หลังคลอดลูกน้อย อาจเป็นช่วงที่ร่างกายของลูกยังไม่แข็งแรง และคุณแม่ก็ยังไม่สามารถพาลูกออกไปทำกิจกรรมได้ คุณแม่ส่วนใหญ่อาจสงสัยว่าหลังคลอด ทารกออกนอกบ้าน กี่เดือน จะพาลูกออกไปต่างจังหวัดหรือเดินห้างได้ตอนไหน และมีเรื่องอะไรที่ควรระวังบ้าง บทความนี้จะพาไปดูกันค่ะ
เพราะอะไรจึงไม่ควรพาลูกเล็ก ๆ ออกจากบ้าน?
โดยปกติแล้วทารกวัยแรกเกิดถึง 3 เดือน จัดว่าเป็นวัยที่ยังเล็กมาก ระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ยังทำงานได้ไม่ดี เมื่อมีการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่ได้เกิดอาการหรืออันตรายใด ๆ ในผู้ใหญ่ ก็อาจทำให้ทารกน้อยเกิดอาการอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ อีกทั้งในช่วงวัยนี้อาจยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือหากฉีดแล้วเพียงแค่เข็มแรกก็อาจจะยังไม่ได้มีภูมิต้านทานที่ดีมากพอที่จะใช้ต่อสู้กับเชื้อโรค หากมีการติดเชื้อบางชนิดอาจจะทำให้เกิดมีอาการรุนแรงหรือมีการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือติดเชื้อในระบบประสาทได้ โดยเฉพาะในช่วงทารกแรกเกิดถึง 1 เดือนซึ่งมีโอกาสติดเชื้ออย่างรุนแรงได้ง่าย จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษค่ะ
พาลูกออกนอกบ้านได้ตอนกี่เดือน?
ไม่ได้มีตัวเลขที่ระบุอย่างชัดเจนว่าทารกอายุกว่าน้อยกว่าเท่าใดจึงจะห้ามออกจากบ้านหรือเดินทางค่ะ เพราะทารกที่ยังอายุน้อย เช่น แรกเกิดถึง 3 เดือน ก็ยิ่งมีภูมิคุ้มกันที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ในขณะเดียวกัน แม้ว่าทารกจะอายุมากขึ้น เช่น หลังจากอายุ 6 เดือน ก็อาจจะมีการติดเชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เพราะภูมิต้านทานที่ได้จากคุณแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จะหมดไปหลังอายุ 6 เดือน ทารกจึงต้องพึ่งพาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในร่างกายด้วยตนเอง วัคซีนที่ได้รับ ร่วมกับภูมิคุ้มกันที่ได้จากการทานนมแม่
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 เรื่องที่แม่ลูกอ่อนควรเตรียมก่อนพาทารกออกนอกบ้านเที่ยวแบบไร้กังวล
พาลูกน้อยออกไปรับแสงแดดได้ไหม?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า คุณแม่ไม่ควรพาทารกที่อายุยังน้อยออกนอกบ้านนะคะ ยิ่งเด็กแรกเกิดจนถึง 6 เดือน ไม่ควรเจอแดดอย่างยิ่ง เพราะผิวเด็กยังบอบบางเกินไปที่จะสัมผัสกับแสงแดด และอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อย หากจำเป็นต้องพาลูกไปโดนแดดจริง ๆ ควรหาอะไรกันแสงแดดให้ลูกด้วย เช่น รถเข็นก็ควรปิดที่กั้น กระจกรถก็ควรติดฟิล์มกันแสง หรือพาลูกอยู่ในที่ร่ม เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็จะช่วยป้องกันอันตรายจะแสงแดดได้ค่ะ
วิธีป้องกันอันตรายเมื่อพ่อแม่พาทารกออกนอกบ้าน
- ทางที่ดี ไม่ว่าลูกน้อยจะอายุเท่าใด ก็ไม่ควรพาไปในสถานที่ชุมชนคนเยอะ เช่น ศูนย์การค้า หรือบริเวณมีคนที่ไม่สบายอยู่
- แม้แต่การไปโรงพยาบาล ก็ไม่ควรจะไปโดยไม่จำเป็น
- แต่หากจำเป็นต้องเดินทางออกจากบ้านไปในที่ไม่ได้มีคนเยอะ อากาศปลอดโปร่งถ่ายเทได้ดี ไม่ค่อยมีใครที่เจ็บป่วย
- และเดินทางด้วยรถส่วนตัวก็จะลดโอกาสในการติดเชื้อโรคลงได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงสามารถพาลูกน้อยเดินทางออกจากบ้านได้ หากไปในสถานที่ ที่เหมาะสม ไม่ได้แออัด นะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เตรียมอุปกรณ์ก่อนพาลูกออกนอกบ้าน ขั้นตอนง่าย ๆ ที่แม่ลูกอ่อนต้องรู้!
เมื่อพาลูกออกนอกบ้านจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างไร?
เนื่องจากเมื่อลูกไปในสถานที่ชุมชนคนเยอะก็อาจจะมีโอกาสติดเชื้อ ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อโรคในระบบทางเดินหายใจ เกิดขึ้นจากการที่ทารกได้รับเชื้อซึ่งจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย
- หากจะพาลูกออกไปข้างนอกก็ควรเลือกสถานที่ที่ปลอดโปร่ง คนไม่เยอะ ไม่แออัด
- ไม่ให้ใครมาใกล้ชิดกับทารกน้อยโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะคนที่ป่วยอยู่
- คอยดูแลทารกไม่ให้เอามือหรือสิ่งของต่าง ๆ เข้าปาก
- ล้างมือให้ทารกบ่อย ๆ
- คุณพ่อคุณแม่เองก็ควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสทารกโดยเฉพาะเมื่อไปอยู่ในสถานที่อันอาจมีการติดเชื้อได้ง่าย
- สวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นที่เพียงพอแก่ทารก
ทั้งนี้ ไม่ควรลืมสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารก คือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการฉีดวัคซีนให้ครบตามวัยนะคะ
เพิ่มความปลอดให้ลูกน้อยด้วยคาร์ซีท
สำหรับคุณแม่ที่ต้องการป้องกันลูกน้อยจากการติดเชื้อ สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวได้ โดยควรเตรียมคาร์ซีทเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของลูกน้อย เพราะคาร์ซีทมีความจำเป็นอย่างมาก ยิ่งกับทารกแรกเกิดนั้น ควรนั่งคาร์ซีททุกครั้งที่เดินทางด้วยรถยนต์ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และกระดูกต้นคอหักจากแรงกระแทก
ทั้งนี้ คาร์ซีทที่คุณแม่เลือกซื้อนั้น ควรเลือกคาร์ซีทที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และมีความแข็งแรงทนทาน รวมทั้งต้องโอบรับศีรษะของลูกน้อยได้พอดี นอกจากนี้ คุณแม่ควรปรับตำแหน่งของสายคาดนิรภัยให้พอดีกับตัวของลูก เพื่อกระจายแรงกระแทกและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ซึ่งตำแหน่งเข็มขัดนิรภัยที่เหมาะสมนั้น คือ การพาดเฉียงไหล่ โดยต้องอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางของไหล่ด้านที่สายคาด ห้ามพลาดบนคอเด็กและสะโพกเด็กนะคะ ไม่เช่นนั้นอาจรัดลูกน้อยได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กแรกเกิดนั่งคาร์ซีท ได้ไหม วิธีติดตั้งคาร์ซีทที่ถูกต้อง สำหรับทารกจวบจนเด็กโต
หากต้องพาลูกเดินทางไกลควรเตรียมยาอะไรบ้าง?
คุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมกระเป๋ายาเบื้องต้นเพื่อเตรียมตัวหากลูกน้อยมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ยาที่ควรเตรียมไปได้แก่
- ยาแก้ปวดลดไข้ Paracetamol
- ยาบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
- น้ำเกลือแร่ซอง ORS
- ยาแก้แพ้ Antihistamine สำหรับผื่นคัน
- ยา Steroid สำหรับทาแก้ผื่นแพ้
- ยาปฏิชีวนะแบบที่ใช้ทา
- และอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น พลาสเตอร์ยา สำลี ตามแต่สถานที่และกิจกรรมที่ต้องไปค่ะ
หากลูกมีโรคประจำตัวควรปรึกษาคุณหมอก่อนการเดินทางไกล เพื่อเตรียมยาที่จำเป็นสำหรับโรคประจำตัว ติดไปด้วยเสมอนะคะ
รู้กันไปแล้วว่าควรพา ทารกออกนอกบ้าน กี่เดือน สุดท้ายนี้ขอเอาใจช่วยให้คุณแม่คุณพ่อทุกท่านพาลูกน้อยออกจากบ้าน ไปท่องเที่ยว หรือทำธุระต่าง ๆ ตามความเหมาะสม อย่างระมัดระวัง รวมถึงเดินทางโดยปลอดภัย และปราศจากโรคภัยใด ๆ ทั้งครอบครัวนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พาลูกนั่งรถยนต์ เดินทางไกล ควรให้ลูกนั่งคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัย
เที่ยวนอกบ้าน “ทารกเครียด” ได้นะ เดินทางกับทารกยังไง ให้ไร้ความเครียด
การป้องกัน อุบัติเหตุในเด็กเล็ก ที่พ่อแม่ควรรู้ ช่วง 1-12 เดือน ต้องระวังอะไรบ้าง
ที่มา : caringmybabies, enfababy
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!