พ่อแชร์ประสบการณ์ วิธีปฐมพยาบาลสําลักอาหาร เด็กเล็ก ถ้าไม่เคยศึกษาคงจะสายเกินไป อย่าลืมว่า คนแรกที่จะช่วยชีวิตลูกได้คือ พ่อแม่
คุณพ่อคนนี้ โพสต์เล่าเรื่องราวว่า เรื่องพื้นฐานที่พ่อแม่ทุกคนควรรู้คือ การปฐมพยาบาลลูกในกรณีฉุกเฉินเช่น การ CPR เด็กจมน้ำต้องทำยังไงบ้าง อาหารติดคอต้องแก้ไขอย่างไร
ผมก็เคยนั่งดูคลิปการปฐมพยาบาลรูปแบบต่างๆ เผื่อเอาไว้ ไม่คิดว่าจะได้ใช้จริง
เมื่ออาทิตย์ก่อน ผม แม่ และลูกชาย (อายุ 3 ขวบ 4 เดือน) ไปเดินเล่น ก็ซื้อไอศครีมโอริโอ้ปั่นให้กิน
ขณะขับรถกลับบ้าน แม่ผมก็ให้ลูกชายกินไอศครีมตามปกติ แต่ !!! ครั้งนี้เค้าสำลัก โอริโอ้ติดคอ อาการที่ดูผิดปกติกว่าทุกครั้งที่สำลัก คือ ตาเหลือก พยายามไอแต่ไม่มีเสียง น้ำลายไหลยืด และเอามือตะกายจมูกและปากเหมือนจะพยายามเอาสิ่งที่ติดคอออก
ผมตกใจมากรีบจอดรถข้างทาง ลงมาจับลูกคว่ำลง เอาหัวลูกโน้มลงต่ำและเอาสันมือ กระแทกแรงๆ ตรงระหว่างกระดูกสะบักหลัง 3-4 ที เศษโอริโอ้ก็กระเด็นออกมา อาการลูกชายดูดีขึ้นกลับมามีเสียงเหมือนเดิมเหลือแค่อาการไอตามปกติ ผมนั่งใจหายอยู่อีกพักนึงถึงขับรถกลับบ้าน
ถ้าผมไม่เคยดูคลิปการปฐมพยาบาลมาก่อนทุกอย่างคงจะสายเกินไป เพราะกว่าจะขับรถไปถึงร้านหมอได้ ยังไงก็ 10 นาทีขึ้นไปแน่นอน คนแรกที่สุดที่จะช่วยชีวิตลูกคุณได้ก็คือตัวคุณและคนรอบข้างที่เลี้ยงลูกคุณนั่นแหละที่ต้องเรียนรู้สิ่งพวกนี้ คุณไม่รู้หรอกว่าวันไหนคุณจะได้ใช้มัน แต่ถ้าถึงเวลาต้องใช้ แม้เพียงครั้งเดียวในชีวิต มันก็คุ้มค่ากับที่คุณนั่งศึกษาแน่นอนครับ
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อเด็กสำลักอาหารฉบับการ์ตูน เข้าใจง่าย!
ชมคลิปสาธิต วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อเด็กสำลักอาหารแบบฉบับการ์ตูน ที่จะทำให้คุณเข้าใจง่ายขึ้น
ทันทีที่เซนต์จอห์น หน่วยงานการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นของประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่คลิปสาธิต วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อเด็กสำลักอาหารแบบฉบับการ์ตูน ทำให้มีผู้คนเข้าชมคลิปดังกล่าวมากถึงแปดล้านคน และคลิปนี้นี่เองที่สามารถช่วยชีวิตเด็กให้ปลอดภัยได้มากกว่าสี่สิบคน
เมื่อเหล่าตัวการ์ตูนทั้งห้าพากันมาช่วยสาธิตวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยมีการ์ตูนตัวหนึ่งรับบทบาทเป็นเด็กซึ่งมีบางสิ่งบางอย่างติดอยู่ที่คอ ทำให้เจ้าหญิงคนสวยต้องทำหน้าที่ในการปฐมพยาบาล ซึ่งมีวิธีการดังนี้ค่ะ
1. หากพบว่าเด็กกำลังมีอาการสำลักอาหาร ให้รีบนำเด็กนอนคว่ำที่ตัก โดยให้ศรีษะต่ำลง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เศษอาหารนั้นย้อนกลับลงปอด
2. หลังจากนั้นก็ตบไปที่กลางหลังของเด็ก จำนวนห้าครั้ง และสังเกตสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในปากของเด็ก ถ้าเห็นก็ให้เอาสิ่งของนั้นออกโดยทันที แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ทำวิธีการต่อไปค่ะ
3. จับเด็กนอนหงายบนตัก และใช้สองนิ้วมือกดลงบนกระดูกเหนือหน้าอก บริเวณลิ้นปี จำนวน 5 ครั้ง เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมนั้นหลุดออกมา แต่ถ้าหากวิธีการนี้ก็ยังไม่ได้ผล แนะนำว่าให้เรียกรถพยาบาลโดยทันที
ชมคลิปสาธิตที่เหล่าตัวการ์ตูนจะทำให้เราเข้าใจง่ายขึ้นในวิธีการช่วยปฐมพยาบาล หากเกิดกรณีเด็กสำลักอาหาร
ที่มา: Netmums
นอกจากวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากลูกสำลักอาหารแล้ว เรายังมีอีก 10 วิธีปฐมพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินกับเด็กๆ มาให้อ่านด้วยค่ะ
เด็กในวัย 3-5 ขวบ ยังอยู่ในช่วงพัฒนาการของกล้ามเนื้อยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ทำให้การเล่น การวิ่ง การกระโดด และความซุกซนตามวัยก่อให้เกิดอันตรายง่าย บ้านไหนที่มีเด็กผู้ชายความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าเด็กผู้หญิงเป็นทวีคูณ เพราะเด็กผู้ชายมักชอบปีนป่าย ซุกซนมากกว่าเด็กผู้หญิงนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามเมื่ออุบัติเหตุนั้น ๆ เกิดขึ้นแล้วคุณแม่ควรเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลลูกน้อยเพื่อลดความเจ็บปวดลง
ปกติแล้วแทบจะทุกบ้านจะมีตู้ยาประจำบ้านหรืออาจจะเป็นกล่องใส่ยาหรืออุปกรณ์ปฐมพยาบาลต่าง ๆ เมื่อเวลาที่เด็กประสบอุบัติเหตุจะได้นำมาใช้อย่างทันท่วงที ก่อนอื่นมาดูกันว่าตู้ยาหรือจะเป็นกล่องยานั้น ควรจะมีสิ่งใดบ้างติดบ้านไว้เป็นประจำ
1.ผ้ากอซหรือสำลีที่ฆ่าเชื้อโรคแล้ว พร้อมทั้งพลาสเตอร์ และผ้าพันแผล
2.เข็มกลัดซ่อนปลาย
3.ยาฆ่าเชื้อ ยาใส่แผลสด (ควรให้เภสัชกรแนะนำยาชนิดที่เหมาะสมกับเด็ก)
4.กรรไกรขนาดเล็ก
5.ยาแก้ปวด ลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ยาสำหรับเด็ก (ควรให้เภสัชกรแนะนำยาชนิดที่เหมาะสมกับเด็ก)
6.ครีมสำหรับทาแมลงสัตว์กัดต่อย
หลังจากจัดตู้ยาแล้ว มาดูว่าวิธีปฐมพยาบาลในกรณีที่เด็กมักจะได้รับอันตรายกันค่ะ
10 วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้เด็กรอดพ้นอันตราย
1.แผลถลอก
วิธีการ คือ กรณีที่มีเศษหินติดอยู่ให้ชะล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง ทายารักษาแผลสด เช่น โพวิดีน (Povidine) หรือยาแดง แล้วปิดแผลด้วยผ้ากอซหรือผ้าสะอาด ถ้าบาดแผลมีลักษณะตื้น และมีเลือดไหลซิบ ๆ เท่านั้น ให้ทายาโดยไม่ต้องใช้ผ้าปิดบาดแผลก็ได้
2.แผลถูกของมีคมบาด
วิธีการ คือ หากถูกมีดบาด ของเล่นบาด โดยมากจะมีเลือดไหล ต้องห้ามเลือดก่อน หากเป็นแผลเล็ก ๆ และของที่บาดนั้นไม่สกปรก เพียงแต่ทำความสะอาดแผล และใส่ยาเหมือนแผลถลอก ถ้าหากเป็นแผลใหญ่เมื่อห้ามเลือดแล้วควรรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล เพราะอาจต้องเย็บแผล สำหรับแผลที่สกปรกมาก หรือสิ่งที่บาดนั้นมีสนิมต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
สำหรับแผลใหญ่ เลือดออกมากให้ใช้วิธีกดห้ามเลือดไม่ได้ผล ให้ใช้วิธีรัดส่วนเหนือของแผลด้วยผ้าแล้วใช้ไม้สอดเข้าไปในผ้านั้น พร้อมหมุนไม้ไปทางเดียวกันขันจนแน่น การห้ามเลือดวิธีนี้จะปิดกั้นไม่ให้เลือดไหลผ่านบริเวณที่มีบาดแผลทำให้เลือดหยุดไหลแต่ต้องคลายผ้าเป็นระยะเพื่อป้องกันเนื้อเยื่อตาย เช่น รัดนาน 5 นาที คลายออก 1 นาทีและรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
3.หัวโน ห้อเลือด ฟกช้ำ
วิธีการ คือ ในระยะแรกภายใน 24 ชั่วโมง ให้ประคบด้วยความเย็น โดยใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำแข็งหรือใช้ cold – hot pack เป็นถุงที่ใช้ได้ทั้งร้อนและเย็น เพื่อประคบเส้นเลือดให้หดตัวทำให้เลือดหยุดไหล ห้ามนวดคลึงเพราะจะทำให้เลือดที่ออกใต้ผิวหนังยิ่งออกมากขึ้น ไม่ควรใช้ยาหม่อง หรือของร้อนอื่น ๆ ทาบริเวณที่โน เพราะยาหม่องจะทำให้ปวดแสบปวดร้อนและเลือดมาครั่งอยู่บริเวณแผลมากขึ้น หลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว จึงเริ่มประคบร้อนเพื่อให้เลือดที่ออกถูกดูดซึมกลับเข้าไปในเส้นเลือดเร็วขึ้น
4.สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก
วิธีการ คือ บอกให้เด็กอ้าปากหายใจทางปากแทน หยอดน้ำมันพืชเข้าไปทางจมูกที่มีสิ่งแปลกปลอม ถ้าเป็นเมล็ดพืชจะช่วยไม่ให้เมล็ดพืชนั้นบวมปิดรูจมูกแน่นขึ้น ถ้าเป็นแมลงเข้าจมูกจะช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนในรูจมูกและทำให้แมลงหยุดเคลื่อนไหว หลังจากนั้นให้เด็กสั่งน้ำมูกให้สั่งเบา ๆ วิธีนี้จะทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา หากเป็นพวกเศษผ้าหรือเศษกระดาษ ให้ใช้คีมปลายมนค่อย ๆ คีบออกมา
5.แมลงเข้าหู
วิธีการ คือ ต้องทำให้แมลงตายโดยใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันพืชที่ใช้ทำอาหาร หยอดเข้าไปในหู ทิ้งไว้สักครู่แมลงจะตายและลอยขึ้นมาให้ตะแคงหูเพื่อให้แมลงและน้ำมันไหลออกมาให้หมด แล้วใช้สำลีเช็ดทำความสะอาดอีกครั้ง
สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ กับ 10 วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้เด็กรอดพ้นอันตราย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
วิธีช่วยคนสําลักอาหาร ทารกสำลักอาหาร ปฐมพยาบาลอย่างไร วิธีการปฏิบัติเมื่อสำลักอาหาร
5 วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อลูกได้รับบาดเจ็บ
เลือดกําเดาไหล ทําไงให้หาย วิธีปฐมพยาบาลเลือดกําเดาไหล หยุดเลือดกำเดาไหล ให้เลือดหยุดไหลได้เร็ว
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!