Top 5 ความพิการแต่กำเนิด ที่พบบ่อยในเด็กไทย
พ่อแม่ทุกคนก็อยากให้ลูกในท้อง คลอดออกมาได้อย่างแข็งแรง ปลอดภัย ร่างกายครบ 32 แต่รู้กันหรือเปล่าว่า เด็กแรกเกิดในบ้านเรานั้น มีความพิการแต่กำเนิดถึงเกือบ 3% มาดูกันดีกว่าว่า Top 5 ความพิการแต่กำเนิด ที่พบบ่อยในเด็กไทย มีอะไรบ้าง
ความพิการแต่กำเนิดมีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 3 ของทารก
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยข้อมูลจากข้อมูลการจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย ปี 2558 โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ทำการสำรวจ 49 โรงพยาบาลในพื้นที่ 41 จังหวัด จากจำนวนเด็กเกิดมีชีพ 171,401 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.27 ของเด็กแรกเกิดทั้งประเทศ พบเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด จำนวน 4,679 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.73
ความผิดปกติที่พบบ่อย 5 อันดับแรก
1. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ภาวะที่มีความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยเฉพาะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ทำให้มีเลือดดำปนอยู่ในเลือดแดงที่ไปเลี้ยงร่างกาย โรคนี้มีความแตกต่างกันไปตามด้านพยาธิสภาพ และอาการแสดง
2. ภาวะแขนขาพิการ
ความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ใน 3 เดือนแรก เช่น แม่ไม่ได้วิตามินโฟลิก หรือกินอาหารที่มีโฟเลต ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นตอนที่มีการปฏิสนธิ ซึ่งทารกจะแสดงอาการตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ แขนขาทารกอาจได้รับการพัฒนาปกติ แต่มือและเท้าขาดหายไป หรือกระดูกเชิงกรานขาดไป
3. ปากแหว่งเพดานโหว่
ความพิการของส่วนศีรษะและใบหน้า สาเหตุของโรคนี้เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม และภาวะขาดสารของแม่ในขณะที่ตั้งครรภ์ ทารกจะมีปัญหาการดูดกลืนอาหาร เจริญเติบโตช้า ระบบทางเดินหายใจ และปัญหาด้านการสื่อสาร ทั้งการพูดและภาษา นอกจากนี้ยังกระทบกับจิตใจด้วย เนื่องจากเด็กจะมีปมด้อยในการเข้าสังคมเพราะหน้าตาและการพูดไม่ปกติ
4. กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม
ความผิดปกติของโครโมโซม ในคนปกติจะมี 46 โครโมโซม แต่คนที่เป็นโรคดังกล่าวมี 47 โครโมโซม เป็นความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุดจากแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ซึ่งมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เด็กจะมีลักษณะของตาที่เฉียงขึ้นบน, ดั้งจมูกแบน, ตาห่าง, มือเท้าสั้น, กล้ามเนื้อที่อ่อนแรง และมักจะมีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดร่วมด้วย และมีพัฒนาการทางสมองล่าช้า
5. ภาวะน้ำคั่งในสมองแต่กำเนิด
มีอาการท่อน้ำเลี้ยงในสมองอุดตัน น้ำที่ส่งเข้าไปเลี้ยงในสมองไม่ดูดซึมและกลับมาไหลเวียนในร่างกายได้ เป็นเหตุให้ทารกศีรษะโต โดยน้ำได้ไปแทนที่กะโหลก ทำให้กะโหลกศีรษะยังเปิดอยู่แล้วขยายตัว บางรายเป็นโรคหลอดประสาทไม่ปิดหรือคือภาวะสมองสร้างไม่สมบูรณ์
สำหรับความพิการแต่กำเนิดอาจทำให้เกิดความพิการตลอดชีวิต หรืออาจเสียชีวิต ในระยะแรกๆ หลังคลอดได้ ทางที่ดีที่สุดคือ การป้องกัน! โดยนพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้แนะนำดังนี้
- การวางแผนครอบครัวที่ดี เช่น การค้นหาคู่สมรสที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย การมีบุตรในช่วงอายุมารดาที่เหมาะสมสามารถลดการเกิดโรคกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมได้
- การเสริมสารอาหารที่เหมาะสมในหญิงวัยเจริญพันธุ์และมารดาที่ตั้งครรภ์ เช่น การเสริมสารโฟเลตอย่างน้อย 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์สามารถลดการเกิดภาวะหลอดประสาทไม่ปิดได้
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
- ดูแลสุขภาพของมารดาที่มีโรคเรื้อรังทั้งก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น มารดาที่เป็นโรคเบาหวาน โรคลมชักที่ต้องกินยากันชักระหว่างการตั้งครรภ์ หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาสิว (Isotretinoin) ขณะตั้งครรภ์
- การตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด เพื่อค้นหาเด็กที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดและรักษาก่อนที่จะมีความพิการตามมา
แนวทางรักษาความพิการแต่กำเนิด
- การรักษาทางการแพทย์ เช่น การให้ฮอร์โมนไทรอยด์ รักษาภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด เพื่อป้องกันภาวะปัญญาอ่อน
- การรักษาด้วยการผ่าตัด ปัจจุบันมากกว่าร้อยละ 60 ของความพิการแต่กำเนิดสามารถให้การรักษาได้ด้วยการผ่าตัด เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ปากแหว่ง เพดานโหว่ เป็นต้น
- การฟื้นฟูสมรรถภาพและการดูแลรักษาแบบประคับประคอง
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และ udh.go.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
หยุดนะ!!! อย่าทำ!!! แม่ท้องหยุดทำสิ่งเหล่านี้ซะ! ถ้าไม่อยากให้ลูกพิการ
อาบน้ำทารกแรกเกิดหลังคลอดทันทีเลยดีหรือไม่?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!