คุณแม่ท่านนี้ได้แชร์ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกวัย 6 เดือนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ และได้รับเชื้อจากคนแปลกหน้าจนป่วยเป็นโรคลำไส้ติดเชื้อ
คุณแม่เล่าว่า ลูกของคุณแม่นั้น ได้รับการผ่าตัดมาแล้วสองครั้งตอนอายุยังไม่ถึงเดือน โดยครั้งแรกเป็นการผ่าตัดเนื่องจาก เส้นเลือดสลับขั้นกัน และครั้งที่สองเป็นการผ่าตัดอันเนื่องมาจากน้องลิ้นหัวใจรั่วทางห้องล่างขวา หลังการผ่าตัดน้องก็ดำรงชีวิตตามปกติ จนเมื่อไม่นานมานี้ จู่ ๆ น้องก็ถ่ายเหลวจนกระทั่งออกมาเป็นเลือด
ด้วยความเป็นห่วงในสุขภาพของน้อง คุณแม่จึงได้นำน้องส่งโรงพยาบาลทันที ผลจากการตรวจอุจจาระพบว่า มีการติดเชื้อ คุณหมอจึงได้นำเลือดของน้องไปเพาะเชื้อดู และพบว่า น้องป่วยเป็นโรคลำไส้ติดเชื้อ
สาเหตุที่เกิดนั้น มาจากการที่คนแปลกหน้ามาขออุ้มน้อง หรืออีกนับหนึ่งอาจจะมาจากการที่เด็กหยิบของเข้าปาก ดังนั้น คุณแม่จึงอยากฝากถึงคุณพอคุณแม่และผู้ปกครองทุกคนว่า พยายามอย่าให้คนแปลกหน้าสัมผัสลูก เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า เขาป่วยเป็นอะไรหรือไม่ รวมถึงคนรอบข้างด้วย หากเป็นไปได้ก่อนที่จะสัมผัสลูกของคนอื่น ควรที่จะล้างมือให้สะอาดก่อน ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เพื่ออะไร แต่เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพของเด็ก ๆ เอง ที่สำคัญอย่าลืมที่จะทำความสะอาดของเล่น และล้างขวดนมให้สะอาดด้วยการนึ่งหรือผ่านความร้อนก่อนทุกครั้งนะคะ
มาทำความรู้จักกับโรคลำไส้อักเสบ โดยคุณหมอรวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
ลำไส้อักเสบในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ลำไส้อักเสบเกิดจากการติดเชื้อโรค ซึ่งมักได้แก่เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของลำไส้อักเสบที่พบบ่อยที่สุดคือไวรัสโรตา ซึ่งติดต่อได้ทางการสัมผัสกับอุจจาระ น้ำมูก น้ำลาย ที่อาจติดอยู่ตามของเล่นหรือสิ่งของที่เด็กๆใช้ร่วมกัน โดยมักระบาดในช่วงฤดูหนาว ส่วนเชื้อแบคทีเรียสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) ที่ก่อโรคไข้ไทฟอยด์ เชื้อชิเกลลา (Shigella) ที่ก่อโรคบิดไม่มีตัว ซึ่งมักปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม
เนื่องจากเด็กๆมักอยู่ใกล้ชิดกันในสถานที่จำกัด เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ โรงเรียน จึงมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคผ่านของเล่น ของใช้ ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อโรคโดยไม่รู้ตัว ทำให้มีการติดเชื้อได้ง่ายในเด็ก
ทราบได้อย่างไรว่าลูกน้อยมีอาการของลำไส้อักเสบ?
หากลูกมีอาการถ่ายเหลว มีปริมาณมากกว่าปกติร่วมกับปวดท้อง ท้องอืด และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ร่วมด้วย อุจจาระอาจมีมูกเลือดปนได้ถ้ามีลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แสดงว่าลูกมีอาการของลำไส้อักเสบค่ะ และหากลูกดูซึมลง ปากแห้ง ตาลึกโหล กระหม่อมบุ๋ม ปัสสาวะออกน้อยแสดงว่ามีอาการรุนแรงจากการสูญเสียน้ำมาก โดยอาการจะเกิดในเวลาประมาณ 1-2 วัน หลังจากได้รับเชื้อโรค
หากลูกเป็นลำไส้อักเสบคุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร?
หากลูกมีอาการของลำไส้อักเสบแบบไม่รุนแรงคือ ถ่ายเหลวปริมาณไม่มาก ทานน้ำและอาหารได้ ไม่ซึม คุณพ่อคุณแม่สามารถให้การดูแลเบื้องต้นได้โดยให้ลูกจิบน้ำเกลือแร่ในปริมาณใกล้เคียงกับที่สูญเสียไป โดยค่อยๆจิบทีละน้อยจากแก้ว หรือใส่ช้อนตักป้อน
หากลูกยังทานนมแม่อยู่ก็ควรให้ทานต่อไป เพราะในนมแม่มีภูมิต้านทานที่ช่วยให้อาการหายได้เร็วขึ้น สำหรับอาหารที่ควรทานในช่วงที่มีอาการลำไส้อักเสบควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย โดยเฉพาะข้าวต้ม หรือโจ๊ก แต่ถ้าหากลูกมีอาการรุนแรง เช่น ซึม มีไข้สูง ถ่ายปริมาณมาก มีมูกเลือดปน ทานได้น้อย ก็ควรพาลูกไปพบคุณหมอนะคะ
เราจะป้องกันไม่ให้ลูกเป็นลำไส้อักเสบได้อย่างไร?
การป้องกันไม่ให้ลูกเป็นลำไส้อักเสบมีวิธีการง่ายๆคือ สอนให้ลูกรู้จักรักษาสุขอนามัยตั้งแต่วัยเริ่มเรียนรู้ โดยรู้วิธีการล้างมือให้สะอาด ทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น
การให้ลูกดื่มนมแม่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันลำไส้อักเสบติดเชื้อได้ หากลูกดื่มนมผสมคุณพ่อคุณแม่ก็ควรล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมนม ดูแลความสะอาดของอุปกรณ์เช่น ขวดนม และจุกนมให้ดี เพราะอาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคได้
นอกจากนี้ปัจจุบันเรายังมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโรตาได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้กันอย่างแพร่หลายค่ะ
ที่มา: คนท้องคุยกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!