เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่าน มักจะปวดหัวกับความซนของเจ้าตัวเล็กกันแทบทุกบ้าน ความซนกับเด็กนั้นเป็นของคู่กันก็จริง แต่ถ้าเด็กซนมากเกินไป อยู่นิ่งๆไม่ได้ ไม่มีสมาธิ จนกระทบต่อพัฒนาการและความสัมพันธ์กับคนรอบตัว นั่นก็อาจเป็นสัญญาณของโรค สมาธิสั้น ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง
โรค สมาธิสั้น เป็นอย่างไร
โรคสมาธิสั้น คือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก โดยมีอาการหลักๆคือ ควบคุมตนเองไม่ได้ คุมสมาธิไม่ได้ ซนมาก อยู่นิ่งไม่ได้และหุนหันพลันแล่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมเมื่อเด็กโตขึ้น
เด็กบางคนอาจจะมีอาการซนและขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง ซึ่งมักพบในเด็กผู้ชาย ในขณะที่อาการชนิดเหม่อลอยจะพบได้มากในเด็กผู้หญิง ส่วนอาการขาดสมาธิเป็นปัญหาหลักที่พบได้พอ ๆ กันทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย
โรคสมาธิสั้น เกิดจากสาเหตุใด
โรคสมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า โดยปกติโรคสมาธิสั้นจะมีองค์ประกอบด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่ ซนมาก หุนหันพลันแล่น หรือ ขาดสมาธิ วอกแวกง่าย แต่ไม่จำเป็นต้องมีครบทั้งสามอย่างนี้ อาจจะมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรืออาจมีครบทุกอย่างเลยก็ได้ โดยอาการเหล่านี้จะเกิดก่อนที่เด็กจะมีอายุ 12 ปี โดยแบ่งได้ดังนี้
- ซนมาก – อาการแบบนี้เด็กจะวิ่งเล่นทั้งวันแบบไม่มีหยุด ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เป็นเด็กพลังเยอะ อยู่นิ่งๆนานๆไม่ได้ ต้องขยับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอยู่ตลอดเวลา ยุกยิก หรือบางทีซนจนเกิดอุบัติเหตุได้อยู่บ่อยๆ
- หุนหันพลันแล่น – เด็กมักจะไม่รู้จักการรอคอย ต้องโต้ตอบแทรกขึ้นมาทันที สังเกตได้จากการที่เด็กมักจะชอบพูดแทรกขึ้นมาระหว่างบทสนทนา หรือชอบแซงคิว
- ไม่มีสมาธิ หรือสมาธิสั้น – อาการไม่มีสมาธิมักจะเห็นชัดในเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก เด็กจะมีอาการเหม่อ เวลามีคนเรียกชื่อแล้วไม่หัน ทำตามคำสั่งไม่ได้ ฟังคำสั่งได้ไม่ครบเนื่องจากเด็กจะฟังประโยคยาวๆได้ไม่จบ เพราะใจไม่ได้อยู่กับคนพูด จะจับใจความได้แค่ประโยคแรกๆ มักจะทำของหายบ่อย เพราะจำไม่ได้ว่าวางไว้ที่ไหน หรือวอกแวกง่าย เมื่อต้องใช้สมาธิจดจ่อกับอะไรนานๆ เป็นต้น
ปกติเด็กจะมีสมาธินานเท่าไร
อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังก็คือ สมาธิของเด็กแต่ละวัยนั้นไม่เท่ากัน
- ในเด็กเล็ก ช่วงขวบปีแรก จะมีสมาธิไม่เกิน 2 – 3 นาที
- ช่วง 1 – 2 ขวบ จะมีสมาธิประมาณ 3 – 5 นาที
- วัยอนุบาล จะมีสมาธิประมาณ 5 – 15 นาที
- ช่วงประถมต้น จะมีสมาธิได้นานถึง 15 – 30 นาทีขึ้นไป
หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกจะเป็นโรคสมาธิสั้น ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษา หากปล่อยไว้ก็อาจจะส่งผลเสียต่อตัวเด็กเอง รวมถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและการเข้าสังคม โดยการรักษาจะช่วยลดความรุนแรงของโรค และช่วยให้เด็กไม่รู้สึกมีปมด้อยตอนโต
นอกเหนือจากการรักษาจากแพทย์แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเลี้ยงดู และช่วยปรับพฤติกรรมของลูก โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถติดตามอ่านวิธีรักษาโรคสมาธิสั้นได้จากบทความด้านล่างนี้ได้เลย
<< รักษาโรคสมาธิสั้น พ่อแม่นั้นสำคัญที่สุด >>
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
พญ. สุพาพรรณวดี ฟู่เจริญ
bumrungrad.com
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
เล่นอย่างไร ให้ลูกหัวไว ในช่วงขวบปีแรก
เลี้ยงลูกอย่างไร ให้เป็นอัจฉริยะ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!