ทำเอาพ่อแม่มือใหม่ต้องปรับตัวกันมากโขทีเดียว หากเจอเจ้าต้วน้อยงอแงโยเย พยายามทำนู่นนั่นนี่ให้แล้ว เอาใจสารพัดก็ยังไม่หยุดร้อง หาสาเหตุจากอาการอื่น ๆ ก็ไม่มี หรือเด็กบางคนไม่ยอมกินข้าว เล่นเอาพ่อแม่เพลีย ลูกบ้านอื่นเป็นแบบนี้เหมือนกันไหม ลองมาเช็กดูกันหน่อยไหม ว่าลูกเราเลี้ยงยากหรือเลี้ยงง่ายกันนะ
ลูกเลี้ยงยาก vs. เลี้ยงง่าย
พฤติกรรมลูกเลี้ยงง่าย
เด็กเลี้ยงง่ายหรือที่เรียกว่า easy child จะเกิดมามีพฤติกรรมที่กินง่าย นอนง่าย ขับถ่ายเป็นเวลา พูดง่าย ฟังรู้เรื่อง ไม่แสดงอาการหงุดหงิดงอแง อารมณ์ดี เมื่อพบกับคนแปลกหน้าหรือพาไปสถานที่แปลกใหม่ก็ใช้เวลาไม่นานในการปรับตัวได้ พฤติกรรมแบบนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นตลอดทั้งวัน แต่ก็พอจะทำให้คุณแม่ได้หายเหนื่อย ได้พักผ่อน และช่วยให้ไม่เครียดได้บ้าง
พฤติกรรมลูกเลี้ยงยาก
คุณแม่อาจจะเหนื่อยหน่อยหากลูกเป็นเด็กเลี้ยงยาก หรือ difficult child ถ้าสังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมเลือกกินอาหาร กินยาก ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอนเป็นเวลา หรือแสดงอาการทางอารมณ์ด้วยการร้องไห้โยเยเสียงดัง ส่งสัญญาณความต้องการให้พ่อแม่รับรู้ บางคนเมื่อไม่ได้ดั่งใจถึงกับวาดลวดลายเตะถีบ กัด เพื่อแสดงอาการตอบสนองทางอารมณ์ ซึ่งอาการเหล่านี้หากคุณแม่ไม่มีการปรับหรือฝึกลูกให้ถูกวิธี เมื่อโตมาลูกจะมีโอกาสที่กลายเป็น “เด็กเอาแต่ใจ” ร้องไห้เมื่ออยากได้ โวยวายเมื่อไม่ต้องการ ไม่ค่อยมีสมาธิและจดจ่อกับกับอะไรนาน ๆ ได้ยาก
พฤติกรรมลูกเลี้ยงยากหรือเลี้ยงง่ายดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง มีผลจากการดูแลตัวเองในขณะตั้งครรภ์ของคุณแม่ด้วย เช่น หากคุณแม่มีอาการเครียด หรือสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนไม่เพียงพอ ฯลฯ เหล่านี้ก็จะส่งผลถึงอารมณ์ของลูกในท้อง เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกเกิดมาเป็นเด็กเลี้ยงยากได้
ซึ่งพ่อแม่ควรเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนเกิดมามีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว การสนองตอบหรือพฤติกรรมของลูกจึงมีความแตกต่างกัน หากแต่การเลี้ยงลูกยากหรือง่าย ขึ้นอยู่กับรูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่หรือสภาพแวดล้อมด้วย ดังนั้นพ่อแม่ต้องมีความเข้าใจและวางแผนที่จะรับมือและตอบสนองลูกน้อยได้อย่างเหมาะสม
ลูกเลี้ยงยาก ทําอย่างไรดี
ถ้าคุณแม่บ้านไหนมีลูกเข้าข่ายลูกเลี้ยงยาก นอกจากพยายามอดทนที่จะรับมือกับลูกแล้ว หากลูกโวยวายเอาแต่ใจ คุณพ่อคุณแม่ควรหากลยุทธ์และวิธีรับมือกับพฤติกรรมลูกน้อยอย่างเหมาะสม ไม่ควรเลี้ยงลูกแบบปกป้อง ปล่อยตามใจ หรือเข้มงวดกับลูกมากเกินไป แต่ให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เช่น แบ่งเวลาให้ลูกได้มีอิสระในการเล่น หรือทำกิจกรรมด้วยตัวเอง และฝึกระเบียบหรือมีบทลงโทษที่ใช้กับลูกอย่างเหมาะสม เมื่อลูกเกิดอาการหรือแสดงออกทางอารมณ์ที่ไม่ถูกต้อง เพื่อเป็นการฝึกให้ลูกเรียนรู้และเข้าใจถึงขอบเขตในสิ่งที่ลูกจะได้รับ และปรับพฤติกรรมลูกอันจะส่งผลต่อการเติบโตในอนาคต
ที่มา : khanpak.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกชายVS ลูกสาว ใครเลี้ยงยากกว่ากัน
ลูกตัวเล็ก เลี้ยงไม่โต ควรทำอย่างไร?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!