แม่ตั้งครรภ์เฮได้ สิทธิฝากครรภ์และคลอดลูกฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน มีสิทธิ ใช้ โครงการ ฝากท้องทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ ซึ่งจะ ได้รับ บริการดูแล สุขภาพทั้งแม่ และ บุตร ตามมาตรฐาน คือ การฝากครรภ์คุณภาพ ต้องครบ 5 ครั้ง ตามมาตรฐานสากล
ครั้งที่ 1 อายุครรภ์น้อยกว่า หรือ เท่ากับ 12 สัปดาห์
ครั้งที่ 2 สัปดาห์ที่ 18
ครั้งที่ 3 สัปดาห์ที่ 26
ครั้งที่ 4 สัปดาห์ที่ 32
ครั้งที่ 5 สัปดาห์ที่ 38 ตามลำดับ
มี ระบบ การดูแล ตรวจคัดกรอง ความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อ ลดปัญหา พัฒนาการ เด็ก ล่าช้า มี ระบบ ห้องคลอด การบริบาลทารกแรกเกิด และการดูแลสุขภาพเด็กแรกเกิดจนถึง 5 ขวบ เพื่อให้เด็กเติบโตสมวัย ได้รับวัคซีนครบถ้วน เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหามากมาย เช่น แม่มีอัตราการขาดสารไอโอดีน ภาวะโลหิตจาง ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม ทารกแรกเกิดมีภาวะดาวน์ซินโดรม ภาวะพร่องไทรอยด์แต่กำเนิด หรือเด็กติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก เป็นต้น
โดยโครงการนี้รัฐบาลได้มุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการดูแลแม่และเด็กและส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ไทยทุกคน ที่มีปีละประมาณ 800,000 คน ได้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมเสมอภาค ตามนโยบาย แม่คลอด ลูกรอด ปลอดภัย เท่าเทียมทั่วถึง เพื่อเน้นส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กวัย 0-5 ปี ที่เป็นหัวใจหลักต่อการพัฒนาสังคมของประเทศชาติ
คนท้องใช้สิทธิบัตรทองคลอดลูกฟรีได้
นอกจากการฝากครรภ์ฟรีแล้ว คุณแม่ที่ถือบัตรทอง (หรือบัตร 30 บาท) อยู่ยังสามารถใช้ได้ตลอดตั้งแต่ฝากครรภ์ จนถึงคลอดลูกเลยค่ะ (สามารถใช้บัตรทองในการคลอดบุตรได้ไม่เกินสองครั้ง)
สิทธินี้สำหรับคุณแม่ที่ไม่ได้ทำประกันสังคมหรือเป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ หากท่านใดไม่มีบัตรทอง สามารถไปยื่นทำสิทธิบัตรทองได้ที่ สถานีอนามัย โรงพยาบาลของรัฐ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
หลักฐานที่ใช้ในการทำบัตรทองใหม่หรือแจ้งย้ายบัตรทอง
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ (เด็กต่ำกว่า 15 ปี ใช้สำเนาใบสูติบัตร หรือใบเกิด)
2. สำเนาทะเบียนบ้านที่ผู้ขอมีชื่ออยู่
3. กรณีที่พักอาศัยอยู่จริงไม่ตรงตามทะเบียนบ้านให้เพิ่มเติมสำเนาทะเบียนบ้านที่ไปพักอาศัย ซึ่งมีลายมือ ชื่อเจ้าของบ้าน หรือหนังสือรับรองของผู้นำชุมชนรับรองว่าได้พักอาศัยอยู่จริง
สำหรับข้าราชการ
ในกรณีที่คุณพ่อคุณท่านใดท่านหนึ่งเป็นข้าราชการ ก็สามารถใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรณีคลอดบุตรได้ โดยเบิกจ่ายเงินส่วนเกินจากประกันสังคมได้ มีเงื่อนไขดังนี้
1. ต้องการเป็นการคลอดบุตรจากโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น
2. การเบิกส่วนเกินจากสิทธิประกันสังคม จะต้องเบิกผ่านระบบเบิกจ่ายตรง สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเท่านั้น (ค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร)โดยสอบถามจากหน่วยงานที่สังกัดอยู่
3. เมื่อเข้ารับการรักษาเพิ่อคลอดบุตรในโรงพยาบาลแล้ว จะต้องแจ้งขอใช้สิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาลเฉพาะส่วนเกินประโยชน์ทดแทนฯ (แบบ 7106)
ตั้งแต่วันนี้ (14 ส.ค.) เป็นต้นไป หญิงตั้งครรภ์กว่า 800,000 คน ทั่วประเทศ ในทุกสิทธิ สามารถเข้าร่วมโครงการฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์ ได้ที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยจะได้รับบริการดูแลสุขภาพทั้งแม่และบุตร
โครงการฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์ ด้วยบัตรสุขภาพแม่และเด็ก เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2556 โดยให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนทุกสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาท ประกันสังคม และข้าราชการ สามารถฝากครรภ์ที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จากเดิมหญิงตั้งครรภ์ในโครงการ 30 บาท และประกันสังคม ต้องฝากครรภ์ที่สถานพยาบาลตามที่ระบุในสัญญา และหากผิดเงื่อนไขต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ทำให้ฝากท้องเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า หรือเท่ากับ 12 สัปดาห์ เพียงร้อยละ 53 ส่งผลให้เด็กแรกเกิดมีต้นทุนชีวิตต่ำ เกิดมาไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังเพิ่มมาตรฐานบริการแม่และเด็ก สร้างคุณภาพประชากรตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ให้มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดโรคต่างๆ โดยหญิงตั้งครรภ์ที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับบริการฝากครรภ์ 5 ครั้ง ส่วนเด็กจะได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ปี
สำหรับผู้ที่มีประกันสังคม อ่านรายละเอียดที่นี่
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 นะคะ เพื่อสิทธิประโยชน์ของคุณแม่ทุกท่าน
สิทธิฝากครรภ์และคลอดลูกฟรี
ที่มา: kmcenter
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!