น้ำคร่ำแห้ง ภาวะอันตราย ที่แม่ท้องควรรู้
น้ำคร่ำแห้ง แม้จะเป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่ก็เป็นภาวะอันตราย ที่คุณแม่ท้องควรทราบเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาได้ทันเวลา หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น
อันตรายจากภาวะน้ำคร่ำแห้งนั้น ก็ได้เคยมีคุณแม่ท่านหนึ่ง เข้ามาแชร์เรื่องราว ที่เธอต้องสูญเสียลูก เพราะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และน้ำคร่ำแห้งมาแล้ว ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถติดตามอ่านประสบการณ์ของคุณแม่ท่านนี้ ได้จากบทความที่อยู่ด้านล่างนี้นะครับ แต่ตอนนี้ เรามาทำความรู้จักกับภาวะน้ำคร่ำแห้งกันก่อน
ติดตาม >> แม่แชร์ สูญเสียลูกเพราะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และน้ำคร่ำแห้ง <<
น้ำคร่ำแห้ง คืออะไร
ผศ.นพ.เมธาพันธ์ กิจพรธีรานันท์ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับภาวะน้ำคร่ำแห้งเอาไว้ว่า ในการตั้งครรภ์ทั่วไปนั้น จำเป็นต้องมีน้ำคร่ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ น้ำคร่ำมีหน้าที่หลายประการ เช่น
- สร้างพื้นที่ให้ทารกได้เคลื่อนไหว
- รองรับการเติบโตของทารก
- เป็นแหล่งรวมของเสียที่ขับถ่ายจากทารก
- เป็นฉนวนป้องกันภัยให้กับทารก
- และยังสามารถใช้น้ำคร่ำในการตรวจวินิจฉัยโรคของทารกในครรภ์ เช่น ตรวจหาพันธุกรรม ตรวจหาโรคติดเชื้อ ตรวจดูความสมบูรณ์ของปอดทารก เป็นต้น
ซึ่งปริมาณน้ำคร่ำในครรภ์ จะคงอยู่ได้ก็ขึ้นอยู่กับอัตราการสร้างน้ำคร่ำ และการขจัดน้ำคร่ำ โดยความสมดุลของ 2 ขบวนการนี้ จะช่วยให้น้ำคร่ำมีปริมาณที่เหมาะสมในระหว่างตั้งครรภ์
หากมีการสร้างน้ำคร่ำน้อย และขับน้ำคร่ำออกมาก ก็จะทำให้ปริมาตรน้ำคร่ำน้อยลง เมื่อเป็นรุนแรงขึ้นจนไม่มีน้ำคร่ำเหลือ ก็จะกลายเป็นภาวะน้ำคร่ำแห้งได้
น้ำคร่ำแห้ง
แหล่งผลิตน้ำคร่ำที่สำคัญ ได้จากน้ำปัสสาวะของทารกในครรภ์ ซึ่งจะมีอัตราการสร้างสูงถึง 1000- 1200 มิลลิลิตรต่อวัน ในเด็กทารกครบกำหนด
อีกแหล่งหนึ่งคือ น้ำจากปอด ซึ่งสร้างได้วันละประมาณ 400 มิลลิลิตร น้ำจากปอดนี้ ส่วนหนึ่งจะคงอยู่ตามหลอดลม และอีกส่วนหนึ่ง จะขับออกมาทางปาก รวมเป็นน้ำคร่ำต่อไป
ส่วนการขจัดน้ำคร่ำนั้น มาจาก 2 ทาง คือ
- การกลืนน้ำคร่ำของทารกในครรภ์ สามารถขจัดได้วันละ 500-1000 มิลลิลิตร
- การซึมผ่านของน้ำคร่ำ สู่กระแสโลหิตของทารกในครรภ์ ผ่านรก ซึ่งเชื่อว่า เป็นกลไกหลัก ในขบวนการขจัดน้ำคร่ำ และช่วยรักษาสมดุล ให้มีปริมาณน้ำคร่ำที่เหมาะสมต่อไป
พบได้บ่อยแค่ไหนกับภาวะน้ำคร่ำแห้ง
ภาวะน้ำคร่ำแห้ง พบได้น้อย หรือน้อยกว่า ร้อยละ 1 ของการตั้งครรภ์
จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำคร่ำแห้ง
แม่ท้องมักจะไม่มีอาการใด ๆ ยกเว้นกรณีที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกรั่ว ซึ่งคุณแม่ท้องจะสามารถสังเกตเห็นได้ว่า มีน้ำใส ๆ ไหลออกมาทางช่องคลอด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น คล้ายน้ำเปล่า ในปริมาณมากพอสมควร และไหลออกมาซ้ำหลายครั้งเป็นระยะ ๆ
ซึ่งในรายที่ไม่มีอาการ คุณหมอสามารถตรวจพบความผิดปกติ ที่เป็นเหตุให้สงสัยว่าจะมีภาวะน้ำคร่ำน้อย หรือน้ำคร่ำแห้งได้ เช่น
- วัดขนาดยอดมดลูกได้เล็กกว่าอายุครรภ์
- คลำตัวเด็กผ่านผนังหน้าท้องได้ชัดเจนขึ้น เป็นต้น
จากนั้นคุณหมอก็จะตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อวัดปริมาณน้ำคร่ำต่อไป
หากวัดแล้ว พบว่าปริมาณน้ำคร่ำน้อยลง จะเรียกว่า ภาวะน้ำคร่ำน้อย และหากวัดแล้วไม่พบน้ำคร่ำเลย จะเรียกว่า ภาวะน้ำคร่ำแห้ง ซึ่งภาวะน้ำคร่ำแห้งนั้น จะมีความรุนแรงกว่า และมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากกว่า
ภาวะน้ำคร่ำแห้ง เกิดจากสาเหตุใด
ภาวะน้ำคร่ำแห้ง สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือแบบมีสาเหตุ และแบบไม่มีสาเหตุ
1. แบบมีสาเหตุ
สามารถแบ่งเป็นสองกลุ่มย่อยได้แก่
- สาเหตุจากทารกเอง เช่น ไตผิดปกติ หรือท่อไตอุดตัน เป็นต้น
- สาเหตุจากมารดา เช่น ภาวะขาดน้ำรุนแรง หรือมีความดันโลหิตสูง ต้องรับประทานยาลดความดันบางชนิด
แม่ท้องที่รับประทานยา Herceptin ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเต้านม จะทำน้ำคร่ำลดลงได้มาก หรือ การเสื่อมสภาพของรก ทำให้สร้างน้ำคร่ำน้อยลงได้ และที่สำคัญ ที่พบบ่อยมากขึ้น คือ ภาวะน้ำคร่ำเดินก่อนกำหนด ส่งผลให้น้ำคร่ำแห้งได้ในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยง ต่อการติดเชื้อของทารกในครรภ์ด้วย
2. แบบไม่มีสาเหตุ
ภาวะนี้พบได้น้อย มักเกิดขึ้นในช่วงใกล้คลอด ตอนที่ตรวจภายในพบว่าปกติดี แต่เมื่อตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง จะพบว่าไม่มีน้ำคร่ำเหลือเลย โดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีประวัติน้ำเดินมาก่อน ในกรณีนี้โดยทั่วไปคุณหมอจะแนะนำให้ชักนำการคลอด เพื่อป้องกันอันตรายกับทารกในครรภ์
ภาวะน้ำคร่ำแห้ง
ภาวะน้ำคร่ำแห้ง อันตรายแค่ไหน
อันตรายจากภาวะน้ำคร่ำแห้ง จะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก ได้แก่
- หากทารกมีความพิการแต่กำเนิด ของระบบทางเดินปัสสาวะ มักจะเป็นเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และต้องยุติการตั้งครรภ์ต่อไป
- หากน้ำคร่ำแห้ง จากน้ำเดินก่อนกำหนด มักให้เร่งคลอด เมื่อปอดทารกพัฒนาสมบูรณ์ดีแล้ว
- หากเป็นกลุ่มไม่มีสาเหตุ พบว่าการพยากรณ์โรคมักค่อนข้างดี เมื่อทารกคลอดแล้ว ความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านั้นก็หมดไป
ป้องกันอย่างไร ไม่ให้น้ำคร่ำแห้ง
ภาวะน้ำคร่ำแห้ง เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถวินิจฉัยให้รวดเร็วได้ ซึ่งคุณแม่ท้องควรที่จะมีการฝากครรภ์ และไปพบคุณหมอตามนัดตามอยู่เสมอ รวมทั้งควรอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอตลอดเวลา หากพบว่ามีภาวะน้ำคร่ำแห้ง ซึ่งถ้าหากว่าอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอแล้ว คุณแม่ท้องก็สบายใจได้ เพราะคุณหมอจะสามารถช่วยวินิจฉัย และรักษาได้ครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ตั้งครรภ์ ท้องเสีย ปวดท้องบิด อาการแบบนี้ส่งผลอย่างไรต่อลูกในท้อง
ตารางน้ำหนักและขนาดของทารกในครรภ์ ที่จะบอกว่าลูกในท้องแข็งแรงดีแค่ไหน
ลูกไม่ดิ้นกี่ชั่วโมงต้องไปหาหมอ ลูกดิ้นกี่ครั้งต่อวัน ลูกไม่ดิ้น อันตรายแค่ไหน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!