การบีบเต้า (Breast Compression) เป็นการเลียนแบบกลไกการหลั่งน้ำนม (letdown reflect) และช่วยกระตุ้นให้เกิดกลไกการหลั่งน้ำนมตามธรรมชาติ เพื่อให้น้ำนมยังคงไหลต่อไปเมื่อทารกหยุดดูดนมด้วยตัวเอง หรือเมื่อทารกทำท่าดูดแต่ไม่ได้กินนม และช่วยให้ทารกยังสามารถกินนมต่อไปได้ วิธีบีบเต้า ช่วยลูกดูดนม จะให้ผลค่อนข้างดีในช่วงวันแรก ๆ ช่วยทำให้ทารกได้รับน้ำนมเหลือง (colostrum) มากขึ้น นอกจากนั้นแล้วการบีบเต้าจะมีประโยชน์ในกรณีดังต่อไปนี้
- ทารกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อย
- ต้องให้นมถี่ ๆ หรือให้นมนาน ๆ
- ทารกมีอาการโคลิค
- คุณแม่มีอาการเจ็บหัวนม
- ท่อน้ำนมอุดตัน
- กระตุ้นให้ทารกที่ชอบหลับคาอกในขณะที่ดูดนม ได้กินนมอย่างต่อเนื่อง
วิธีบีบเต้า ช่วยลูกดูดนม ทำอย่างไร?
- อุ้มทารกด้วยแขนข้างหนึ่ง
- จับเต้านมด้วยมืออีกข้าง โดยนิ้วมืออยู่ค่อนข้างห่างจากหัวนม ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านหนึ่งของเต้านม และ นิ้วอื่น ๆ อยู่ด้านตรงข้าม (หากนิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ด้านบนของเต้านมจะง่ายที่สุด)
- สังเกตการกินนมของทารก โดยทารกจะกินนมได้เยอะเมื่อเค้ากินนมด้วยการดูดแบบ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก”
- เมื่อทารกเริ่มอมหัวนม และ ไม่ได้กินนมด้วยการดูดแบบ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก” ให้เริ่มบีบเต้านม แต่อย่าบีบแรงมาก พยายามอย่าบีบจนลานนมเปลี่ยนรูปร่าง และ อย่าคลึงนิ้วตามเต้านมไปหาทารก
- ค่อย ๆ บีบเต้านมไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งลูกหยุดกินนม จากนั้นจึงคลายแรงบีบ โดยเหตุผลที่ต้องคลายแรงบีบก็เพื่อให้คุณแม่ได้พักมือ และได้ปล่อยให้น้ำนมเริ่มไหลให้ลูกอีกครั้ง หากลูกหยุดดูดนมตอนที่คุณแม่คลายแรงบีบ เขาจะเริ่มดูดอีกครั้งเมื่อน้ำนมเริ่มไหล
- ทำต่อเนื่องที่เต้านมข้างแรกต่อไป จนกระทั่งทารกไม่กินนมอีกแล้วแม้จะบีบหน้าอกช่วย คุณแม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ที่เต้าข้างนั้นต่อไปอีกสักครู่หนึ่ง เพราะบางทีน้ำนมของคุณแม่อาจจะยังคงมีกลไกการหลั่งค้างอยู่ และ ทารกก็อาจจะกินนมต่อได้
- ถ้าทารกยังต้องการกินนมต่อ สลับให้เขากินนมจากเต้านมอีกข้าง และ ทำซ้ำตามขั้นตอนข้างบน โดยหากคุณแม่ไม่มีอาการเจ็บหัวนม คุณแม่ก็อาจจะให้ทารกกินนมสลับกันไปมาในลักษณะนี้ได้หลายครั้ง
- อย่าลืมว่า ให้ใช้การบีบเต้าช่วย เฉพาะเมื่อทารกทำท่าดูดแต่ไม่ได้กินนม
การบีบเต้าเพื่อไม่ให้นมเกลี้ยงเต้าและ ช่วยลูกดูดนม นั้นเป็นวิธีที่ใช้ได้ดี แต่หากว่าการให้นมเป็นไปด้วยดีอยู่แล้ว คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้การบีบเต้าเช่นนี้เสมอหรือตลอดไป และ สามารถปล่อยไปตามธรรมชาติได้ โดยคุณแม่ควรจะให้ลูกกินนมจากเต้านมข้างแรกจนเกลี้ยงเต้าก่อน และจึงให้เขากินนมจากเต้านมอีกข้างหนึ่ง
Colostrum (น้ำนมเหลือง) คืออะไร?
ความฝันของคุณแม่ทุกคนก็คือการให้ลูกน้อยของเราได้เติบโตอย่างแข็งแรง สุขภาพดี และมีความสุขใช่มั้ยล่ะ? ซึ่งประสบการณ์แรกที่สำคัญที่สุดของเจ้าตัวเล็กในโลกใบใหญ่กลมโตนี้ ก็คือสัมผัสจากแม่ และ น้ำนมแม่ที่จะช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตของสมาชิกใหม่ ให้เติบโตได้อย่างแข็งแรง และมั่นคง น้ำนมหยดแรกที่ลูกน้อยจะได้รับนั้น เราเรียกกันว่า Colostrum หรือ น้ำนมเหลือง เรียกได้อีกชื่อว่า หัวน้ำนม เจ้าน้ำนมเหลืองนี้คืออะไร มีประโยชน์กับทารกอย่างไรบ้าง น้ำนมยังมีสีอื่นอีกหรือไม่ แล้วมีข้อควรระวังอะไรที่คุณแม่ควรรู้ไว้ วันนี้เรารวบรวมข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับน้ำนมแม่เวอร์ชันอัปเดตล่าสุด เพื่อให้คุณแม่ทุกคนสามารถให้นมลูกได้อย่างสบายใจไร้กังวลไปด้วยกัน
น้ำนมเหลือง (Colostrum) คือ น้ำนมที่ร่างกายผลิตออกมาในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังคลอด หรือบางครั้งร่างกายของคุณแม่ก็อาจจะมีการเริ่มผลิตน้ำนมเหลืองตั้งแต่ช่วงท้ายของการตั้งครรภ์เลย ระหว่างนี้ถ้าลองเค้นดูเราอาจจะเห็นน้ำสีเหลืองใสออกมาจากเต้านมตั้งแต่ก่อนคลอด โดยน้ำนมของคุณแม่ จะอยู่ในระยะน้ำนมเหลืองนี้ประมาณ 4 – 7 วันหลังคลอดเท่านั้น สำหรับคุณแม่มือใหม่ ถ้าเห็นว่าน้ำนมของเราไม่ขาวใสเหมือนนมวัว ก็ไม่ต้องตกใจไป การที่น้ำนมมีสีเหลืองนั้น ก็เพราะว่ามีเบต้าแคโรทีนอยู่ ซึ่งคือสารตัวเดียวกับที่อยู่ในผักผลไม้สีเหลืองส้ม เช่น แครอท หรือฟักทอง แต่น้ำนมเหลืองที่เราเรียกกัน อาจจะไม่ได้มีสีเหลืองเสมอไป ที่จริงอาจจะเป็นน้ำใส ๆ หรือว่าออกสีส้มก็ได้
น้ำนมแม่ ในแต่ละระยะที่แตกต่างกัน
น้ำนมของคุณแม่แบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง และ จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ หลังจากคลอดลูก จนหมดระยะให้นม โดยแต่ละช่วงคือ
ระยะที่ 1: น้ำนมเหลือง (Colostrum)
น้ำนมเหลืองหรือหัวน้ำนม จะถูกผลิตออกมาในระยะแรกสุด บางครั้งอาจจะเริ่มผลิตออกมาตั้งแต่ระหว่างคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ในระยะสุดท้ายเลย โดยน้ำนมเหลืองจะมีสารอาหารที่จำเป็นต่าง ๆ อยู่มาก มีความข้นกว่าน้ำนมในระยะถัด ๆ ไป และ ที่จริงแล้วน้ำนมเหลืองจะมีส่วนคล้ายกับเลือด มากกว่าน้ำนมแม่ในระยะอื่นด้วยซ้ำ เนื่องจากน้ำนมเหลืองมีเม็ดเลือดขาวเป็นส่วนประกอบ ที่ช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารก น้ำนมในช่วงนี้จะออกมาค่อนข้างน้อย แค่ประมาณวันละ 2 – 4 ช้อนชาเท่านั้น
ระยะที่ 2: น้ำนมช่วงปรับเปลี่ยน (Transitional Milk)
น้ำนมในช่วงนี้เป็นช่วงที่ร่างกายของคุณแม่กำลังจะปรับจากหัวน้ำนมเป็นน้ำนมแม่ปกติ ลักษณะและสารอาหารในน้ำนมจะมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยสัดส่วนโปรตีนจะลดลง รวมไปถึงเอนไซม์และสารประกอบที่ช่วยด้านภูมิคุ้มกันต่าง ๆ จะลดลง เพราะว่าช่วงนี้ทารกจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันได้เองบ้างแล้ว ส่วนประกอบของน้ำนมจะเน้นไปที่สารอาหารมากขึ้น และน้ำนมก็จะมีปริมาณมากขึ้นให้เหมาะสมกับเด็กที่เริ่มดื่มนมได้เยอะขึ้นอีกด้วย โดยช่วงปรับเปลี่ยนนี้จะเกิดขึ้นหลังระยะน้ำนมเหลือง และอยู่ไปจนถึงประมาณสองอาทิตย์หลังคลอด และเนื่องจากมีการผลิตน้ำนมมากขึ้น ช่วงนี้คุณแม่อาจจะรู้สึกว่าเต้านมมีขนาดใหญ่และตึงมากขึ้นอีกด้วย
ระยะที่ 3: น้ำนมปกติ (Mature Milk)
น้ำนมในระยะนี้เป็นช่วงที่ร่างกายของคุณแม่ปรับตัวเรียบร้อยแล้ว น้ำนมจะใสมากขึ้น โดยเราเรียกกันว่าน้ำนมส่วนหน้า หรือ Foremilk หลายคนบอกว่าลักษณะจะเหมือนนมวัวไขมันต่ำ น้ำนมอาจจะมีสีเหลืองเล็กน้อย หรือกระทั่งมีสีฟ้าเหลือบได้ แต่หลังจากให้นมไปสักพัก น้ำนมก็จะเข้มข้นมากขึ้น เรียกว่าน้ำนมส่วนหลังหรือ hindmilk น้ำนมในช่วงนี้จะเน้นไปที่สารอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตกว่า 200 ชนิด ทั้งโปรตีน ไขมัน คาโบไฮเดรต วิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเติบโตของลูก หลังจากนี้เด็กจะดื่มนมแม่ในระยะนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ จนมีอายุ 1 – 2 ปีตามคำแนะนำ ในช่วงนี้หน้าอกของคุณแม่จะมีขนาดเล็กลงและตึงน้อยลงกว่าช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ก็จะยังใหญ่กว่าปกติเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่จะมีน้อง
สารอาหารในน้ำนมเหลืองของคุณแม่
เจ้าหัวน้ำนมนี้ อุดมไปด้วยสารอาหารที่เปรียบได้เหมือนวัคซีนแรกของเจ้าตัวน้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนที่มีประโยชน์อย่าง secretory immunoglobulin A (SIgA) ที่ช่วยกำจัดไวรัสและแบคทีเรีย lactoferrin leukocytes แม็กนีเซียม และสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต ในขณะเดียวกันก็มีน้ำตาลแลคโตสต่ำ เรียกได้ว่านี่คือหยดน้ำนมมหัศจรรย์ที่จะช่วยให้ลูกน้อยของเรามีพื้นฐานร่างกายที่แข็งแรงพร้อมจะเติบโตอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต
ประโยชน์ของน้ำนมเหลือง
น้ำนมเหลืองมีประโยชน์เฉพาะตัว ที่แตกต่างจากน้ำนมในระยะอื่น ๆ เนื่องจากเป็นน้ำนมที่ทารกจะได้ทานเป็นครั้งแรกหลังจากที่เจ้าหัวใจดวงน้อยเริ่มเต้นตึงตัง โดยประโยชน์ของน้ำนมเหลืองมีมากมายดังนี้
สร้างภูมิคุ้มกัน
2 ใน 3 ของเซลล์ที่อยู่ในน้ำนมเหลือง คือเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งช่วยสร้าง Anitobodies มาต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย และ ไวรัส โดยเน้นไปที่การป้องกันการปวดท้อง และท้องเสียของทารก และ ยังมี immunoglobulin A (sIgA) ที่ช่วยเน้นไปที่การป้องกันการติดเชื้อในลำคอ ปอด และ ลำไส้ จะเห็นได้ว่า หัวน้ำนม Colostrum จะเน้นไปที่การช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกแข็งแรง เติบโตเผชิญโลกได้ต่อไป
ปิดลำไส้ สร้างกำแพงป้องกันโรค
ทารกเกิดใหม่จะมีลำไส้ที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย น้ำนมเหลืองของแม่จะเข้าสู่เลือดของลูกเพื่อไปปิดรูรั่วในลำไส้ สร้างกำแพงป้องกันโรค ช่วยลดอาการแพ้อาหาร ปัญหาลำไส้ และโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ต่าง ๆ เมื่อเด็กโตขึ้น
ช่วยระบบขับถ่าย
เด็กแรกเกิดนั้นจะถ่ายสิ่งที่ได้ทานเข้าไปในระหว่างอยู่ในท้องออกมา เราเรียกสิ่งนี้ว่า Meconium หรือ ขี้เทา นั่นเอง โดยขี้เทาจะมีลักษณะเหนียว ๆ เป็นสีเขียวหรือสีเทา น้ำนมเหลืองจะช่วยขับขี้เทาออกมา และ หลังจากนั้นก็จะช่วยให้ทารกขับถ่ายเป็นปกติ ลดอาการท้องผูกที่มักจะเกิดขึ้นหากทารกดื่มนมผงแทนนมแม่
ที่มา: breastfeedingthai, Breastfeeding Information for Parents
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
แผ่นป้องกันหัวนม คืออะไร ควรใช้หรือไม่ระหว่างให้นมลูก?
กลไกการดูดนมของลูก ที่จะทำให้คุณเข้าใจ ว่าทำไมลูกต้องดูดถึงลานนม
100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 12 น้ำนมไม่ไหล ทำอย่างไร
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!