สิ่งที่คุณแม่มือใหม่อาจยังไม่รู้ ว่าหลังให้นมลูกเสร็จแล้วควรทำให้เจ้าตัวน้อยได้เรอ แต่ถ้า ลูกไม่เรออันตรายไหม คุณแม่ไม่ได้จับให้ลูกน้อยเรอหลังกินนมอาจส่งผลเสียอะไรบ้าง ทำไมถึงต้องทำให้ลูกเรอหรือแหวะนมออกมา
ลูกไม่เรออันตรายไหม ?
ในขณะที่ทารกดูดนมนั้นจะมีการดูดอากาศเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูดนมจากเต้าหรือจากขวดที่อากาศสามารถเล็ดลอดเข้าไปในปากเล็ก ๆ ในจังหวะที่ลูกหยุดดูดหรือเผลออ้าปากออกจากฐานนม ลมที่เข้าไปในท้องก็อาจส่งผลทำให้ลูกท้องอืด และเนื่องจากว่ากล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารทารกยังไม่แข็งแรง ดังนั้นการดูดนมเข้าไปมาก ๆ บ่อยครั้งลูกจะแหวะนมออกมาเล็กน้อย หรือตามมาด้วยการเรอได้เอง
ภาพจาก : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
สำหรับลูกที่ไม่เรอหรือแหวะนมออกมาเอง โดยส่วนใหญ่มักเป็นทารกที่ดูดนมเป็นจังหวะและดูดช้า ๆ จึงเป็นไปได้ว่าลูกไม่มีนมในท้องหรือดูดนมในปริมาณที่พอดีต่อร่างกาย ไม่น่าเป็นห่วง คุณแม่สามารถจับลูกเรอทุกครั้งหลังกินนมหรือตอนเปลี่ยนข้างนมได้ เพราะหากลูกมีลมในท้องแต่ไม่สามารถเรอออกมาได้ ลูกอาจจะมีอาการตัวงอ อัดอัด และร้องไห้เพราะปวดท้อง ดังนั้นการให้ลูกเรอหรือแหวะนมออกจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ
จับลูกเรอได้ด้วยท่าง่าย ๆ ได้แก่
ภาพจาก : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
- ใช้ท่าอุ้มพาดบ่า โดยการอุ้มลูกพาดบ่าให้ตัวตั้งแล้วลูบหลังไล่ลมหรือตบเบาๆ ที่หลังของลูก หรือเดินไปเดินมา
- ใช้ท่านั่งตัก โดยจับลูกให้นั่งบนตัก มือซ้ายประคองคางลูกไว้ (ให้คางอยู่ระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้) ส่วนแขนจะพยุงลูกอยู่บริเวณหน้าอก และลิ้นปี่พอดี อุ้มให้ลูกนั่งตัวตรงและเอนไปข้างหน้าเล็กน้อย ใช้มือขวาห่อเป็นอุ้งเหมือนรูปถ้วย แล้วตบ ๆ บริเวณเอวเร็ว ๆ จะไล่ลมให้ขึ้นมา หรือลูบช้า ๆ ที่ด้านหลังจากเอวขึ้นมาจนทางต้นคอ
- ใช้ท่าอุ้มเรอวางบนหน้าตัก โดยท่านี้ให้คุณแม่อุ้มลูกนอนคว่ำในขณะที่แม่นั่งเก้าอี้ท่าชันเข่า ให้ช่วงหน้าอก บริเวณลิ้นปี่ของลูกอยู่บนหน้าขา ใช้มือข้างที่ถนัดประคองช่วงไหล่ลูก ใช้มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังลูกเบา ๆ หน้าขาคุณแม่จะช่วยนวดเบา ๆ ที่ท้องลูก เพื่อช่วยไล่ลมให้ลูกได้เช่นกัน
- ใช้ผ้าอุ่น ๆ วางที่ท้อง จะช่วยให้เรอ หรือตดได้
ที่สำคัญคุณแม่ต้องคอยฟังหรือสังเกตเวลาที่ลูกจับลูกเรอ ลูกอาจจะเรอออกมาเป็นเสียงเบามาก ซึ่งคุณแม่อาจจะเผลอและไม่ได้ยิน ทำให้คิดว่าลูกไม่ยอมเรอซะทีทั้ง ๆ ที่ลูกเรอไปแล้ว หรือถ้าลูกไม่เรอ แต่มีผายลมออกมาก็ถือว่าช่วยได้เช่นกันค่ะ เมื่อลูกโตขึ้น ความถี่ในการพาลูกเรอก็จะลดลงค่ะ ทารกที่โตขึ้นมาก็จะสามารถขับลมออกมาได้เองโดยที่คุณแม่ไม่ต้องจับเรอแล้ว.
คุณแม่ให้นมหลายท่าน อาจจะเกิดความสงสัยว่า ทำไมต้องให้ลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม ซึ่งสาเหตุที่ต้องให้ลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม นั่นก็เป็นเพราะ เมื่อลูกกินนมอิ่มแล้ว ต้องจับลูกเรอ เพื่อเอาลมออกจากกระเพาะ เนื่องจากกระเพาะของลูกน้อยนั้น มีเนื้อที่จำกัด และในขณะลูกดูดนม ลูกก็จะกลืนลมเข้าไปด้วย
เมื่อในกระเพาะลูก มีทั้งนมและลม ก็จะทำให้กระเพาะเล็ก ๆ ของลูกนั้น พื้นที่เต็ม และโป่ง ส่งผลให้นมในกระเพาะถูกบีบให้ไหลย้อนผ่านหูรูดระหว่างกระเพาะอาหาร และหลอดอาหาร ผ่านขึ้นมาทางช่องปาก ทำให้ลูกแหวะนม และการเรอจะช่วยให้ระบบการย่อยในท้องน้อย ๆ ของลูกทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งเป็นการกำจัดลมในท้องเพื่อบรรเทาอาการแน่นท้อง และทำให้ท้องว่าง ซึ่งจะสามารถรับนมเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
ถ้าลูกไม่เรออันตรายไหม
หากลูกไม่เรอ อาจทำให้ลูกเกิดอาการท้องอืด และลมที่ติดอยู่ในท้องก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการโคลิค หรือที่เราเรียกกันว่าลูกร้องร้อยวัน การจับลูกเรอจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ไม่ควรมองข้ามนะครับ
ควรจับลูกเรอตอนไหนบ้าง
คุณแม่ควรจับลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม หรือตอนเปลี่ยนข้าง เพื่อขับลมออกจากกระเพาะ ทำให้ลูกท้องไม่อืด ลดปัญหาการแหวะนม โดยหากลูกกินนมแม่ ก็อาจจะจับลูกเรอหลังให้นมจากแต่ละเต้าเสร็จ แต่หากลูกกินนมจากขวด ไม่ว่าจะเป็นนมแม่ หรือนมผง คุณแม่ควรให้ลูกเรอ 2 – 3 ครั้งต่อการให้นมในแต่ละมื้อ แต่ถ้าลูกมีลมมากก็อาจจับลูกเรอบ่อยขึ้น นอกจากนี้คุณแม่ยังควรประคองให้ลูกนั่งตรง ๆ หลังกินนม เพื่อป้องกันลูกแหวะนมด้วยนะครับ
วิธีทําให้ลูกเรอง่าย ๆ ทำอย่างไร
วิธีทําให้ลูกเรอง่าย ๆ สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
1. จับลูกเรอด้วยท่านั่งบนตัก
- จับลูกนั่งบนตัก ใช้มือซ้ายประคองคางของลูกไว้ ให้คางอยู่ระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ โดยมือจะอยู่บริเวณหน้าอกและลิ้นปี่พอดี
- ยกมือยือตัวลูกให้ตรง เพราะถ้าลูกตัวงอจะทำให้เรอไม่สะดวก ให้ตัวลูกเอนไปข้างหน้านิดหน่อย ทำมือขวาห่อเป็นอุ้งเหมือนถ้วย แล้วค่อย ๆ ตบบริเวณเอวเร็ว ๆ หรือ
- เอามือขวาลูบช้า ๆ ที่ด้านหลังตั้งแต่เอวขึ้นมาถึงต้นคอ จะเป็นการไล่ลมขึ้นมาได้
2. อุ้มพาดบ่า
เมื่อลูกกินนมอิ่มแล้วให้เว้นระยะสักพัก แล้วยกตัวลูกขึ้นพาดบ่าให้ตัวตั้ง แล้วลูบหลัง
3. ใช้ผ้าอุ่น ๆ วางที่ท้องลูก
ใช้ผ้าอุ่น ๆ วางที่ท้อง ก็จะช่วยให้เรอและผายลมออกมาได้ครับ
ถ้าลูกสะอึก ต้องทำอย่างไร
อาการสะอึกนั้น เป็นเรื่องปกติของเด็กทารก ประมาณ 4 – 5 เดือนก็จะค่อย ๆ หายไปเอง สาเหตุที่ลูกสะอึก ก็เป็นเพราะกล้ามเนื้อกระบังลมไม่สัมพันธ์กับการหายใจของลูก ถ้าลูกสะอึก ก็สามารถให้ลูกดูดนมแม่ต่อไป ซักพักก็จะหาย ไม่ต้องให้กินน้ำ หรือนมผสมนะครับ แต่หากลูกสะอึกนานเป็นชั่วโมง และมีอาการอาเจียน คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอเพื่อตรวจอาการต่อไป
ที่มา : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
ภาพประกอบ : noeychotika
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
เศร้าก่อนให้นมลูก อารมณ์คุณแม่หลังคลอด ที่วูบขึ้นได้ก่อนให้ลูกกินนม
ไขข้อสงสัย 7 เรื่องจริงของการให้ลูกกินนมแม่หลัง 1 ขวบ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!