ปัจจุบันนี้ผู้คนสังคมมีความตึงเครียดทางด้านจิตใจที่เกิดจากปัจจัยกดดันหลายอย่าง อาทิ ครอบครัว การทำงาน สภาพเศรษฐกิจ หรือปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งแต่ละคนมีสภาพจิตใจในการรับความตึงเครียดที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุให้เกิด “ ไบโพลาร์ ” หรือ”โรคอารมณ์สองขั้ว” ได้ มาดูกันว่าไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้วนี้เป็นอย่างไร มีวิธีการรักษาหรือไม่ ติดตามอ่าน
รู้จัก เข้าใจ ไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder)
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคอารมณ์ผิดปกติที่พบได้บ่อยในทั่วโลก ประมาณ 1-2% ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า โรคไบโพลาร์เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือความพิการ อันดับที่ 6 ของโลก พบได้ในผู้หญิงและผู้ชายในอัตราที่เท่ากัน อายุเฉลี่ยที่เริ่มพบ คือ 20-30 ปี อีกทั้ง พบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จ
นอกจากนี้ นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า ในปี 2557 โรงพยาบาลศรีธัญญา มีผู้ป่วยนอกมารับบริการ จำนวน 116,227 ราย เป็นผู้ป่วยไบโพลาร์ 9,051 ราย คิดเป็น 7.8% นับเป็นอันดับ 3 รองจากโรคจิตเภทและโรคซึมเศร้า และมีผู้ป่วยในที่รับไว้รักษาทั้งหมด 6,035 ราย เป็นผู้ป่วยไบโพลาร์ 453 ราย นับเป็นอันดับ 2 รองจากโรคจิตเภท
รับมือ “ไบโพลาร์” โรคอารมณ์สองขั้วในคน ๆ เดียว
ไบโพลาร์ : สาเหตุ
จากการศึกษา พบว่า โรคนี้สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายในอัตราที่เท่ากัน เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 18, 21, 22 มีความสัมพันธ์กับโรคนี้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ตลอดจนความเครียด หรือการประสบกับวิกฤติชีวิตรุนแรง การติดยาหรือใช้สารเสพติด รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับบุคลิกภาพ ซึ่งมักเริ่มมีอาการในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และมักพบร่วมกับปัญหาสุขภาพจิตหรือภาวะในทางจิตเวชอื่นด้วย
ไบโพลาร์ : อาการ
ผศ.พญ.สุทธิพร เจณณวาสิน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงอาการของไบโพลาร์ สรุปได้ดังนี้ อาการของโรค แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงที่อารมณ์ซึมเศร้า ระยะซึมเศร้า (Depression)
1. มีอาการเบื่อหน่ายท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร
2. มองทุกอย่างในแง่ลบ
3. เรี่ยวแรงลดลง
4. มีความคิดอยากตาย ซึ่งมีไม่น้อยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
ช่วงที่อารมณ์ดีหรือก้าวร้าว หรือระยะมาเนีย (Mania)
1. เชื่อมั่นในตนเองมาก รู้สึกว่าตนมีความสำคัญหรือมีความสามารถมาก
2. เรี่ยวแรงเพิ่ม นอนน้อยกว่าปกติ โดยไม่มีอาการเพลีย
3. พูดเร็ว พูดมาก หรือพูดไม่ยอมหยุด
4. ความคิดแล่นเร็ว มีหลายความคิดเข้ามาในสมอง
5. สมาธิลดลง เปลี่ยนเรื่องพูดหรือทำอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อสิ่งเร้าง่าย ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. มีกิจกรรมมากผิดปกติ อาจเป็นแผนการหรือลงมือกระทำลงจริงๆ แต่มักทำได้ไม่ดี
7. การตัดสินใจไม่เหมาะสม เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ทำเรื่องที่เสี่ยงอันตรายหรือผิดกฎหมาย บางคนจะหงุดหงิดก้าวร้าวจนถึงทะเลาะหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการของโรคจิตร่วมด้วย
อ่าน ไบโพลาร์ : วิธีการรักษา คลิก
ไบโพลาร์ : วิธีการรักษา
ผศ.พญ.สุทธิพร อธิบายถึงวิธีการรักษา ไว้ว่า
1. โดยทั่วไป แพทย์จะให้ยาและคำแนะนำเกี่ยวกับโรคและยา รวมถึงการดูแลตนเองในด้านต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการใน 2-8 สัปดาห์ และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนก่อนป่วย
2. ในบางรายอาจต้องให้ทำจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อขจัดความเครียด และลดความขัดแย้งกับคนรอบข้างที่เป็นสาเหตุของความเครียด
3. เนื่องจากโรคนี้เกิดจากสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล จึงต้องใช้ยาที่จะปรับสารสื่อประสาท ปัจจุบันมียาควบคุมอารมณ์หลายชนิดที่มีประสิทธิภาพ ยาในกลุ่มนี้ไม่ใช่ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ ไม่ทำให้ติดยาเมื่อใช้ในระยะยาว แต่มักต้องใช้เวลา 2-4 สัปดาห์จึงจะเห็นผล
4. นอกจากยาควบคุมอารมณ์ แพทย์อาจใช้ยากลุ่มอื่นร่วมด้วยเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้น ยาทางจิตเวชก็เหมือนกับยาอื่นที่ทุกตัวจะมีผลข้างเคียง แต่อาการและความรุนแรงจะต่างกัน ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายมาก
5. สำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรแจ้งแก่กับแพทย์ด้วยเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง
6. โรคนี้มีอัตราการเป็นซ้ำสูงมากถึง 90% ฉะนั้นโดยทั่วไปหลังจากหายแล้ว แพทย์มักแนะนำให้กินยาต่ออย่างน้อย 1 ปี เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
คุณหมอฝากบอก
สรุปว่าโรคนี้รักษาหายได้ และสามารถกลับไปเรียนหรือทำงานได้ตามเดิม เมื่อมีปัญหาด้านสุขภาพจิต อย่ากลัวหรืออาย หมอทุกคนยินดีให้คำแนะนำและรักษาค่ะ สะดวกที่ไหน ติดต่อได้ตามสถานพยาบาลทั่วประเทศ หรือที่หน่วยตรวจโรคจิตเวชศาสตร์ ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 7 รพ.ศิริราช เวลา 08.30-16.00 น. โทร. 0-2411-3405, 0-2419-7373 หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://health.kapook.com
https://www.thaihealth.or.th
https://www.manager.co.th
https://www.ryt9.com
อ่านบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
พ่อแม่ควรรู้ “เซลฟี่ ติดเน็ต สังคมออนไลน์” ภัยร้ายใกล้ตัว สู่ปัญหาการ “ฆ่าตัวตาย” ของเด็ก
5 ข้อคิดดีๆ ที่ควรรู้ไว้ก่อนเป็น คุณแม่เจ้าอารมณ์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!