เมื่อช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา เคที่ ลูคัสเริ่มมีตุ่มแดงเป็นจ้ำๆ เหมือนถูกแมลงกัดต่อยบนผิวหนัง และในเดือนมกราคม เธอต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรง นับจากนั้นมา เคที่ต้องถูกตรวจเลือดหลายต่อหลายครั้ง ถูกตัดเนื้อเยื่อไปตรวจสองครั้ง ถูกเจาะตรวจไขกระดูกสามครั้ง ถูกเอ็กซ์เรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) สองครั้ง ถูกทำอัลตราซาวด์สองครั้ง รวมถึงต้องมีการให้เลือดกับเกล็ดเลือด โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระยะสองเดือนเศษเท่านั้น หลังจากตัดความเป็นไปได้อื่นๆ ออกไป ในที่สุดแพทย์โรงพยาบาล National University Hospital ในสิงคโปร์ก็วินิจฉัยออกมาแล้วว่า เคที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด JMML ซึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดที่พบน้อยมาก
![มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กชนิด JMML โรคร้ายที่พ่อแม่ไม่ค่อยรู้จัก](https://static.cdntap.com/tap-assets-prod/wp-content/uploads/sites/25/2016/03/jmml1.jpg?width=700&quality=10)
มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กชนิด JMML คืออะไร
มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กชนิด JMML เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กที่พบได้น้อยมากอย่างยิ่ง โดยจะเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งหมดในเด็ก การศึกษาทำความเข้าใจและวินิจฉัยโรคจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก
โรค JMML นี้ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเติบโตเร็วผิดปกติและสะสมในไขกระดูกจนไปกระทบและเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของไขกระดูกและอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย
สาเหตุของโรค
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของโรค แต่พบว่าเด็กที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis Type 1- NF1) มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้สูง
อาการของโรค
ในระยะแรกจะเห็นอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการเลย อาจใช้เวลาหลายเดือน หรือกระทั่งหลายปีกว่าจะเริ่มแสดงอาการให้เห็น ซึ่งได้แก่
– ปวดท้อง
– ช่องท้องและม้ามบวมโต
– ต่อมน้ำเหลืองโต
– ติดเชื้อซ้ำๆ (เช่น หลอดลมอักเสบและทอนซิลอักเสบ)
– ปวดเสียดใต้ชายโครง
– ปวดกระดูกและข้อต่อ
– เขียวช้ำง่าย
– มีผื่นขึ้น
– อ่อนเพลีย
จะวินิจฉัยโรคได้อย่างไร
โรค JMML เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและส่งผลกระทบต่อไขกระดูก แพทย์จึงอาจสั่งให้
– ตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และอาจมีการตรวจการทำงานของตับ ไตและค่าเคมีเลือด เพื่อดูสภาพและจำนวนเซลล์เม็ดเลือดปกติในร่างกาย
– เจาะไขกระดูก เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เนื่องจากต้องสอดเข็มเข้าไปในกระดูกบริเวณด้านหลังของกระดูกสะโพกและดูดไขกระดูก กระดูกและเลือดออกมาตรวจ
– เอ็กซ์เรย์หรือสแกนร่างกาย
– เจาะน้ำไขสันหลัง
– ตรวจวัดขนาดและคุณสมบัติของเซลล์
– ตรวจโครโมโซม
การรักษา
วิธีรักษาโรค JMML ในปัจจุบันมีอยู่วิธีเดียวคือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (ไขกระดูก) โดยใช้เคมีบำบัดหรือกัมมันตรังสีกำจัดไขกระดูกที่เป็นมะเร็งให้หมดไปก่อนจะปลูกถ่ายไขกระดูกที่แข็งแรงดีเข้าไปแทนที่ พบว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่รักษาด้วยวิธีนี้จะปลอดโรค JMML เป็นเวลานานหลายปี โอกาสหายจากโรคขึ้นอยู่กับวัยของเด็ก ปริมาณเกล็ดเลือด และชนิดของฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง
เคที่เริ่มทานยาเคมีบำบัดอาทิตย์นี้แล้ว ขณะที่แพทย์จากสหรัฐฯและญี่ปุ่นมีกำหนดจะมาตรวจเยี่ยมเธอเร็วๆ นี้
แม้ว่าครอบครัวลูคัสต้องฝ่าฟันความทุกข์ยากกลัดกลุ้มใจกับโรคร้ายที่ลูกสาวกำลังเผชิญ แต่พวกเขาก็ยังเข้มแข็ง พร้อมจะสู้ต่อไป ทั้งยังกล่าวขอบคุณผู้คนมากมายที่ได้ส่งกำลังใจผ่านทางเฟสบุคไปถึงหนูน้อยเคที่ด้วย เราก็ขอให้เคที่หายป่วยในเร็ววันเช่นกันค่ะ
ที่มา www.mb.com.ph
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
กินไส้กรอกเสี่ยงมะเร็งจริงหรือ?
7 ความเสี่ยง “มะเร็งรังไข่” โรคร้ายที่พบมากในหญิงไทย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!