ลูกฉี่รดที่นอนปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม
ผศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงปัญหาเด็กปัสสาวะรดที่นอน ว่า เด็กที่มีอาการฉี่รดที่นอนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ แต่พบได้จากสาเหตุต่อไปนี้
1. ความสามารถในการรู้สึกตัวว่า ปวดปัสสาวะขณะนอนหลับยังพัฒนาไม่เต็มที่ เหมือนกับที่เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการเร็วช้าแตกต่างกันไป เด็กบางคนเดินเร็ว บางคนเดินช้า ฟันขึ้นเร็ว บางคนพูดเร็ว เป็นต้น
2. พ่อแม่ควรทราบว่า ปัญหาฉี่รดที่นอนเป็นภาวะที่พบได้บ่อย คือประมาณร้อยละ 15 ของเด็กอายุ 5 ปี ยังปัสสาวะรดที่นอน และในจำนวนนี้จะหยุดปัสสาวะรดที่นอนได้เอง ร้อยละ 15 ต่อปี เด็กไม่อยากให้ตนเองฉี่รดที่นอนเหมือนกัน แต่เขาไม่สามารถควบคุมได้จริงๆ จึงไม่ได้เป็นความผิดของเด็ก
พ่อแม่อย่าทำแบบนี้นะ !!! ควรหลีกเลี่ยงการลงโทษโดยไม่เหมาะสม การดุว่า หรือการล้อเลียน ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากปัญหาด้านจิตใจ แต่เด็กอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจจากการฉี่ที่นอน ได้แก่ ความรู้สึกอับอาย ขาดความมั่นใจในตัวเอง วิตกกังวล และปัญหาด้านสังคม เป็นต้น เด็กบางคนฉี่รดที่นอนจนอายุ 12-13 ปีก็มี และมักพบว่า พ่อหรือแม่มีประวัติฉี่รดที่นอนแบบนี้เหมือนกันในวัยเด็ก
3. ดื่มน้ำหรือนมจำนวนมาก กินอาหารบางอย่างที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมและช็อกโกแลต
4. ความผิดปกติของระบบประสาทควบคุมการขับถ่าย และความผิดปกติของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่าย เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคไตทราบได้จากการตรวจฉี่
5. ภาวะเครียด เช่น การมีน้องใหม่ พ่อแม่ทะเลาะกัน การแก้ไขขึ้นกับสาเหตุ ส่วนกรณีตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนอาจเป็นไปได้ว่าระบบยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเมื่อระบบควบคุมการขับถ่ายพัฒนาเต็มที่แล้วก็จะกลั้นได้เองในที่สุด
คุณหมอแนะนำ : วิธีฝึกลูกไม่ให้ฉี่รดที่นอน
1. เน้นให้การฝึกควบคุมการฉี่ที่นอนเป็นความรับผิดชอบของเด็กเอง ตั้งแต่ให้บันทึกอาการฉี่รดที่นอนด้วยตนเอง โดยทำตารางเพื่อติดสติ๊กเกอร์ดาวสะสมแต้มในวันที่ลูกไม่ฉี่รดที่นอนเพื่อเป็นกำลังใจ หรือมีการมอบรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เมื่อสะสมได้ทุก 10 ดวง มีเด็กจำนวนหนึ่งฉี่รดที่นอนลดลงมากหลังจากให้เริ่มบันทึกด้วยตนเอง
2. ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนหรือทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอน
3. งดอาหารและเครื่องดื่มในช่วงเวลา 1-2 ชั่วโมงก่อนนอน โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำอัดลมบางชนิด และชาเขียว เป็นต้น เนื่องจากสารคาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เครื่องดื่มเหล่านี้มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบประมาณ 10 มก./100 มล.
4. งดการปลุกขึ้นมาฉี่ตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้เด็กหยุดฉี่รดที่นอนได้ช้ากว่าไม่ปลุก และมักทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่และเด็กมากกว่า
5. ในกรณีที่ต้องไปค้างคืนที่อื่น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกอับอายหรือขาดความมั่นใจ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อใช้ยาระงับอาการเป็นครั้งคราว ยาที่ใช้ในการรักษาอาการฉี่รดที่นอนนั้นมี 2 รูปแบบ คือ ยากินแบบเม็ด และยาพ่นจมูก ซึ่งการเลือกใช้นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ
ทราบกันแล้วนะคะถึงปัญหาลูกฉี่รดที่นอน หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มั่นใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ ควรปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุดค่ะ รวมถึงทำตามวิธีที่คุณหมอแนะนำ รับรองว่าลูกของคุณจะไม่ฉี่รดที่นอนอีกต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://women.mthai.com
https://www.oknation.net
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทำยังไงไม่ให้ลูกฉี่รดที่นอน?
การได้นอนอย่างเพียงพอในวันหยุดอาจเป็นผลดีต่อลูกคุณ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!