กินยาอย่างไรไตไม่พัง
ปัจจุบันข้อมูลจากกรมการแพทย์พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดยกว่า 100,000 คน เป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งนอกจากต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่ายา ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติทำให้ต้องเสียเวลาในการมาฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้องเป็นประจำ และคงไม่มีใครอยากลางานสัปดาห์ ละครั้งหรืออาจจะมากกว่านั้น หรือต้องสละเวลาที่จะได้ใช้ร่วมกันกับครอบครัวหรือคนที่คุณรัก เพื่อมานั่งฟอกเลือดที่โรงพยาบาลครั้งละ 4-5 ชั่วโมงไปตลอดชีวิตจนกลายเป็นเป็นกิจวัตร
อีกทางเลือกหนึ่งคือการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไต ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายสูง และโอกาสที่จะได้รับไตมาเปลี่ยนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ได้เปลี่ยนไตแล้วก็ยังไม่จบเท่านั้น ต้องดูแลไตที่ถูกเปลี่ยนถ่ายมาใหม่เป็นอย่างดี ด้วยการรับประทานยากดภูมิไปตลอดชีวิต ซึ่งยาก็มีทั้งอาการข้างเคียง พร้อมข้อปฏิบัติที่ต้องทำตามและสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง
และเนื่องในวันไตโลกที่กำลังจะมาถึงซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม 2562 โรงพยาบาลพระรามเก้าจึงตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมรณรงค์เพื่อให้ทุกคนดูแลป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคไต ถ้าไม่อยากต้องกลายเป็นหนึ่งในแสนคนนั้น เรามาดูแลไตของเรากันเถอะเริ่มตั้งแต่วันนี้ยังไม่สาย
เภสัชกรหญิงแพรพิไล สรรพกิจจานนท์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ และที่สำคัญคือ การใช้ยา และสมุนไพรที่ทำอันตรายต่อไต โดยคนไข้ไตที่เกิดจากการควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงไม่ได้พบว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะเชื่อว่าการรับประทานยามาก ๆ จะทำให้ไตพัง ซึ่งไม่ใช่ยาทุกชนิดที่รับประทานเข้าไปแล้วจะไปมีผลต่อไต ในการทำการรักษาแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกยาและขนาดยาที่เหมาะสมกับสภาวะของคนไข้ และมีการตรวจติดตามค่าการทำงานของไตเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนไข้ต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และมาตรวจติดตามผลการรักษาเป็นประจำ เมื่อควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้แล้วความเสี่ยงในการเป็นโรคไตเรื้อรังก็จะลดน้อยลง
กินยาอย่างไรไตไม่พัง
แต่ประเด็นหลักที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันคือการซื้อยามารับประทานเอง ยาที่เป็นอันตรายต่อไตที่พบปัญหามากที่สุดคือ กลุ่มยาแก้ปวดแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาที่คนไทยนิยมใช้เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เป็นยาที่ใช้กันอยู่แล้วในชีวิตประจำ ไม่ว่าจะใช้เป็นยาลดไข้ ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะ ไมเกรน อาการปวดจากโรคเกาต์ ข้อเข่าเสื่อม ปวดประจำเดือน และ แก้อาการปวดฟัน
ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ แอสไพริน ไอบูโพรเฟน นาโปรเซน ไดโคลฟีแนค เป็นต้น เนื่องจากยากลุ่มนี้จะทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง ทำให้การทำงานของไตแย่ลง หากรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือรับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสดซ้ำซ้อนก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ยาอื่นๆที่พบว่ามีผลต่อไตได้แก่ ยาต้านจุลชีพบางชนิด เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin)
ซึ่งควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา แต่ที่อันตรายกว่านั้นคือการรับประทานยาชุด ยาสมุนไพร ยาบำรุง และอาหารเสริม ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่ระบุตัวยา และส่วนประกอบที่ชัดเจนซึ่งมักมีการลักลอบใส่สารที่เป็นอันตราย และเป็นพิษต่อไต ทำให้เนื้อไตอักเสบเฉียบพลันหรือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มดังกล่าว แต่หากมีอาการเหนื่อยง่าย บวม ปวดสีข้างด้านหลัง ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนโรคไต แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจการทำงานของไต และดูแลรักษาอย่างถูกต้องก่อนที่เนื้อไตจะถูกทำลายอย่างถาวรจนกลายเป็นโรคไตวายเรื้อรัง
กินยาอย่างไรไตไม่พัง…อย่างแรกคือลดปริมาณการใช้ยาที่ไม่จำเป็น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนซื้อยารับประทานเอง หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่รับประทานอยู่ว่าซ้ำซ้อนกัน หรือมีผลต่อการทำงานของไตหรือไม่ ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังก็ควรไปพบแพทย์เป็นประจำ ไม่ควรซื้อยารับประทานเองอย่างต่อเนื่องเพียงเท่านี้ไตก็จะอยู่ให้ร่างกายเราพร้อมใช้ไปตลอดชีวิต
เภสัชกรหญิงแพรพิไล สรรพกิจจานนท์ โรงพยาบาลพระรามเก้า
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
10 อาหารโซเดียมสูง เสี่ยงโรคไต
ห้ามพลาด !!! แม่ท้องกินแบบไหนได้สุขภาพดีทั้งแม่และลูก
รู้ทัน เบาหวาน เริ่มสร้างสุขภาพดีอย่างยั่งยืนให้ลูกรักตั้งแต่วันนี้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!