ลูกชอบอมเท้า ลูกชอบดูดนิ้ว
ปัญหาแทบทุกบ้าน ลูกชอบอมเท้า ลูกชอบดูดนิ้ว แม่หนักใจไม่รู้ทำไงให้ลูกเลิก ถ้าปล่อยลูกวัยทารกดูดนิ้ว อมเท้าไปเรื่อย ๆ จะมีอันตรายไหม แล้วอายุเท่าไหร่ ต้องจัดการให้ลูกเลิกอย่างเด็ดขาด
ทำไมทารกชอบอมเท้าหรือดูดนิ้ว
เด็กทารกวัย 0-1 ปีอยู่ในระยะ oral stage ความสุขของทารกช่วงวัยนี้คือ การได้ทานอิ่ม ๆ และการดูด การเอานิ้วมือเข้าปาก น่าจะเกิดจากเหตุผลหลายอย่าง
- ทารกกำลังสำรวจนิ้วมือของตัวเอง
- ทารกคันเหงือกจากฟันขึ้น
- ทารกกำลังส่งสัญญาณบอกคุณแม่ว่า “หนูหิวแล้ว”
การดูดนิ้ว อมเท้า อมกำปั้น เป็นเรื่องปกติ สำหรับทารกช่วงวัย 0-1 ปี พฤติกรรมนี้จะลดลงเองช่วงอายุ 2-4 ปี แต่พ่อแม่ต้องระวังเมื่อลูกติดดูดนิ้วไปจนอายุเกินกว่า 4 ปี เพราะจะมีผลต่อฟันของเด็ก ทำให้ฟันยื่นเหยิน มีปัญหาการสบฟันผิดปกติ
ทำไงดีลูกวัยทารกชอบดูดนิ้ว ลูกชอบอมเท้า ให้ดูดจุกนมหลอกแทนดีไหม
ทันตแพทย์หญิงกมลชนก บอกว่า ความจริงแล้วไม่อยากให้เด็กติดทั้งดูดจุกนมหลอกและดูดนิ้วเลย แต่ถ้าเปรียบเทียบการเลิก การดูดจุกนมหลอกจะเลิกง่ายกว่าดูดนิ้ว เนื่องจากนิ้วเป็นสิ่งที่ติดตัวลูกจะดูดเมื่อไหร่ก็ได้
วิธีทําให้ลูกเลิกดูดนิ้ว
การจัดการนิสัยดูดนิ้วมือสำหรับทันตแพทย์ หมอขอนำความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือ “การจัดการนิสัยดูดนิ้วสำหรับทันตแพทย์” เขียนโดย รศ.ทพญ.ประภาศรี ริรัตนพงษ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาลงไว้เพื่อเป็นข้อมูลโดยย่อดังนี้
- เด็กเล็กวัยก่อน 4 ปี ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลูกลดการดูดนิ้ว หากลูกดูดนิ้วในช่วงที่เหงาหรือกังวล ผู้ปกครองควรแสดงความรักโดยการโอบกอดเด็ก ให้ความมั่นใจ และเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปจากการดูดนิ้ว หากิจกรรมที่ต้องใช้มือหรือปากให้เด็กทำ
- หากลูกดูดนิ้วก่อนนอน เพราะเด็กพยายามกล่อมให้ตัวเองหลับ ผู้ปกครองควรเป็นผู้กล่อมให้ลูกหลับเองโดยเล่านิทาน ร้องเพลง กอดกันนอนและจับมือลูกไว้ อีกตัวช่วยหนึ่งคือ ให้ลูกทำกิจกรรมในช่วงบ่ายจนเหนื่อย พอถึงเวลานอนก็พาเข้านอนตอนง่วงพอสมควรแล้ว จะช่วยให้ลูกหลับง่ายขึ้น
- การใส่ถุงมือผ้า การใช้ผ้าหรือเทปพันที่นิ้ว การดัดแปลงชุดนอนให้แขนเสื้อยาวมากเกินปกติ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับเด็กที่ต้องการเลิกนิสัยดูดนิ้วและต้องการตัวช่วยให้เค้าไม่เผลอเอานิ้วเข้าปาก โดยเฉพาะตอนนอน
สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำเพื่อให้ลูกเลิกดูดนิ้ว
- การลงโทษ/ตำหนิ ไม่ช่วยแก้ไขปัญหา แต่ยิ่งทำให้เด็กกังวลและดูดนิ้วมากขึ้น เด็กบางรายเลิกดูดนิ้วได้เองจากการที่ผู้ปกครองเลิกสนใจกับการดูดนิ้วของเขา
- การให้รางวัล เป็นแรงเสริมสนับสนุนให้เด็กอยากเลิกดูดนิ้วได้ผลดีกว่าคำตำหนิหรือลงโทษ วิธีนี้ใช้ได้ผลกับเด็กวัยอนุบาลขึ้นไป อาจทำเป็นปฏิทินแล้วให้ดาวเมื่อเด็กไม่ดูดนิ้ว หรือแม้แต่กำลังจะดูดแล้วแม่เตือนเบา ๆ ลูกก็ไม่ดูด ก็ควรได้ดาว เมื่อสะสมดาวได้ครบ 10 ดวง 15 ดวง แล้วแต่จะตกลงกัน ก็จะได้รางวัลชิ้นหนึ่ง ไม่ต้องใหญ่โตอะไร แต่เป็นสิ่งที่ลูกอยากได้ ก็จะมีแรงจูงใจให้เด็กพยายาม
อันตราย หากลูกติดการดูดนิ้ว
ถ้าเด็กหยุดการดูดนิ้วได้ก่อนอายุ 4 ปี ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการดูดนิ้ว (ที่อาจทำให้ฟันหน้าบนเริ่มยื่นนั้น) จะเป็นเพียงชั่วคราว แต่ถ้าอายุเกิน 4 ปีแล้วยังคงดูดนิ้ว จะพบความผิดปกติของการสบฟันรุนแรงขึ้น เช่น ฟันหน้าบนยื่น และสบเปิด (ฟันหน้าบนยกขึ้นจนกัดเส้นก๋วยเตี๋ยวไม่ได้) และการรักษาโดยทันตแพทย์จะเริ่มในช่วงเด็กอายุ 4-6 ปีไปแล้ว
ที่มา : https://www.samitivejhospitals.com
ลูกคันเหงือก ฟันขึ้น บรรเทาอย่างไร
- เคี้ยวของเย็น ให้ลูกเคี้ยวของเย็น ๆ สำหรับเด็กโตหน่อยอาจจะกินผลไม้เย็น ๆ ก็ได้ หรือจะนำผ้าผืนเล็ก ๆ แช่เย็นมาเช็ดตามเหงือก ก็ช่วยบรรเทาอาการเจ็บหรือคันเหงือกเมื่อทารกฟันขึ้นได้เช่นกัน แต่ต้องไม่ใช่ของแช่แข็งเด็ดขาด ความเย็นมากเกินไปอาจไปทำร้ายเหงือกและลูกจะยิ่งเจ็บปวด
- ยางกัด เลือกยางกัดหรือของเล่นสำหรับเคี้ยวที่ปลอดสาร BPA ให้ลูกเคี้ยวเล่น เลือกชิ้นที่มีทั้งพื้นผิวหนาและนุ่ม สัมผัสที่ต่างกันออกไป การเคี้ยวของทารกยังช่วยให้เนื้อเยื่อที่เหงือกแยกออกจากกัน ทำให้ฟันขึ้นได้ง่าย
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถนวดเหงือกเบา ๆ ด้วยการสอดนิ้วเข้าไปในปากแล้วนวดที่เหงือก ย้ำว่า เบา ๆ นะคะ และพ่อแม่ต้องล้างมือให้สะอาดเสียก่อน แต่ถ้าเหงือกของลูกบวมมาก ๆ ไม่ควรทำ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกเจ็บมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม ลูกฟันขึ้น ร้องไห้ปวดเหงือก พ่อแม่จะช่วยอย่างไร
อย่าลืมนะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตลูกในดี หากลูกชอบอมเท้า ลูกชอบดูดนิ้ว หรือกัดกำปั้น ก็ต้องหมั่นทำความสะอาดนิ้วมือและนิ้วเท้า แต่ถ้าเด็กยังชอบดูดนิ้วเรื่อย ๆ ก็ต้องหาวิธีทําให้ลูกเลิกดูดนิ้ว เพราะถ้าลูกโตเกิน 4 ขวบแล้วยังชอบดูดนิ้ว ฟันลูกจะมีปัญหาได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกลำไส้อักเสบ เกือบเน่า ยายเอาน้ำต้มสุกใส่ขวดนมให้ทารก 20 วันกิน หวิดเสียชีวิต
ช็อค! แปรงฟันลูกแล้วเจอเลือดท่วม ลูกจะเจ็บไหม ขนแปรงแข็งไป หรือแม่แปรงแรงเกิน
แก้ปัญหาทารกแรกเกิดสะอึก วิธีหยุดลูกสะอึกให้อยู่หมัด ไม่ว่าจะเด็กสะอึก หรือทารกสะอึก
ทารกน้อยหายใจเสียงดัง มีน้ำมูก จากภาวะ nasal snuffles ลูกป่วยหนักหรือเปล่า
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!