คุยกับลูกโดยใช้คำถามปลายเปิด ช่วยพัฒนาความคิด
International Parenting Network (IPN) ได้จัดพูดคุยกันเรื่องการคุยกับลูกด้วยคำถามแบบเปิด เพื่อช่วยพัฒนาความคิดเด็กโดยเจสัน เพอร์กินส์ (Jason Perkins) ครูสอนวิชา History and Theory of Knowledge จากโรงเรียนนานาชาติเซ็นต์แอนด์ดรู เรามาลองดูว่าครูนานาชาติเขาสอนเด็กกันยังไงบ้าง พ่อแม่อย่างเราก็จะได้ปรับใช้ตามไปด้วย
เด็กไทยมีปัญหาเรื่องความสามารถในการวิเคราะห์ และหลายคนตอบคำถามแบบเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ พูดไม่รู้เรื่อง เข้าใจอะไรได้ยาก และตีความสิ่งที่พบเจอ สิ่งที่อ่านหรือฟังไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น
- สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม การเรียนรู้ที่ไม่ได้สนับสนุนการคิดแบบวิเคราะห์ เพราะได้แต่ท่องจำหรือทำสิ่งที่ง่าย ๆ เช่นการทำข้อสอบแบบกากบาท
- จากสไตล์การสอนลูกของพ่อแม่ ที่เอาแต่สั่ง ไม่ให้โอกาสเด็กถามคำถามหรือแสดงความคิด
- เด็กอาจจะเป็นคนที่ไม่อยากแชร์ความคิดหรือความรู้สึก หรืออาจจะรู้สึกไม่มั่นใจ
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ เพราะพ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางความคิดลูกได้ โดยการถามคำถามแบบเปิด ซึ่งก็หมายถึงคำถามที่ผู้ตอบ ตอบได้อย่างอิสระ ไม่กำหนดคำตอบตายตัว ส่วนคำถามแบบปิดคือคำถามที่มีคำตอบชัดเจน เช่น ใช่หรือไม่ใช่
การถามแบบเปิดจะทำให้ลูกได้คิดเองก่อนตอบ และทำให้เราถามคำถามต่อไปได้ลึกกว่าเดิมและรู้ว่าลูกมีวิธีคิดยังไงด้วย เด็กเป็นคนชอบคิดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว อย่าหยุดจินตนาการของเด็กโดยการใส่กรอบ เราอาจะเริ่มเกริ่นด้วยคำถามปิดก่อน เพื่อให้ลูกคุยกับคุณง่าย ๆ เช่นถามลูกว่าไปโรงเรียนสนุกมั้ย แล้วค่อยถามว่าสนุกหรือไม่สนุกยังไง หรือคุณอาจจะถามความเห็นลูกว่าใช่ไม่ใช่ก่อน แล้วค่อยถามว่า ลูกคิดว่ามันใช่/ไม่ใช่ยังไง/ เพราะอะไร
ในฐานะพ่อแม่ที่สนับสนุนพัฒนาความคิดของลูก หลายครั้งคำตอบของเด็กอาจจะฟังน่าเบื่อสำหรับคุณ แต่คุณก็ต้องทำให้ลูกรู้ว่าคุณฟังอยู่และสิ่งที่ลูกพูดน่าสนใจ เช่น พูดว่าอืม อ๋อหรอ จริงหรอ แล้วไงต่อลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกอยากคุยกับคุณต่อไป บางทีเด็กอาจต้องใช้เวลาคิดก่อนตอบซักหน่อย ก็รอลูกซัก 3-10 วินาที ใจเย็น ๆ นอกจากนี้ถ้าลูกยังเล็กหรือเราเพิ่งเริ่มถามคำถามแบบเปิด คุณอาจต้องถามซ้ำอีก ถามใหม่ หรือถามให้สั้นลงโดยเปลี่ยนคำให้ลูกตอบง่ายขึ้น แต่ก็อย่ากดดันลูกเกินไป น้ำเสียงของพ่อแม่ก็สำคัญเช่นกัน
เจสันบอกว่าเด็ก 2-11 ขวบจะเรียนรู้ได้เร็วมาก และพร้อมจะรับทุกอย่าง คุณส่งเสริมลูกได้ง่าย ๆ เช่น หลังจากเล่านิทานก่อนนอนให้ฟัง ก็ถามลูกว่าลูกคิดยังไงกับเรื่องนี้ ลูกว่าเรื่องนี้มันจบแบบอื่นได้มั้ย ได้ยังไง รู้มั้ยทำไมหมาป่า (หรือตัวละครในนิทาน) ถึงทำ…. หรือ เกิดอะไรขึ้นกับ…. แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะ ทั้งนี้ คำถามที่ถามก็ขึ้นอยู่กับอายุลูกด้วย สำหรับเด็กเล็ก คุณอาจจะแค่ถามว่าใครทำอะไร คำถามว่าเพราะอะไรหรือยังไงจะเหมาะกับเด็กที่โตกว่า
ถ้าเราเลี้ยงลูกแบบสั่งคำสั่งเสมอ หรือห้ามเด็กตอบคำถามหรือพูดบ่อย ๆ เด็กจะคิดไม่เป็น วิเคราะห์ไม่เป็น และไม่กล้าเถียง หากการเปิดให้ลูกพูดได้เยอะทำให้เด็กมีนิสัยชอบพูดแทรกผู้ใหญ่ เราก็สามารถถามลูกแบบให้เขาคิดได้เอง เช่น ลูกคิดว่าคนที่เขากำลังพูดจะรู้สึกยังไง ถ้ามีคนพูดแทรก (น้ำเสียงพ่อแม่ต้องถามแบบนิ่มนวลไม่ใช่กำลังติลูกอยู่) หรือถ้าเด็กชอบถามคำถามในห้องเรียนเยอะมากจนทำให้คนอื่นไม่ได้ถาม ครูก็อาจจะบอกเด็กคนนั้นว่าขอบใจนะที่หนูตั้งคำถาม แต่ครูว่าให้เพื่อนคนอื่นถามบ้างดีมั้ย หนูว่าฟังคำถามเพื่อนบ้างจะดีมั้ย
เราอาจจะบอกว่าเมื่อก่อนเราเรียนรู้แบบรับคำสั่งมาโดยตลอด ไม่ค่อยได้คิดเองเรายังพัฒนาความคิดของเราได้ แต่ความเป็นจริงเราต้องปรับตัวตามโลกนี้ และเด็กสมัยนี้ก็ต้องพบกับความท้าทายและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรจะเตรียมลูกให้พร้อม การตั้งคำถามแบบเปิดนอกจากจะดีกับลูกแล้ว ยังช่วยให้พ่อแม่เรียนรู้และคิดได้กว้างขึ้นด้วย ก็อย่างที่เขาบอกแหละ การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด
เจสัน เพอร์กินส์ ผู้บรรยาย
เจสัน เพอร์กินส์ เป็นครูสอนวิชา History and Theory of Knowledge จากโรงเรียนนานาชาติเซ็นต์แอนด์ดรู มีประสบการณ์การสอนมา 5 ปี รวมทั้งการอบรมนักเรียน ครู และผู้ปกครอง จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้าน Leadership and Innovation
พ่อแม่ที่อยากหาเครือข่ายผู้ปกครอง เพื่อช่วยพัฒนาการเลี้ยงลูกของตัวเองและพบปะพ่อแม่คนอื่น ๆ สามารถเข้าไปหากิจกรรมและเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับ International Parenting Network (IPN) ได้ที่ ipnthailand.com
บทความใกล้เคียง: 7 วิธีการเรียนรู้ของเด็ก
บทความแนะนำ: ลูกมีพัฒนาการทางอารมณ์เป็นปกติหรือไม่
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!