ลูกสำลักนม อันตราย
ลูกสำลักนม เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นกับลูกได้ โดยที่คุณแม่ไม่ทันระวัง ซึ่งการที่ลูกสำลักนมนั้น อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงต้องคอยระวังเป็นพิเศษ
วิธีสังเกตอาการ ลูกสำลักนม
วิธีสังเกตอาการลูกสำลักนม มีดังนี้
- ในระหว่างที่ลูกดูดนมจากขวดนั้น แรก ๆ ลูกจะมีอาการไอ เหมือนกับจะขย้อนนมออกมา หากสำลักไม่มาก อาจจะไอเพียงเล็กน้อย 2 – 3 ครั้งก็จะหายเอง คุณแม่ควรลูกนั่งเอามือประคองหน้าลูกไว้ ค่อย ๆ ลูบหลังเบา ๆ อีกครั้งเพื่อให้ลูกรู้สึกสบายตัวขึ้น
- กรณีที่ลูกมีอาการสำลักนมมาก เด็กจะมีอาการไอแรง จนหน้าแดง หรือมีเสียงหายใจที่ผิดปกติ มีเสียงครืดคราดขณะหายใจ หากมีอาการเช่นนี้ คุณแม่ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย
- กรณีที่ลูกกินอาหาร เช่น ขนม หรือผลไม้ ไปก่อนที่จะกินนม เมื่อเกิดอาการสำลัก จะมีอาการตัวเขียว หรือมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา เช่น ไอไม่หยุด หายใจผิดปกติ มีเสียงหายใจครืดคราด หากลูกมีอาการเช่นนี้ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
สาเหตุที่ทำให้ลูกสำลักนม
สาเหตุที่ทำให้ลูกสำลักนมนั้น เกิดจากทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ดังนี้
ปัจจัยภายใน ที่ทำให้ลูกสำลักนม ได้แก่
- เด็กแรกเกิดมีปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการดูดกลืน เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ซึ่งจะทำให้ช่องต่อระหว่างทางเดินอาหาร กับระบบทางเดินหายใจมีปัญหา หรือ ภาวะหูรูดทางเดินอาหารยังปิดไม่สมบูรณ์
- ทารกที่มีปัญหา เรื่องปอดและหัวใจ ทำให้เด็กหายใจเร็วขึ้นในขณะที่ดูดนม จึงมีโอกาสที่จะสำลักนมมากกว่าปกติ
- เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการที่ล่าช้า หรือเคยมีประวัติว่าเคยชัก ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะสำลักนมได้ง่าย
ปัจจัยภายนอก ที่ทำให้ลูกสำลักนม ได้แก่
- วิธีการให้นม หากทารกดูดนมแม่ ลูกก็จะไม่ค่อยสำลักนม หรือมีโอกาสสำลักนมน้อย เพราะน้ำนมแม่จะไหลก็ต่อเมื่อลูกดูดเท่านั้น แต่ถ้าเป็นนมชงจากขวด ไม่ว่าลูกจะดูดนมหรือไม่ดูด นมก็จะไหลออกมาได้ตลอด
- คุณแม่อุ้มลูกให้นมไม่ถูกท่า ไม่ถูกวิธี เช่น ป้อนนมลูกในขณะที่ลูกกำลังนอน ป้อนนมในขณะที่ลูกกำลังร้องไห้หรือการให้ลูกนอนกินนม ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกสำลักนมได้
- เกิดจากความเข้าใจผิดของคุณแม่เช่น เวลาที่ลูกร้อง ก็จะป้อนนมทุกครั้ง ซึ่งคุณแม่อาจจะเข้าใจผิด คิดว่าลูกหิว ซึ่งอาจทำให้ปริมาณนมในกระเพาะอาหารเกินความต้องการ ส่งผลให้ลูกสำลักนมออกมา ซึ่งจริง ๆ แล้วหากว่าลูกร้องไห้ คุณแม่ควรหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ลูกร้องไห้เสียก่อน เช่น ร้องไห้เพราะอยากให้อุ้ม ร้องไห้เพราะไม่สบายตัว หรือร้องไห้เพราะอึ หรือฉี่ เป็นต้น
- ใช้จุกนมขวดที่ผิดขนาดและไม่เหมาะสมกับช่วงวัย ทำให้น้ำนมไหลออกมามากกว่าปกติ จนเด็กสำลักนมได้
ลูกสำลักนม
ป้องกันอย่างไรไม่ให้ลูกสำลักนม
- ในช่วง 6 เดือนแรก ควรให้นมแม่อย่างเดียว หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นให้อาหารเสริมตามวัยที่เหมาะสม คือ 6 เดือนเป็นต้นไป เพราะในช่วงนี้อวัยวะการดูดกลืนจะทำงานได้ดีกว่าในช่วงแรกเกิด และสามารถชันคอตั้งตรงได้ทำให้โอกาสในการสำลักมีน้อยลง
- จับลูกเรอทุกครั้งหลังจากดูดนมเสร็จ สำหรับเด็กวัยแรกเกิด ถึง 2 เดือน ที่คอยังไม่แข็ง ควรใช้วิธีอุ้มลูกเรอโดยอุ้มลูกนั่งตัก ใช้มือประคองช่วงขากรรไกรเพื่อประคองศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างลูบหลังโดยการลูบขึ้นเบา ๆ
- สำหรับเด็กทารกที่คอแข็งดีแล้ว ให้จับลูกเรอโดยสามารถใช้วิธีอุ้มพาดบ่าได้ แล้วใช้มือประคอง และลูบหลังขึ้นเบา ๆ
ทำอย่างไร ถ้าลูกสำลักนม
- หากลูกสำลักนม ไม่ควรอุ้มเด็กขึ้นทันทีที่เกิดการสำลัก
- จับเด็กนอนตะแคง โดยให้ศีรษะเด็กต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้นม หรืออาหารที่ติดค้างในปาก ไหลย้อนกลับไปที่ปอด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ไวท์ดอท เรื่องที่ทำแม่ให้นมต้องนอนร้องไห้ เช็คหัวนมด่วน มีจุดขาวไหม
Overfeeding อันตราย!!! จับตา 5 อาการ เมื่อลูกกินนมเยอะเกินไป
ช็อค! ทารกวัยเพียง 4 วัน ดับคาอกแม่ หลังแม่กินยาแล้วให้นม
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!