คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทุกคนคะ พร้อมแล้วหรือยัง? กับการสวมบทบาทเป็นคุณแม่มือใหม่ ที่จะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายในช่วงหนึ่งเดือนแรก บอกเลยสั้น ๆ ว่า เดือนแรกนี่แหละ คือช่วงเวลามหาโหดของการปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แต่กับคุณแม่มือใหม่เท่านั้นนะคะ รวมถึงลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลกด้วย
จริงอยู่ที่ก่อนกลับบ้าน พยาบาลจะเข้ามาให้คำแนะนำต่าง ๆ กับคุณแม่ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการอาบน้ำ การดูแลรักษาและทำความสะอาดสายสะดือ ท่าให้นมลูก และอื่น ๆ อีกมากมาย … แต่ครั้นเมื่อคุณแม่กลับมาถึงบ้าน ก็ต้องพบกับความมึนงง และคำถามต่าง ๆ ตามมาว่า “ทำไมมันไม่ง่ายเหมือนกับตอนอยู่ที่โรงพยาบาลเลย” แต่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เราจะมาสรุปข้อเสนอแนะฉบับสั้น ๆ เข้าใจง่ายเกี่ยวกับการดูแลทารกแรกเกิดมาฝากกัน
1. การดูแลสายสะดือลูก ปกติแล้วสายสะดือของทารกแรกเกิดนั้น จะหลุดได้เองภายในระยะเวลา 7 – 14 วัน แต่ถ้าหากยังไม่หลุดละก็ คุณแม่ก็สามารถทำความสะอาดง่าย ๆ ด้วยการใช้สำลีชุบน้ำเปล่าที่สะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อเบา ๆ รอบโคนสะดือ โดยเช็ดจากด้านในออกด้านนอก ทำแบบนี้เป็นประจำวันละ 2 ครั้ง และภายหลังจากที่สะดือหลุดแล้ว ก็ให้ดูแลทำความสะอาดสะดือลูกต่อไปด้วยการเช็ดและทำให้แห้งเสมอ อย่า!! ใช้แป้งหรือยาโรยสะดือลูกเด็ดขาดนะคะ เพราะอาจจะทำให้ลูกได้รับการติดเชื้อได้
2. อาบน้ำ แม่มือใหม่หลาย ๆ คนอาจจะไม่กล้าที่จะอุ้มลูกอาบน้ำ เพราะกลัวว่า ลูกจะดิ้นแล้วหลุดมือ อีกทั้งลูกยังดูตัวเล็กและบอบบางเสียเหลือเกิน อย่าเป็นกังวลไปเลยค่ะ มั่นใจและศรัทธาในตัวเองว่าเราสามารถทำได้ เราเป็นแม่คนแล้วนะ แค่อาบน้ำลูกทำไมจะทำไม่ได้ … การอาบน้ำให้ทารกแรกเกิดนั้นไม่ยากอย่างที่คิดหรอกค่ะ เพียงแค่ใช้น้ำในอุณหภูมิที่เหมาะสม อย่าให้ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ให้พออุ่นอาบสบาย และการอาบน้ำแต่ละครั้ง ไม่กวนเกิน 5-7 นาทีนะคะ และควรอาบน้ำทารกวันละ 2 ครั้ง ถ้าอยากสระผมลูกก็สามารถทำได้ค่ะ แต่ควรทำวันละครั้งพอ ที่สำคัญ อย่าอาบน้ำตอนกลางคืนหรือทันทีที่ลูกทานนมเสร็จนะคะ
3. เรื่องขี้ ๆ เป็นธรรมชาติที่ช่วงแรกเกิด ทารกจะมีการขับถ่ายอุจจาระออกมาบ่อย ๆ แถมสีก็ยังออกมาแตกต่างกันอีกด้วย ซึ่งตรงนี้ คุณแม่อาจจะต้องสวมบทบาทนักวิทยาศาสตร์สำรวจสีของอุจจาระลูกด้วยนะคะ เพราะสีของอุจจาระนี่แหละค่ะ ที่จะสามารถบ่งบอกสุขภาพของทารกได้ ยกตัวอย่างสีของอุจจาระที่เป็นปกติก็ได้แก่
- อุจจาระสีดำคล้ำ เหนียวคล้ายยางมะตอย เป็นอึทารกวัยแรกคลอด หรือที่เรียกว่า ขี้เท่า นั่นเองค่ะ โดยคามธรรมชาติรางกายของทารกจะขับถ่ายของเสียออกมาภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากเลย 24 ชั่วโมงไปแล้วลูกยังไม่ขับถ่ายขี้เทาออกมา ต้องรีบแจ้งคุณหมอเด็กด่วนนะคะ เพราะอาจเป็นอาการของลำไส้อุดตันค่ะ
- อุจจาระสีเหลืองปนเขียว ในช่วง 2 สัปดาห์หลังคลอด ในเด็กทารกที่ได้ดื่มนมแม่จะอึออกมาไม่เป็นก้อน ซึ่งลักษณะอึที่ถ่ายออกมาจะคล้ายสังขยา ลูกจะอึประมาณวันละ 6-10 ครั้ง หรือทุกครั้งที่ทานนมแม่อิ่มค่ะ
- อุจจาระสีเหลือง หลังจากที่ทารกได้ทานนมแม่ สีของอุจจาระจะค่อยๆ อ่อนลง จนกลายเป็นสีเหลืองทอง
แต่ถ้าเป็นสีตามที่กล่าวมาแล้วและมีเลือดปน อุจจาระมีสีขาวซีด หรือมีกลิ่นเหม็นคาวแล้วละก็ อย่านิ่งนอนใจ เพราะนั่นคือสัญญาณบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกค่ะ
4. การนอนของลูก อย่าแปลกใจถ้าจะพบว่า คุณแม่มือใหม่แทบทุกคน จะดูโทรมคล้ายซอมบี้และมีดวงตาที่ดำคล้ำคล้ายกับหมีแพนด้า … ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่ว่าพวกเธออยากที่จะเป็นหรอกค่ะ แต่เพราะลูกไม่ยอมนอนและชอบตื่นบ่อยกลางดึกต่างหากละ … ซึ่งถ้าหากว่าที่คุณแม่ทั้งหลายไม่อยากมีสภาพเช่นนั้นละก็ อย่าลืมที่จะสอนและปรับพฤติกรรมของลูกให้ลูกได้เรียนรู้ว่า นี่คือเวลากลางวัน และนี่คือเวลากลางคืน ต้องแสดงให้ลูกได้รู้ว่า ลูกจะต้องนอนเมื่อถึงเวลานอน และจะต้องตื่นเมื่อถึงเวลาตื่น
5. ลูกร้องโดยไร้สาเหตุหรือที่คุณแม่รู้จักกันในชื่อของโคลิค ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้นกับทารกแรกเกิดในช่วงอายุ 2 – 3 สัปดาห์และจะหายไปได้เองเมื่อมีอายุได้ 3 เดือน อาการดังกล่าว คือ การร้องไห้ที่มีลักษณะรุนแรงเป็นพิเศษ ไม่เหมือนการร้องไห้แบบธรรมดาสามัญ เพราะไม่ว่าจะอุ้ม ปลอบ ร้องเพลงกล่อมก็ไม่หยุด ให้กินนมก็ดูดๆ ผละๆ กํามือจิกเท้างอขา หลับตาแน่นสลับกับเบิกตาโพลง สามารถร้องต่อเนื่องได้นานเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง มักเป็นตรงเวลากันทุกวันอาจมีหยุดบ้างบางวันตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงหลังเที่ยงคืน…ซึ่งคุณแม่สามารถช่วยลูกจากอาการดังกล่าวได้โดย การอุ้ม ห่อตัวลูกให้อบอุ่น และหยุดรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัว รวมถึงพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น
สิ่งที่สำคัญที่สุดของคู่มือคุณแม่มือใหม่ฉบับนี้ก็คือ “อย่าลืมพักผ่อนเมื่อถึงเวลา” เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกหลับ อย่าลืมนอนหลับไปพร้อมกันกับลูก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกตื่น โอกาสที่คุณจะหาน้ำดื่ม ทานข้าวสักจาน หรือเข้าห้องน้ำ ก็ยังไม่มีเลยละค่ะ
ที่มา: Fit Pregnancy
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับทารกแรกเกิด
6 ความเชื่อที่โบราณว่าไว้เกี่ยวกับทารกแรกเกิด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!