แม่รู้ไหม ปากมดลูกสั้น เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
ภาพประกอบจาก: National Institute of Health
คุณแม่สามารถรู้ได้ว่าปากมดลูกสั้นผิดปกติหรือไม่ โดยการอัลตร้าซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด ในช่วงอายุครรภ์ 18 – 22 สัปดาห์ค่ะ ซึ่งโดยปกติปากมดลูกของคุณแม่จะมีความยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร แต่หากวัดได้น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตรถือว่าปากมดลูกสั้น มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด
เมื่อไหร่จึงเรียกว่า คลอดก่อนกำหนด
ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หมายถึง การเจ็บครรภ์คลอดที่อยู่ในช่วงอายุครรภ์ก่อน 37 สัปดาห์ ยิ่งถ้าคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 34 สัปดาห์ จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมากขึ้น
สัญญาณเตือนคุณแม่เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
คุณแม่ที่มีภาวะเสี่ยง ปากมดลูกสั้น ควรสังเกตสัญญาณเตือนต่อไปนี้ ได้แก่ การปวดบีบเกร็งคล้ายปวดประจำเดือน ปวดถี่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีอาการปวดหลัง ปวดหน่วงๆ ลงช่องคลอด พร้อมกับมีมูก หรือมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด และ/หรือน้ำใสๆ คล้ายปัสสาวะไหลออกช่องคลอด หากมีอาการตามที่กล่าวมาควรรีบพบแพทย์ทันที
บทความแนะนำ 5 สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนดที่ต้องระวัง!!
การป้องกัน
แม้ภาวะปากมดลูกสั้นป้องกันไม่ได้ แต่หากคุณแม่ทราบแต่เนิ่นๆ สามารถป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ แนะนำให้คุณแม่รับการตรวจคัดกรองการวัดความยาวปากมดลูกโดยการอัลตร้าซาวน์ทางช่องคลอดตั้งแต่อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ขึ้น หากพบว่าปากมดลูกสั้นผิดปกติ ก็มีวิธีการดูแลด้วยการใช้ยาฮอร์โมน หรือการเย็บผูกปากมดลูก เพื่อพยุงให้ทารกสามารถเติบโตจนครบอายุครรภ์ 9 เดือน ซึ่งสามารถช่วยให้เด็กมีโอกาสรอดถึง 80-90% ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ขึ้นไป
หากคุณแม่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
คุณแม่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อที่จะสามารถวางแผนการดูแลรักษา โดยการให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ตั้งแต่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ และตรวจวัดความยาวปากมดลูกทุก 2 สัปดาห์ หากพบว่าสั้นกว่า 2.5 เซนติเมตร ควรทำการเย็บผูกปากมดลูก เพื่อช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
หากคุณแม่มีประวัติแท้งบุตรมาก่อน
หากคุณแม่เคยแท้งบุตรในไตรมาสสองติดต่อกัน 3 ครรภ์ก่อนหน้า จากภาวะปากมดลูกหลวม ควรทำการเย็บผูกปากมดลูกก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์
ภาวะครรภ์เสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่ตั้งครรภ์ ภาวะปากมดลูกสั้นก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงค่ะ ดั้งนั้น นอกจากการอัลตร้าซาวนด์เพื่อดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์แล้ว การอัลตร้าซาวนด์ทางช่องคลอดเพื่อวัดความยาวปากมดลูกก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่ไม่ควรมองข้ามนะคะ
ที่มา drchawtoo.com/
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!