่อนกำหนดแล้ว แม่ท้องต้องสังเกตสัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนดด้วยนะ
1.อาการบวมและความดันโลหิตสูง
อาการนี้มีโอกาสเกิดเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ท้องที่มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ คุณแม่ที่มีประวัติเป็นโรคดังกล่าวขณะตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
2.มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
มูกเลือดหรือมีสีน้ำตาลปนเลือด หรือมีมูกข้นเป็นก้อนหลุดออกมาทางช่องคลอด ไม่ว่าปริมาณมากหรือน้อย อาจเกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ช่องคลอดอักเสบ ปากมดลูกอับเสบ หรือสาเหตุที่รุนแรงมากขึ้น เช่น รกเกาะต่ำ หรือรกลอกก่อนกำหนด แสดงอาการเปิดของมดลูก อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือทารกในครรภ์มีโอกาสเสียชีวิตได้
3.มีอาการน้ำเดิน
น้ำเดิน คือ ภาวะที่เกิดจากแตกหรือรั่วของถุงน้ำคร่ำ ทำให้มีน้ำคร่ำไหลออกมา มักเกิดเมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะใกล้คลอด แต่บางกรณีก็อาจเกิดขึ้นนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้ เนื่องจากการบีบตัวของมดลูกอย่างรุนแรง หรือเกิดการกระแทกจากอุบัติเหตุ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อทารก เพราะเมื่อถุงน้ำคร่ำรั่ว มีน้ำเดินออกมา เชื้อโรคก็สามารถจะเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ ก่อให้เกิดการติดเชื้อในทารกและเป็นอันตรายถึงชีวิต
4.รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยกว่าปกติ
ลูกในท้องจะเริ่มดิ้นในสัปดาห์ที่ 17 แต่ในท้องแรกคุณแม่อาจจะยังไม่เจอลูกดิ้นจนกระทั่งเลยสัปดาห์ที่ 20 ความรู้สึกว่าลูกดิ้นจึงเป็นเครื่องช่วยประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ได้ คุณแม่ควรสังเกตและนับลูกดิ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 28 จนถึงกำหนดคลอด วิธีการนับลูกดิ้นควรเริ่มนับตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น อย่างน้อย 12 ชั่วโมง หากลูกดิ้นครบ 10 ครั้งใน 4 ชั่วโมง ก็ไม่จำเป็นต้องนับต่อ แต่หากลูกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้งใน 2 ชั่วโมง ให้ลองพัก 1 ชั่วโมง แล้วสังเกตดูอีกหนึ่งครั้ง ถ้าลูกยังไม่ดิ้นตามที่ควรจะเป็นหรือลูกดิ้นน้อยลงมาก ควรปรึกษาคุณหมอ
5.อาการท้องแข็งบ่อย
อาการท้องแข็ง คือ การปวดบริเวณท้องน้อย มดลูก หรือหัวหน่าว ส่วนท้องแข็งตึงนั้น เป็นภาวะที่มดลูกบีบรัดตัวแข็งเป็นก้อนกลม เมื่อคุณแม่เอามือวางบริเวณหน้าท้อง จะสัมผัสและรู้สึกได้ว่าเป็นก้อน ๆ ขึ้นมา หรือรู้สึกตึงมากที่หน้าท้องเป็นครั้งคราวในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นวินาที และมีช่วงพักเป็นนาทีเมื่อมดลูกคลายตัว บางรายอาจจะมีอาการท้องแข็งอยู่ประมาณทุก 10 นาที/ครั้ง และเป็นสม่ำเสมออยู่ 4-5 ครั้งได้ ซึ่งหากทิ้งไว้นานจะทำให้ปากมดลูกเปิด เกิดการคลอดก่อนกำหนด
วิธีป้องกันคลอดก่อนกำหนดควรเริ่มตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ แม่ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ลดละเลิกสิ่งที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และหมั่นไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด อย่าลืมว่าป้องกันไว้ก่อนดีกว่าค่ะ
ที่มา : https://mgronline.com/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เย็บปากมดลูก ป้องกันคลอดก่อนกำหนด ทำไมต้องเย็บปากมดลูก คนท้องต้องเย็บปากมดลูกทุกคนหรือไม่
ธาลัสซีเมีย พ่อแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย ผลกระทบของธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์เสี่ยงแค่ไหน
คนท้องทำงานเยอะ นอนดึก ทำงานตอนกลางคืน ลูกในท้องจะเป็นอะไรไหม
ทารกคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก ต้องป้องกันตอนตั้งครรภ์ ก่อนลูกเข้าตู้อบ!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!