ผลกระทบมลภาวะกับทารกในครรภ์
ผลวิจัยดังกล่าวระบุว่าหากหญิงตั้งครรภ์อาศัยอยู่ใกล้บริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น ลูกที่เกิดมาจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปัญหาทางการหายใจในวัยเด็ก เรามาศึกษาถึงอันตรายจากมลภาวะและวิธีช่วยลดการเผชิญมลภาวะกันสักนิดนะคะ
แม่ไม่มีทางเลือก
หลายคนซึ่งจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบริเวณที่จอแจด้วยยวดยานและมีมลภาวะนั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อสุขภาพโดยเฉพาะปัญหาทางการหายใจ เราจะรายงานถึงผลวิจัยชิ้นใหม่และวิธีปกป้องปอดของลูกน้อยให้พ้นภัยควันพิษค่ะ
ความเสี่ยงที่พบ
ต่อไปนี้คือผลการวิจัยอันน่าตระหนกของคณะวิจัยในบอสตัน สหรัฐฯ เด็กต่ำกว่า 3 ขวบมีความเสี่ยงเป็น โรคหลอดลมฝอยอักเสบ ปอดบวม หรือกล่องเสียงและหลอดลมอักเสบมากขึ้น หากแม่อาศัยอยู่ใกล้ถนนหรือทางหลวงระหว่างตั้งครรภ์ ยิ่งหญิงตั้งครรภ์อาศัยใกล้การจราจรคับคั่งแค่ไหน ทารกก็เสี่ยงมีปัญหาทางการหายใจมากขึ้นเท่านั้น
ครอบครัวที่ร่วมการวิจัยอาศัยห่างจากทางหลวงสายหลัก 100-1,000 เมตร ราวร้อยละ 53 ของเด็กในกลุ่มนี้ถูกตรวจพบว่ามีปัญหาทางการหายใจก่อนอายุ 3 ขวบ
สิ่งที่ยิ่งน่าวิตกคือเด็กที่เกิดจากแม่ซึ่งอาศัยห่างจากทางหลวง 100-200 เมตรนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าเด็กๆ ที่อยู่ห่างออกไปถึง 1.49 เท่า
ออทิสติกและมลภาวะ
การวิจัยก่อนหน้านี้ยังพบความเกี่ยวเนื่องระหว่างออทิสติกกับมลภาวะด้วย เด็กจะมีโอกาสตรวจพบว่าเป็นออทิสติกมากขึ้นได้ถึง 3 เท่าเมื่ออาศัยอยู่ในย่านที่มีมลภาวะมากที่สุด
เราต่างก็ทราบดีว่ามลภาวะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราโดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ๆ ผลการวิจัยเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำข้อเท็จจริงดังกล่าวและเป็นเครื่องเตือนใจว่าเด็กทารกบอบบางต่อโลกภายนอกแม้ขณะยังอยู่ในครรภ์
ปกป้องลูกรักจากมลพิษอย่างไร
วิธีปกป้องลูกรัก
มลภาวะในกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากยิ่ง แต่เรายังพอมีทางปกป้องตัวเราเองและลูกๆ นี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการต่อกรกับมลภาวะค่ะ
1. เลี่ยงการสูบบุหรี่และเขตสูบบุหรี่ ควันจากบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าการสูดเอาควันบุหรี่ของผู้อื่นเข้าไปเป็นประจำก่อให้เกิดปัญหาทางการหายใจมากมายหลายประเภทต่อเด็กๆ เช่น ไอ โรคหอบหืดเฉียบพลันและปอดบวม ภาวะเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดต่อสุขภาพของเด็กยังรวมถึงโรคติดเชื้อในหู มะเร็งและโรคหลับไม่ตื่นในทารก (SIDS)
2. ปิดประตูหน้าต่างในช่วงที่การจราจรคับคั่งที่สุด เป็นวิธีที่ง่ายแต่สามารถกันควันพิษให้อยู่นอกบ้านคุณได้ชะงัด
3. วางเส้นทางเดินเท้าของคุณให้เลี่ยงการจราจร แน่นอนว่าทางลัดเป็นตัวเลือกที่มักมีภาษีดีกว่า แต่ในวันที่คุณพอมีเวลา ลองเลือกเส้นทางที่คุณจะได้เดินผ่านต้นไม้ (ซึ่งกรองอากาศให้สะอาด) และสวนสาธารณะ มันอาจใช้เวลามากกว่าปกติแต่คุณจะได้หลีกเลี่ยงควันพิษและออกกำลังกายไปในตัวด้วย
4. หมั่นตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะอากาศและข่าวสิ่งแวดล้อม มลภาวะทางอากาศเปลี่ยนแปลงทุกวัน คุณควรเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่มีรายงานมลภาวะทางอากาศสูง
5. ใส่หน้ากากกันมลภาวะทางอากาศ มลภาวะส่วนใหญ่ที่คุณสูดเข้าไปมาจากท่อไอเสียรถยนต์ การใส่หน้ากากเป็นวิธีปกป้องตัวเองที่ดีโดยเฉพาะเมื่อคุณต้องเดินบนถนนที่มีการจราจรหนาแน่น
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!