พัฒนาการเด็ก 30 เดือน
ลูกวัยนี้มีพัฒนาการอย่างไร พัฒนาการเด็ก 30 เดือน ไปถึงไหนแล้ว ลูกมีพัฒนาการอะไรเพิ่มขึ้น แล้วพ่อแม่จะเสริมพัฒนาการลูกอย่างไรได้บ้าง
พัฒนาการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ของเด็กวัย 30 เดือน
- ความคล่องแคล่วของร่างกายลูก สะท้อนจากการเล่นกระโดดไปมา ความสนุกสนานจากการขึ้นลงบันไดขั้นเล็ก ๆ
- ช่วงวัยนี้สามารถฝึกปั่นจักรยานสามล้อได้แล้วนะแม่
- ถ้าพาลูกไปสนามเด็กเล่น หรือทำกิจกรรมนอกบ้าน แม่จะต้องประหลาดใจว่า ลูกสามารถวิ่งหลบสิ่งกีดขวางเล็ก ๆ ได้ ทรงตัวเก่ง ไม่วิ่งชนสะเปะสะปะ
- ชวนลูกวัยนี้เล่นโยนบอล หรือเตะฟุตบอลเล่น ๆ ก็สนุกดีนะ เพราะเด็ก ๆ มักจะสนใจลูกบอลหรือลูกโป่ง
พัฒนาการเด็ก 30 เดือน ทางความคิด สติปัญญา และการเรียนรู้
- สมองของลูกที่เติบโตขึ้น ทำให้ลูกจดจำชื่อเรียกต่าง ๆ ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะข้าวของเครื่องใช้ที่ลูกเห็นทุกวัน
- ลูกสามารถแยกความต่างของคำง่าย ๆ เช่น อาหารที่ร้อน ก็สามารถพูดว่า ร้อน ได้ หรือน้ำแข็งที่เย็น ก็บอกได้ว่า เย็น
- ถ้าแม่สอนลูกเรื่องบน ล่าง เช่น ขึ้นชั้นบนด้วยบันไดกันนะลูก ในช่วงวัยนี้ ลูกจะเข้าใจคำว่า บน หรือ ล่าง ได้แล้ว
พัฒนาการเด็ก 30 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เสริมทักษะอะไรให้ลูกดี
พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม ของเด็กวัย 30 เดือน
- ช่วงวัย 2 ขวบถึง 2 ขวบครึ่ง ลูกควรจะล้างมือและเช็ดมือได้เอง ถ้าลูกยังทำไม่ได้ มีวิธีส่งเสริมพัฒนาการตามขั้นตอนต่อไปนี้ 1.เปิดก๊อกนํ้าหรือตักนํ้าใส่ขัน หยิบสบู่ 2.เอานํ้าราดให้เปียกทั้งมือและสบู่ ฟอกสบู่จนทั่วมือแล้ววางสบู่ไว้ที่เดิม 3.ถูมือที่ฟอกสบู่แล้วให้ทั่ว 4.ล้างมือด้วยนํ้าเปล่าจนสะอาด 5.ปิดก๊อกนํ้า หรือวางขันไว้ที่เดิม 6.นำผ้าเช็ดมือมาเช็ดมือให้แห้ง แล้ววางผ้าเช็ดมือไว้ที่เดิม 7.หากลูกทําเองไม่ได้ให้คุณแม่จับมือลูกทําก่อนตามขั้นตอนจนลูกสามารถทําเองได้
- ลูกจะอยากทำอะไรเองมากขึ้น เช่น จับช้อนเอง กินข้าวเอง อยากหยิบของเอง คุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการลูกได้ด้วยการให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง สอนลูกแต่งตัวเอง อาบน้ำเอง หรือแปรงฟันเอง
- วัยนี้ลูกจะจินตนาการเก่ง ทำให้มีความกลัวเกิดขึ้น เช่น กลัวความมืด กลัวผี แม่ต้องปลอบโยนให้ลูกสบายใจว่าไม่มีอะไรน่ากลัว
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร ของเด็กวัย 30 เดือน
- ลูกสามารถพูดตอบรับ และปฏิเสธได้ แม่ลองใช้วิธีส่งเสริมพัฒนาการด้วยการถามคําถามเพื่อให้ลูกตอบรับหรือปฏิเสธ เช่น เอานมไหม เล่นรถไหม เล่นเครื่องบินไหม ไปเที่ยวไหม กินข้าวไหม กินขนมไหม กระตุ้นให้ลูกตอบรับหรือปฏิเสธคําชวนต่าง ๆ ข้างต้น รอจนแน่ใจว่าลูกตอบรับหรือปฏิเสธ คําชวนต่างๆ จึงตอบสนองสิ่งที่ลูกต้องการ ถ้าลูกตอบไม่ได้ ให้คุณแม่พูดให้ลูกฟัง แล้วถามลูกซํ้า
- ความสามารถในการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ของช่วงวัยนี้ อยู่ที่ 2 – 3 คำต่อวัน แม่ควรกระตุ้นพัฒนาการด้วยการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ อ่านนิทานให้ลูกฟัง เพื่อเพิ่มพูนคำศัพท์ใหม่ ๆ ในแต่ละวัน
เคล็ดลับเลี้ยงลูกในวัย 30 เดือน
- ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา : ลูกสามารถแก้ปัญหาง่ายๆ โดยการใช้เครื่องมือ ลองวิธีส่งเสริมพัฒนาการด้วยการเล่นเกม “ช่วยลูกไก่ออกจากท่อ” ใช้อุปกรณ์ 1.ท่อกลวงและใส ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 3 ซม. ยาว 15 ซม. ที่ปลายเปิด 2 ข้าง 2.แท่งไม้ 3.ลูกบอลไหมพรมสีแดง โดยวางท่อที่มีไหมพรมอยู่กลางท่อ แท่งไม้ ตรงหน้าลูก พูดคุยกับลูก “..(ชื่อลูก)..จะเอาไหมพรม ออกมาได้ยังไงนะ” หยุดรอจังหวะให้ลูกคิด คุณแม่ยื่นท่อที่มีไหมพรมอยู่กลางท่อ และแท่งไม้ให้ลูก พร้อมพูด..(ชื่อลูก)..เอา ไหมพรมออกมาหน่อยนะ ถ้าลูกทําไม่ได้ให้คุณแม่จับมือลูกทํา ทําซํ้าจนลูกสามารถทําได้เอง แม่ยังหาโอกาสให้ลูกแก้ปัญหาอื่น ๆ ด้วยตนเองได้ เช่น นำไม้เขี่ยของใต้เตียงออกมา
- ด้านการเข้าใจภาษา ลูกสามารถชี้อวัยวะ ของร่างกายได้ 7 ส่วน ด้วยวิธีส่งเสริมพัฒนาการ ให้คุณแม่ชี้และบอกชื่ออวัยวะส่วนต่างๆ ของ ตนเองทีละส่วน โดยเริ่มจากอวัยวะที่ลูกเรียนรู้ ได้ง่าย เช่น ตา จมูก ปาก หู หัว มือ นิ้วมือ แขน ขา เท้า, เล่นเกมอะไรเอ่ย? ทายชื่ออวัยวะ โดยชี้ไปที่ อวัยวะต่างๆ ทีละส่วน แล้วให้ลูกตอบ ทําซํ้าจนลูกสามารถชี้อวัยวะของร่างกาย ได้อย่างน้อย 7 ส่วน
ลูกในวัย 2 ขวบครึ่ง พัฒนาการเด็ก 30 เดือน เป็นยังไงกันบ้างคะ ในแต่ละวัน ถ้าพ่อแม่หากิจกรรมให้ลูกทำ และทำสิ่งนั้นร่วมกัน จะช่วยให้ลูกเสริมสร้างพัฒนาการ และทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นได้อีกด้วย
*ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และนำรูปภาพไปเผยแพร่ต่อไม่ว่าวิธีใด ๆ หากฝ่าฝืน ทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พัฒนาการเด็ก 29 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เสริมทักษะอะไรให้ลูกดี
พัฒนาการเด็ก 31 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เสริมทักษะอะไรให้ลูกดี
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาการเด็ก ทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปี
รวมไอเดียของเล่น DIY พ่อแม่ทำเองก็ได้ง่าย ๆ แถมไม่ต้องเสียเงินซักบาท
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!