“ลูกเถียง” ถือเป็นคำบ่นตลอดกาลของบรรดาพ่อแม่
เมื่อลูกของคุณเริ่มเถียงหรือพูดจายอกย้อน มันทำให้คุณปรี๊ดได้จริงๆ นะ! คุณแทบจะนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ แม้คุณจะรู้ทฤษฎีที่ว่าการนิ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง (และดีต่อความดันโลหิตของคุณด้วย)
แต่…ถ้าจริงๆ แล้วการต่อต้านเป็นสิ่งที่ดีต่อพัฒนาการของลูกล่ะ?
ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกันว่า พฤติกรรมนี้แท้จริงแล้วเป็นผลดีต่อพัฒนาการของเด็กๆ เคลลี่ เอ็ม เฟลเนแกน นักจิตวิทยาคลินิกอธิบายว่า “การปฏิเสธไม่เป็น ซึ่งทำให้คนเราไม่สามารถกำหนดของเขตส่วนบุคคลได้ เป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เกิดความทุกข์ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดสาเหตุหนึ่ง”
โจเซฟ พี อัลเลน นักจิตวิทยาซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียกล่าวว่า “เราบอกให้ผู้ปกครองคิดว่าการโต้เถียงเหล่านั้นเป็นการฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณ แทนที่จะคิดว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ”
เวลาที่เด็กๆ ต่อต้านอำนาจของคุณ แท้จริงแล้วพวกเขากำลังพยายามควบคุมชีวิตของตนเอง เด็กๆ กำลังฝึกฝนทักษะนี้กับคุณอยู่
คุณน่าจะอยากให้ลูกเรียนรู้ที่จะต่อรองกับคุณก่อน มากกว่าจะให้ลูกรู้สึกว่าต้องทำตามคำสั่งของเพื่อนจอมตื๊อที่พูดว่า “เอาน่า ทุกคนตกลงใช่ไหม?” หรือเชื่อฟังคำสั่งของของผู้ใหญ่ที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับลูกของคุณสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ใช่หรือ?
ตั้งใจดูว่าลูกๆ ของคุณต่อต้าน “อย่างไร”
เราทุกคนต้องการให้ลูกเชี่ยวชาญทักษะในการต้านทานแรงกดดันจากเพื่อน หรือป้องกันตนเองจากอันตรายเมื่อต้องเผชิญกับการตัดสินใจยากๆ ในชีวิต
แล้วถ้าความสามารถของคุณในการยอมรับ (โดยการอบรมและช่วยจัดการ) อิสระที่เพิ่มขึ้นของลูกเป็นกุญแจสำคัญในการสอนให้ลูกมีทักษะการต่อรองอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นทักษะที่จะช่วยให้ลูกของคุณปฏิเสธยาเสพติด และชะลอการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะถึงวัยที่เหมาะสมล่ะ?
ความจริงก็คือ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าลูกต่อต้านคุณหรือไม่ ลูกเป็นเด็ก ลูกจะต้องต่อต้านอย่างแน่นอน มันเป็นงานของพวกเขา สิ่งสำคัญคือพวกเขาต่อต้านอย่างไร และคุณตอบสนองอย่างไร
คุณสอนให้ลูกท้าทายคุณด้วยความเคารพหรือไม่ คุณได้วางมาตรฐาน (และเป็นตัวอย่างที่ดี) ในการสื่อสารอย่างเหมาะสมหรือไม่ คุณได้ช่วยให้ลูกเข้าใจและมีความรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของตนเองหรือไม่
ความสามารถของลูกในการต่อรองกับสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงหรือไม่พึงประสงค์จะดีขึ้น เมื่อคุณสอนให้ลูกฝึกควบคุมตนเองอย่างมีสติ มีความเคารพ สงบและสง่างาม
แล้วตกลงใครมีอำนาจ
เราทุกคนอยากรู้สึกว่าตนเองเป็นพ่อแม่ที่ดี แต่การได้ยินลูกวัย 2 ขวบพูดว่า “ไม่!” ลูกวัย 9 ขวบพูดว่า “ทำไมหนูต้องทำ” หรือลูกวัย 14 ปีพูดว่า “แม่ไม่แฟร์เลย” ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถในการเป็นพ่อแม่ของเรา
เรารู้สึกว่าเราต้องรักษามาตรฐานความมีอำนาจของเราในฐานะพ่อแม่เอาไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราโตมาแบบนี้ และส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราต้องการรู้สึกว่าเราสามารถควบคุมลูกได้ ชีวิตจะง่ายขึ้น (ในระยะสั้น) เมื่อลูกทำตามที่เราบอก แต่ในที่สุดแล้วเราไม่สามารถควบคุมลูกได้
เด็กๆ เกิดมาบนโลกใบนี้พร้อมเส้นทางชีวิตของตนเอง พวกเขาเริ่มสอนบทเรียนนี้ให้กับเราตั้งแต่ยังเล็กโดยการกรีดร้องใส่เราว่า “มันไม่ใช่เรื่องของพ่อกับแม่ มันเป็นเรื่องของหนู!”
น่าเศร้าที่เรามักใช้เวลาหลายปีกว่าจะเข้าใจความหมาย หรืออาจไม่เข้าใจเลยตลอดชีวิต
สิ่งที่ลูกอยากให้คุณรู้
แม้วิธีการจะแตกต่างกันไปในช่วงพัฒนาการต่างๆ แต่ใจความสำคัญยังคงเดิม คือ
ลูกคือสิ่งมีชีวิตอิสระที่มีความคิดและความรู้สึกเป็นของตนเอง พวกเขามีเส้นทางชีวิตของตัวเอง ถึงแม้ว่าคุณจะได้รับสิทธิพิเศษในการดูแลลูกในระหว่างที่พวกเขากำลังเติบโตขึ้น ชีวิตก็ยังเป็นของพวกเขา ไม่ใช่ของคุณ
ที่มา: yahoo.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
วิธีการอบรมลูกโดยไม่ขึ้นเสียง
คุยกับลูกเรื่องยาก ๆ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!