คาร์ซีทจำเป็นไหม ความสําคัญของคาร์ซีท คุ้มค่าแก่การลงทุนหรือไม่ มาดูประสบการณ์ครอบครัวนี้ แล้วพ่อแม่จะเข้าใจว่า ทำไมต้องซื้อคาร์ซีทราคาแพง คุณภาพดี พร้อมวิธีฝึกลูกนั่งคาร์ซีท ให้ทารก เด็กเล็ก ปลอดภัย
เมื่อรถคันอื่นนำภัยมาให้เราเพจคุณแม่มือใหม่ ได้โพสต์ประสบการณ์สำหรับทุกครอบครัว จากคุณแม่ Lisa Bedino ไว้ว่า อยากมาแชร์ประสบการณ์สำหรับครอบครัวที่มีเด็ก ๆ นะคะ ต่อให้เราระวังภัยแค่ไหน ถ้าคนอื่นนำภัยมาให้ เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราป้องกันเบื้องต้นได้ค่ะ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 ครอบครัวเราได้รับอุบัติเหตุทางถนน โดยที่รถกระบะชนท้ายรถเก๋งสีขาว ทำให้เก๋งสีขาวพุ่งชนใส่รถเราอย่างแรง (รถเราคันสีดำ)
ความสําคัญของคาร์ซีท
ในรถมีลูกสาวอายุ 3.8 ขวบ ลูกชายอายุ 8 เดือนอยู่ด้วย โชคดีมากที่เด็ก ๆ นั่งคาร์ซีท คนพี่แค่หัวโขกและโนนิดหน่อย คนน้องคาร์ซีทหลุดออกจากสายรัดเข็มขัดของรถ แต่น้องก็ยังปลอดภัย ตัวไม่หลุดออกจากคาร์ซีท อยากให้ทุก ๆ บ้านเห็นประโยชน์ของคาร์ซีทนะคะ เด็ก ๆ ไม่ยอมนั่งก็จับนั่งเถอะค่ะ บ้านไหนที่ลูกไม่ยอมนั่ง เดี๋ยวคราวหน้าเราจะมาแชร์ประสบการณ์การฝึกลูกที่ต่อต้านการนั่งคาร์ซีทให้ค่ะ เราถือว่าโชคดีด้วยที่ลูกปลอดภัย แต่เราคงไม่โชคดีขนาดนี้ถ้าเราไม่ให้ลูกนั่งคาร์ซีท คาร์ซีทไม่ได้แพงถึงขั้นเราซื้อไม่ได้นะคะ แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นมากับลูก ต่อให้มีเงินมากแค่ไหนก็ซื้อพวกเขากลับคืนมาไม่ได้ค่ะ
ความสําคัญของคาร์ซีท
แม่ ๆ รู้ไหม การไม่ใช้คาร์ซีทคือสาเหตุหนึ่งที่เด็กไทยเสียชีวิตบนท้องถนน ทุกครอบครัวควรฝึกลูกให้คุ้นเคยกับคาร์ซีทตั้งแต่เล็ก ๆ โดยจำเป็นต้องติดตั้งคาร์ซีทอย่างถูกวิธีด้วยฝีมือของผู้เชี่ยวชาญ
วิธีติดคาร์ซีท
วิธีติดคาร์ซีทจะขึ้นอยู่กับช่วงวัยของทารกเป็นสำคัญ รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน อธิบายว่า การเลือกใช้ car seat จะขึ้นอยู่กับอายุและน้ำหนักตัวของเด็กเป็นหลัก ดังนี้ค่ะ
ความสําคัญของคาร์ซีท
-
ทารกแรกเกิด จนถึงอย่างน้อยอายุ 2-4 ปี
ควรใช้ car seat สำหรับเด็กเล็กเป็นที่นั่งแบบปรับให้หันหน้าไปด้านหลังรถ (Rear-facing car seat) เดิม car seat แบบนี้ แนะนำให้ใช้จนถึงอายุ 2 ปี แต่ในการศึกษาวิจัยในปัจจุบันแนะนำให้เด็กนั่ง car seat แบบหันหน้าไปด้านหลังรถให้นานที่สุดจนกว่าอายุ 4 ปีหรือตัวโตจนความสูงเกินขนาดของ car seat ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสเกิดการหักของกระดูกต้นคอหากเกิดอุบัติเหตุรุนแรง
ความสําคัญของคาร์ซีท
-
เด็กอายุ 2-3 ปี จนถึง 4-7 ปี
สามารถใช้ car seat เป็นที่นั่งแบบหันมาด้านหน้าตามปกติ (Forward-facing car seat) โดยมีขนาดที่ครอบคลุมทั้งลำตัวและศีรษะเด็ก โดยมีสายรัดลำตัว เป็นเข็มขัดนิรภัยแบบ 5 จุดติดตั้งมาพร้อมที่นั่ง ยึดติดกับรถด้วยเข็มขัดนิรภัยของรถยนต์
-
เด็กอายุ 4-7 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี
ควรใช้ car seat แบบ เป็นที่นั่งแบบหันมาด้านหน้าเช่นเดิม จนกว่าจะโตจนความสูงเกินขนาดของ car seat หรือ น้ำหนักตัวมากกว่า 18 กิโลกรัม ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ที่นั่งแบบหันไปด้านหน้า ไม่มีสายรัดติดตั้งมากับที่นั่ง (Belt-positioning booster seat) เพื่อเสริมความสูงให้กับเด็กและปรับตำแหน่งเข็มขัดนิรภัยของรถให้พอดีกับลำตัวเด็ก
หรือนํ้าหนักมากกว่า 28 กก. สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยปรกติที่มีใน รถยนต์ได้ โดยไม่ต้องใช้ booster seat ทั้งนี้เมื่อคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วสายคาดควรอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่เด็ก
บทความที่น่าสนใจ : คาร์ซีท ใช้ตอนกี่เดือน ทารกแรกเกิดนั่ง Car Seat ได้ไหม
วิธีฝึกลูกนั่งคาร์ซีท ให้ทารก เด็กเล็ก ปลอดภัย
เพจหมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก ได้โพสต์ “รับมือลูกไม่นั่ง car seat” ไว้ว่า
ฝึกลูกนั่งคาร์ซีท
1. หมั่นมีกิจกรรมให้ลูกติดใจเสียงเราบ่อยๆ เช่น ร้องเพลงร่วมกัน เล่านิทานด้วยเสียงที่น่าสนใจของเรา เพราะช่วงเวลาที่เราขับรถ มือเราไม่ว่าง แต่ปากเรายังสามารถทำงานได้! เพื่อดึงเวลาให้ลูกจดจ่อกับเรามากกว่าตั้งหน้าตั้งตาร้องไห้อย่างเดียว
2. ก่อนขึ้นรถควรให้ลูกมีความรู้สึกว่า “สามารถควบคุม” ได้บ้าง เช่น ให้ลูกเลือกของเล่น และหยิบของเล่นใส่ถุงเล็กๆ เพื่อไว้เล่นในรถ หรืออาจเป็นเลือกของทานเล่น (ที่มีประโยชน์) กับของเล่นบางอย่าง ไปเพลิดเพลินในรถหรือบางบ้านที่เดินทางไกลและเด็กอายุมากกว่า 2 ปีที่ระยะเวลาการดูทีวียังไม่เกินกำหนดก็จะให้เลือกเรื่องที่จะดูในรถได้ (แต่ข้อนี้ต้องระวังการติดทีวีด้วย)
3. การพูดคุยกับลูกช่วงนี้ ไม่ใช่การติดสินบน ไม่ใช่ลูกร้องแล้วส่ง IPAD ให้ดู หรือลูกร้องแล้วบอกว่า “จะได้กินไอติมเมื่อไปถึงที่หมาย” ความต่างอยู่ที่ว่า เราเป็นคนนำเสนอก่อนที่ลูกจะร้องโวยวาย มักเกิดขึ้นก่อนขึ้นรถ และเป็นข้อเสนอที่เราพิจารณาแล้วว่า เหมาะกับวัย ไม่ติดของ
4. หากลูกร้อง ดิ้น ไม่ยอมแม้แต่จะเข้ามานั่งใน car seat เราจำต้องจับตัวลูกให้แน่น ๆ เพื่อพาลงที่นั่ง ใช้เสียงที่นุ่มนวลและหนักแน่น
บอกลูกว่า “แม่ต้องอุ้มหนูแน่นๆ จะได้เอาตัวหนูลง car seat, นั่งในนี้หนูจะปลอดภัย”
สิ่งสำคัญมากคือ แรงที่เราอุ้มลูกและเสียงที่เราพูด จะต้องสื่อถึงความอ่อนโยนแต่จริงจัง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นหงุดหงิด และกระชากตัวกันไป….ไม่ต้องห่วงเรื่องลูกฟังไม่เข้าใจ แม้จะอายุ 1 ปี เพราะเขาจับน้ำเสียงของเราได้ ความสม่ำเสมอของทั้ง 4 ข้อที่ทำจะทำให้เขาเข้าใจได้ในที่สุด
จากข่าวคราวเรื่องอุบัติเหตุที่ผ่าน ๆ มา เป็นตัวอย่างที่ดี ตอบคำถามได้ว่า คาร์ซีทจำเป็นไหม เพราะมันไม่คุ้มเลยถ้าต้องแลกกับการสูญเสียลูกไป พ่อแม่จึงต้องใส่ใจ เลือกซื้อคาร์ซีทที่ได้มาตรฐาน ติดตั้งคาร์ซีทอย่างถูกวิธี และฝึกลูกนั่งคาร์ซีทตั้งแต่เล็ก ๆ เพื่อความปลอดภัยนะคะ
ช่วงแรก ๆ เจ้าตัวน้อย อาจจะไม่ยินยอม ร้องกระจองงอแง แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็ง ค่อย ๆ ฝึกลูกนั่งคาร์ซีทไป อย่าโมโห สงบสติอารมณ์ และเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับลูก เมื่อลูกเริ่มคุ้นเคยแล้ว การได้นั่งคาร์ซีทชมวิวระหว่างทาง ก็จะกลายเป็นความทรงจำดี ๆ ของครอบครัวได้ค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
เตือนภัย! อุบัติเหตุคาร์ซีทกับรถเข็นช้อปปิ้งไถลตกฟุตบาธ
โรคฮีน็อคในเด็ก อย่าคิดว่าแค่ผื่นธรรมดา..อันตรายหากถึงมือหมอช้า
ของใช้ทารก ใช้ให้ลูกน้อย ต้องระวัง ใช้เกินอายุปิดกั้นพัฒนาการ ลูกเสี่ยงเสียชีวิต
รถชนยับขนาดนี้ ลูกวัย 10 เดือนนั่งคาร์ซีทจะเป็นยังไง พ่อขอเล่าเหตุการณ์ระทึก!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!