อาหารเด็กชนิดไหนที่ว่าแน่ก็ต้องชิดซ้าย ก็เพราะในน้ำนมแม่มีความสมดุลของแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ลูกต้องการอย่างพอเหมาะ ไม่น้อยไป ไม่มากไป รวมทั้งสารอาหารสำคัญอย่างธาตุเหล็ก ที่เด็กวัยแรกเกิดต้องการมากกว่าวัยใด อีกทั้งธาตุเหล็กในน้ำนมแม่นั้น เด็กจะสามารถดูดซึมได้ดีกว่านมวัว หรือแม้แต่โปรตีนสำคัญอย่าง เวย์ (whey) และ เคซีน (casein) ก็มีสัดส่วนที่เหมาะสำหับทารกมากกว่านมวัว แถมนมแม่ยังมีภูมิคุ้มกัน โดยที่นมอื่นๆ ไม่มีอีกด้วย เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า นมแม่กับพัฒนาการด้านต่าง ๆ นั้น มีอะไรบ้าง
เรียกว่าหากเทียบคุณค่าทางโภชนาการหมัดต่อหมัดแล้ว อาหารของเด็กแรกเกิดไม่มีอะไรดีเท่าเทียมนมแม่แน่นอน นมแม่กับพัฒนาการด้านต่าง ๆ นั้น จะมีอะไรบ้าง เรามาเจาะลึกดูกันเลยค่ะ
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สร้างการเรียนรู้ของสมองได้อย่างไร?
ความฉลาด หมายถึง ความสามารถของสมอง (Mental capabilities) ในการใช้เหตุผล การวางแผน การแก้ไขปัญหา การคิดอย่างเฉียบแหลม การเข้าใจความคิดที่ซับซ้อน และการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว จากประสบการณ์รอบตัว รวมทั้งศักยภาพในการทําสิ่งต่าง ๆ จนประสบความสําเร็จ ซึ่งความสามารถของสมองมนุษย์ในการเรียนรู้ ถูกวัดเป็นค่าคะแนน หรือที่เรียกว่าเชาว์ปัญญา (Intellectual Quotient, IQ)
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการเจริญเติบโต และการทํางานของสมอง แม้ว่าพันธุกรรมจะเป็นตัวกําหนดความฉลาด และวงจรการเรียนรู้ แต่พบว่าทารกที่ได้รับการเลี้ยงด้วยนมแม่ จะมีคะแนนเชาว์ปัญญาสูงกว่าทารก ที่ได้รับนมผสม 7 – 10 จุด น้ํานมแม่ มีสารอาหารหลายชนิดที่จําเป็นสําหรับการสร้างเนื้อสมอง การให้ลูกดูดนมแม่จากเต้า และการโอบกอดลูกบ่อยครั้ง ยิ่งช่วยให้เส้นใยประสาทแตกแขนงอย่างรวดเร็ว และเชื่อมโยงเซลล์ประสาท ที่มีจํานวนนับล้าน ๆ ตัวเข้าด้วยกัน
ฮอร์โมน ออกซิโทซิน ที่ถูกกระตุ้นจากการดูดนมแม่ ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มการหลั่งนมแม่ แต่ยังเป็นสารกระต้นสมองของแม่ ให้เกิดความรัก ความผูกพัน ระหว่างแม่ และลูก อีกทั้งการกอด การพูดคุย และการปฏิสัมพันธ์ ระหว่างแม่ และลูกด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างมั่นคง ต่อเนื่อง และยาวนานก็จะช่วยให้สมองของลูก พัฒนาการเรียนรู้อย่างรวดเร็วตามโอกาสของการเรียนรู้ตัวอย่างเช่น การมองเห็นเต้านมของแม่ และหน้าแม่ตั้งแต่แรกเกิด ช่วยให้ตาทั้งสองข้าง ปรับการรับภาพเป็นภาพเดียวกันได้เร็วขึ้น ความสุขของลูก ที่เกิดจากเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพของแม่ จะช่วยกระตุ้นการทํางานของสมองที่เรียนรู้ และสร้างความจําในสมอง (Hippocampus และ Amygdalate) จึงเสริมสร้างพัฒนาการด้านการเรียนรู้ (Cognitive development) ในสมองของเด็ก ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร การใช้ภาษา และการใช้เหตุผล โดยพบว่าเด็กที่เลี้ยงด้วย น้ำนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน จะมีพัฒนาการสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับนมแม่อย่างเดียว หรือได้รับนมแม่น้อยกว่า 6 เดือน
พลัง…อารมณ์และจิตใจ
การให้ นมแม่ และนมวัวแก่ทารก ไม่ได้มีความแตกต่างกันที่โภชนาการเท่านั้น แต่เด็กยังได้รับการพัฒนาทางอารมณ์ และจิตใจที่ดีต่างกันด้วย คุณแม่หลายคนอาจคิดว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นคนให้นมขวดเขากับมือ อุ้มแนบอกตลอด ก็เหมือนกันกับการให้นมแม่นั่นแหละ…
ความจริงก็คือ เด็กวัยนี้เขาแยกเรื่องง่าย ๆ ออกแล้ว อย่างเปรียบเทียบหัวนมแม่ หรือจุกนมขวด ก็จะมีความนิ่ม ความอุ่น กลิ่น และการสัมผัสที่ต่างกัน เด็กจึงรู้สึกดี ปลอดภัย รัก และผูกพัน อุ่นใจกับ นมแม่ มากกว่า เพราะการให้นมแม่แต่ละครั้ง มีการโอบกอดลูกแนบอก เด็กจะได้ยินเสียงหัวใจแม่เต้น ซึ่งเป็นเสียงที่คุ้นเคย เหมือนกับตอนที่อยู่ในท้องแม่นั่นเอง ซึ่งนั่นเป็นความรู้สึก ปลอดภัย และมีความสุขใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความอบอุ่น จะถูกปลูกฝัง ไว้ในวัยแรกเริ่มของชีวิต ฉะนั้น ชีวิตในวันข้างหน้าของเด็ก ก็จะมีความมั่นคงทั้งทางอารมณ์ และจิตใจ เลี้ยงง่าย ทั้งหมดนี้ เป็นการเริ่มต้นที่ดีด้วยน้ำนมของแม่ไงยังไงล่ะคะ
พลังสมอง…ต้องพัฒนา
สมองเป็นอวัยวะที่ถูกสร้าง และพัฒนามาตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้ว เมื่อเด็กคลอดออกมา และได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม (เช่น การกอด การพูดคุย) บวกกับการกินนมแม่ สมองก็จะถูกพัฒนายิ่งขึ้นไปอีก เด็กจะมีสติปัญญาดี กว่ามากเมื่อเทียบกับ เด็กในระดับที่เท่ากัน เด็กที่กินนมวัว สมองจะพัฒนาได้ดีแต่ก็ไม่เท่ากับ เด็กที่กินนมแม่ค่ะ
นมแม่ จึงเป็นสิ่งที่ธรรมชาติคัดสรรมาแล้ว ว่าดีที่สุดสำหรับสมองของเด็กทารก เนื่องจากสารทอรีน (taurine) ซึ่งไม่มีในนมวัว แต่มีมากในนมแม่ มีส่วนช่วยพัฒนาสมองได้โดยตรง ประโยชน์ของสารนี้ช่วยให้การเจริญเติบโต ของระบบจอประสาทตา ทำให้เซลล์สมองขยายตัวได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังมีงานวิจัยจากประเทศต่างๆ อีกมากมายที่กล่าวขานว่า เด็กที่ดื่มนมแม่ใน 6 เดือนแรก จะมีเชาว์ปัญญาสมบูรณ์ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันมีนมผงมากมายหลายยี่ห้อ พยายามที่จะดัดแปลง และเติมสารนี้ ให้ใกล้เคียงกับนมแม่แล้ว แต่ก็ยังไม่เทียบเท่ากับนมของแม่แท้ ๆ ได้…
สร้างสรรค์พลังทั้งร่างกาย
นอกจากจะพัฒนาสมองให้สมบูรณ์แล้ว ร่างกายด้านต่าง ๆ ก็ยังได้รับการเรียนรู้ และพัฒนา จากการดื่มนมแม่อีกด้วย โดยเริ่มจากสัญชาตญาณของเด็ก ที่จะหัดดูดนมแม่ ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่คลอดออกมา ทั้งนี้ เด็กที่ได้ดื่มนมแม่อย่างสม่ำเสมอ จะได้รับการกระตุ้นหลายอย่างผ่านการดื่มนม เช่น
กลิ่น : เด็กจะเรียนรู้ จากกลิ่นตัวของแม่เป็นอันดับแรก ซึ่งเกิดจากการโอบกอด ให้นมลูกอย่างใกล้ชิด เด็กจะค่อย ๆ จำกลิ่นได้ ไม่ว่าแม่จะอาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ หรือว่าเพิ่งกลับมาจากทำงาน เขาจะเริ่มเรียนรู้ว่า เมื่อไรที่ได้กลิ่นแม่ ไม่ช้าเขาก็จะได้กินนม หรือจะมาอุ้มเขาเล่นนั่นเอง
ช่องปาก : ปากอันบางจิ๋วของเจ้าหนู จะรู้จักขยับริมฝีปาก เพื่อค้นหาหัวนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด และเมื่อได้ดื่มนมแม่ ริมฝีปาก เพดาน ลิ้น ช่องปากก็จะเริ่มทำงาน หัดดูด กลืนน้ำนมโดยอัตโนมัติ เคยมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่มาตั้งแต่เกิด มีภาวะเสี่ยงที่เด็กจะอมนิ้วมือ จนติดเป็นนิสัยมากกว่าเด็กที่ได้ดื่มนมแม่
สายตา : ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่า การให้นมแม่จะฝึกสายตาลูกได้อย่างไร เอาน่า…จะเฉลยให้ฟัง พัฒนาการของลูกวัย 3 เดือนแรก จะชอบมองสีที่ตัดกันมาก ๆ อย่างสีขาว และสีดำ ซึ่งดวงตาของคุณแม่ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แถมยังกระพริบได้อีกด้วย เจ้าหนูก็เลยมีสมาธิจ้องมองใหญ่ ฝึกพัฒนาการทางสายตา ขณะที่ดื่มนมแม่ค่ะ
กล้ามเนื้อแขน ขา : นอกจากสารอาหารที่ได้รับผ่านน้ำนมของแม่ ที่มีผลกับกล้ามเนื้อที่สมบูรณ์แล้ว การรที่เด็กดื่มนมแม่แล้ว สามารถใช้กล้ามเนื้อได้ดีกว่าเด็กที่ดื่มนมวัวนั้น เป็นเพราะการได้โภชนาการที่ถูกสัดส่วน รวมทั้งการเอื้อมแขนจับ และเล่นกับแม่เวลาที่ให้นมอย่างใกล้ชิด จึงทำให้การเคลื่อนไหวของลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นทุกวัน
การย่อยอาหาร : ระบบการย่อยอาหารของเด็กวัยแรกเกิดนี้ ยังพัฒนาไม่ได้เต็มที่ จะรับนมที่ปรุงแต่งเยอะ ๆ ไม่ได้ แต่นมแม่ กลับมีคุณสมบัติย่อยง่าย เพราะมีสารช่วยย่อย ทำให้ลูกสบายท้อง สอดคล้องเข้ากับร่างกายของลูกได้เป็นอย่างดี อีกอย่างหนึ่ง นมแม่ทำให้พัฒนาการด้านการย่อยอาหารของเขา ไม่เสียสมดุลด้วยค่ะ
อธิบายกันมาขนาดนี้แล้ว เชื่อหรือยังคะว่า นมแม่มีคุณค่าต่อพัฒนาการเจ้าหนูน้อยมาก จึงไม่อยากให้โอกาสทองช่วงปีแรกนี้หลุดลอยไป แต่หากคุณแม่คนไหน มีเหตุจำเป็นไม่สามารถอยู่บ้านให้นมลูกได้ ก็สามารถปั๊มนมแม่เก็บแช่ตู้เย็นไว้ พยายามให้ลูกได้กินนมของเราให้ได้มากที่สุด อย่าเพิ่งท้อนะ เพราะว่าเราเอาใจช่วยคุณอยู่ค่ะ…
ที่มา :
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!