เด็กในยุค Gen Z (เกิดหลังปี 2000) เติบโตมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสารพัดอุปกรณ์ไฮเทค อย่างสมาร์ทโฟน ไอแพด และเกมส์ต่างๆ ผลที่ตามมาจากพฤติกรรมเหล่านี้ คือ โรคสมาธิสั้นและมีพัฒนาการด้านต่างๆ ช้าลง โดยล่าสุดผลการศึกษาวิจัยทางการแพทย์แห่งศูนย์การเรียนรู้และบำบัดแห่งมลรัฐแมริแลนด์พบว่า หากใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากเกินไป ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยหัดเดินมีโอกาสที่จะใช้การนิ้วมือไม่ได้ในอนาคต
“กล้ามเนื้อ” พื้นฐานพัฒนาการเรียนรู้
‘เพียเจท์’ นักจิตวิทยาด้านการพัฒนาการเด็ก ชาวสวิสเซอร์แลนด์ พบว่า ความสามารถในการคิด และทักษะทางภาษาของเด็กนั้น มีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับพื้นฐานและประสบการณ์ด้านกล้ามเนื้อ เพราะเด็กจะไม่สามารถพัฒนาทางภาษาได้ ถ้าปราศจากพื้นฐานที่มั่นคงทางด้านประสบการณ์ออกกำลังกายและการหยิบจับสิ่งของรอบๆ ตัว เพราะเด็กมักจะเรียนรู้จากการที่เด็กได้สัมผัสกับสื่อวัสดุต่างๆ ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้านั่นเอง
“การปั้น” พัฒนากล้ามเนื้อและความคิดสร้างสรรค์
อัศวิน สุวรรณดี ผู้จัดการทั่วไป โรงเรียนสอนศิลปะและความคิดสร้างสรรค์โกลเบิล อาร์ต (ประเทศไทย) กล่าวว่า “หนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทั้งกล้ามเนื้อ และทักษะต่างๆ ให้เด็กได้นั้น คือการปั้น เพราะการใช้สมาร์ทโฟน ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณมือและข้อมือเกิดอาการตึง ทำให้เกิดการบาดเจ็บ การที่มือได้นวด คลึง และปั้น จะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น พร้อมกับช่วยฝึกสมาธิให้เด็กๆนั่งและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้นานขึ้น สามารถสร้างความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการตามความคิดของตนเองออกมา โดยการถ่ายทอดผ่านผลงาน นอกจากนี้ยังจะช่วยในเรื่องของมิติสัมพันธ์ ทำให้เด็กสามารถมองภาพที่เป็น 3 มิติได้ดีขึ้น”
ฝึกปั้นตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย
การปั้นเหมาะกับการเรียนรู้ของเด็กในช่วงอายุ 3-10 ปี ซึ่งแต่ละช่วงวัยก็จะมีการพัฒนาการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป ซึ่งสามารถแบ่งได้ตามช่วงวัยดังนี้
พัฒนาการช่วง The Scribble Stage หรือ ช่วงอายุ 2-4 ปี เป็นช่วงวัยแห่งการทดลองใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และเล็ก เด็กจะเริ่มเรียนรู้ความสนุกการจากได้ลองได้เล่นด้วยตนเอง สนใจรูปร่างง่ายๆ เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม และการเรียกชื่อสิ่งต่างๆอย่างง่าย การฝึกปั้นในเด็กช่วงอายุนี้ก็จะเป็นรูปทรงง่ายๆ เน้นการหยิบจับและการเรียกชื่อสิ่งต่างๆ รอบตัว
พัฒนาการช่วง The Pre Schematic Stage หรือ ช่วงอายุ 4-7 ปี เด็กในวัยนี้เริ่มสร้างตัวแทนของคนสัตว์ สิ่งของ และบุคคล จะเริ่มสนใจสีต่างๆ เป็นพิเศษเริ่มสนใจสัญลักษณ์ทางสังคม การเรียนรู้การปั้นในช่วงนี้จะเริ่มให้เด็กใช้ จินตนาการ และแสดงออกถึงความคิดของตนเองมากขึ้น โดยเด็กจะใช้รูปทรง และสีสัน เพื่อประกอบเป็นเรื่องราวต่างๆ หรือรูปร่างของสิ่งของรอบตัว
และในพัฒนาการช่วง The Schematic Stage หรือ ช่วงอายุ 7-9 ปีนั้น เด็กจะเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก จนสามารถเขียนและวาดอะไรที่ละเอียดได้มากขึ้น ที่สำคัญคือเริ่มสังเกตลักษณะเฉพาะของบุคคล เช่น การใส่แว่นตา ทรงผมต่าง หรือสิ่งต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ ของบุคคล การปั้นในช่วงนี้จึงมีการสอดแทรกเรื่องราวที่น่าสนใจและรายละเอียดที่มากยิ่งขึ้น เช่น การสอดแทรกวัฒนธรรมชาติต่างๆ เป็นต้น
การปั้นนอกจากจะทำให้เด็กๆ ได้อยู่ห่างจากจอสมาร์ทโฟนแล้ว ยังช่วยในการบริหารกล้ามเนื้อมือ เป็นกิจกรรมฝึกสมาธิ และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ ระหว่างการทำงานศิลปะอีกด้วย คุณพ่อคุณแม่คือคนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของลูก ด้วยการสนับสนุนการปั้นที่เหมาะสมกับวัยของเขาค่ะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
4 กิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูกวัยอนุบาล
รู้ไว้เด็กๆ จ้องมือถือ สมาร์ทโฟนมากเสี่ยงสายตาสั้นเทียมได้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!