ครรภ์แฝดน้ำถือเป็นอีกหนึ่งภาวะอันตรายที่แม่ท้องต้องระวัง ยิ่งคุณแม่ที่มีอายุครรภ์มาก ร่างกายจะเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง และอาจมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มากขึ้นได้ ในบางกรณีแม่ท้องสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะหากคุณแม่รู้สึกว่า ท้องมีขนาดใหญ่มากกว่าอายุครรภ์ที่ควรจะเป็น หรือมีอาการอึดอัดหายใจไม่ออก นอนราบไม่ได้ นั่นก็อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณแม่ อาจมีภาวะ ครรภ์แฝดน้ำ นั่นเอง
ครรภ์แฝดน้ำ คืออะไร ?
ครรภ์แฝดน้ำหรือครรภ์มานน้ำ เป็นอาการผิดปกติอีกหนึ่งอย่างในระหว่างการตั้งครรภ์ เกิดจากมีปริมาณน้ำคร่ำที่มากผิดปกติ ซึ่งในคุณแม่บางรายอาจไม่มีอาการที่แสดงออกอย่างชัดเจน เพราะมีปริมาณน้ำคร่ำเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ กว่าจะรู้ตัวก็มีปริมาณน้ำคร่ำมากผิดปกติไปแล้ว โดยอาการลักษณะนี้เรียกว่าครรภ์แฝดน้ำแบบเรื้อรัง แต่ในบางกรณีก็มีอาการแสดงออกอย่างรุนแรง สังเกตได้จากปริมาณน้ำคร่ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใน 2-3 วัน ในช่วง 4-5 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเราจะเรียกอาการนี้ว่าครรภ์แฝดน้ำแบบฉับพลัน ทำให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนด
ผลกระทบจาก ภาวะครรภ์แฝดน้ำ
1. ผลกระทบต่อคุณแม่
นอกเหนือจากอาการท้องโต หายใจไม่สะดวก นอนราบไม่ได้ มดลูกขยายใหญ่มากเกินไป ก็มีส่วนทำให้ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนดได้เช่นกัน ซึ่งส่งผลให้มดลูกบีบตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้รกลอกตัวก่อนเวลาอันควร เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด แถมยังเสี่ยงต่ออาการตกเลือดหลังคลอดได้อีกด้วย
2. ผลกระทบต่อทารก
เนื่องจากขนาดของมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีน้ำคร่ำปริมาณมาก ทำให้ทารกมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวค่อนข้างมาก จึงทำให้ทารกสามารถเคลื่อนที่ไปมาอยู่ในท่าทางไม่คงที่ หรือท่าที่ผิดปกติไม่พร้อมสำหรับการคลอด เช่น อยู่ในท่าก้น ท่าขวาง ซึ่งส่งผลให้แพทย์ต้องตัดสินใจทำการผ่าคลอด
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท่าทารกในการคลอด หลากหลายวิธีการคลอดสำหรับแม่และทารกในครรภ์
น้ำคร่ำมากผิดปกติ สาเหตุเกิดจากอะไร?
ภาวะน้ำคร่ำมากผิดปกติ มีหลายสาเหตุ
- ความผิดปกติของคุณแม่ (พบได้ร้อยละ 20) คุณแม่เป็นเบาหวานแล้วควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี คุณแม่มักจะมีอาการปัสสาวะบ่อย ลูกน้อยในครรภ์ก็เช่นเดียวกัน เมื่อลูกปัสสาวะบ่อย ก็ทำให้ปริมาณน้ำคร่ำมากขึ้น
- ความผิดปกติของทารก (พบได้ร้อยละ 20) เช่น โครโมโซมผิดปกติ พิการทางสมอง ลำไส้อุดตัน ความผิดปกติของหัวใจ ก้อนเนื้องอก เด็กบวมน้ำ เป็นต้น
- ความผิดปกติของรก เช่น เนื้องอกที่รกบางแบบทำให้มีการสร้างน้ำคร่ำเพิ่มได้
- ครรภ์แฝดชนิดไข่ใบเดียวกัน (พบได้ร้อยละ 7) กรณีที่ทารกในครรภ์แฝดมีการถ่ายเลือดให้กัน ก็อาจมีน้ำคร่ำมากผิดปกติได้
- ไม่ทราบสาเหตุ เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุด (เกิดได้ร้อยละ 60) จึงอาจเป็นความแปรปรวนของครรภ์ปกติ เนื่องจาก ตรวจไม่พบความผิดปกติของคุณแม่และทารกที่อาจเป็นสาเหตุครรภ์แฝดน้ำ ครรภ์แฝดน้ำในกลุ่มนี้มักไม่รุนแรงมาก คือระดับน้อยถึงปานกลาง
ปริมาณน้ำคร่ำ ควรมีเท่าไหร่?
ปริมาณของน้ำคร่ำ แตกต่างกันออกไปตามอายุครรภ์ คือ
- อายุครรภ์อยู่ที่ 6 สัปดาห์ มีน้ำคร่ำ 8 มล.
- อายุครรภ์ช่วง 12 สัปดาห์ มีน้ำคร่ำ 50-80 มล.
- อายุครรภ์ประมาณ 16 สัปดาห์ มีน้ำคร่ำ 200 มล.
- อายุครรภ์ครบ 20 สัปดาห์ มีน้ำคร่ำ 400 มล.
- อายุครรภ์ 36-38 สัปดาห์ มีน้ำคร่ำ 1,000 มล.
- อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ มีน้ำคร่ำน้อยกว่า 1,000 มล. เล็กน้อย
- หลัง 42 สัปดาห์ ปริมาณน้ำคร่ำลดลงเรื่อย ๆ อาจจะพบเพียง 200-300 มล.
น้ำคร่ำมากผิดปกติ มีอาการอย่างไร?
คุณแม่อาจสังเกตจากการที่ท้องใหญ่กว่าอายุครรภ์ และรู้สึกว่าท้องโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หายใจอึดอัด นอนราบไม่ได้ เมื่อคุณหมอสงสัยก็จะทำการตรวจยืนยันด้วยการอัลตราซาวนด์
ครรภ์แฝดน้ำ ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์อย่างไร?
- คุณแม่มีอาการอึดอัด หายใจลำบากในช่วงก่อนคลอด
- ภาวะครรภ์แฝดน้ำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด สายสะดือย้อย รกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ รวมถึงการตกเลือดหลังคลอด
- ส่วนนำของทารกไม่ใช่ท่าหัว เช่น ท่าก้น ท่าขวาง เพราะน้ำคร่ำที่มากเกินไป ทำให้ทารกมีพื้นที่ให้ลอยไปลอยมามาก เพิ่มอัตราการผ่าตัดคลอด
- อัตราตายปริกำเนิด จะเพิ่มขึ้น 2-5 เท่า ในรายที่น้ำคร่ำเยอะโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะในรายที่ทารกตัวโต
ครรภ์แฝดน้ำ มีวิธีการรักษาอย่างไร?
ครรภ์แฝดน้ำชนิดรุนแรงน้อยหรือเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีไม่มาก ไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่ตรวจเช็กดู ความผิดปกติที่อาจจะเกิดร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน หรือทารกในครรภ์ผิดปกติ แต่ถ้าคุณแม่หายใจลำบาก ปวดท้อง หรือเคลื่อนไหวลำบาก ควรจะให้นอนพักในโรงพยาบาล และพิจารณาเจาะน้ำคร่ำออกเพื่อลดปริมาณน้ำคร่ำลง
สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะครรภ์แฝดน้ำ เกิดจากความผิดปกติของทารก จึงไม่สามารถป้องกันได้ ยกเว้นกรณีที่คุณแม่เป็นเบาหวาน หากสามารถควบคุมน้ำตาลให้ดีก็จะลดความเสี่ยงได้มาก รวมถึงการไปฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ และแจ้งคุณหมอเมื่อรู้สึกถึงอาการผิดปกติ เพื่อให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้เร็วขึ้น และให้การดูแลที่เหมาะสมโดยเร็ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ท้องโตกว่าอายุครรภ์ ท้อง 2 เดือนท้องใหญ่มาก เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่
ทำยังไงให้ได้ลูกแฝด อยากได้ลูกแฝดต้องอ่าน !!! เรามีวิธีมาแนะนำ
ภาวะแทรกซ้อนในครรภ์แฝด มีอะไรบ้าง จะดูแลครรภ์อย่างไรให้ปลอดภัย ?
ที่มา : konthong
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!