แพ้นมวัวเฉียบพลัน บรรเทาอาการอย่างไร คุณพ่อคุณแม่จะทราบได้อย่างไร ว่าลูกแพ้นมวัว เราไปดูกันค่ะ ว่ามีวิธีการทดสอบ การแพ้นมวัวเฉียบพลัน อย่างไรบ้าง รวมไปถึงการทดการแพ้ การรักษาเมื่อลูกแพ้นมวัว และอาหารจากนมวัวที่คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยง
ทำไมถึงแพ้นมวัว
การได้รับนมผสมหรืออาหารอื่น ๆ ที่ต่างจากนมแม่ที่เป็นโปรตีนแปลกปลอม อาจเสี่ยงต่อการเกิดการแพ้อาหาร เนื่องจากโปรตีนแปลกปลอมเหล่านี้ไม่ถูกย่อยหรือทำลาย โดยเฉพาะเด็กวัย 4-6 เดือนแรกที่เยื่อบุทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบน้ำย่อยต่าง ๆ ยังไม่แข็งแรง โปรตีนดังกล่าวจึงเข้าสู่ร่างกายได้มาก ประกอบกับความเสี่ยงทางพันธุกรรม ประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เป็นเหตุให้เด็กเล็ก ๆ เกิดอาการแพ้โปรตีนนมวัวได้ง่าย นอกจากนี้ค่านิยมในการบริโภคนมวัวปริมาณมาก หรือการงดนมวัวไปเลย ในช่วงตั้งท้องและช่วงให้นมบุตร อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงทำให้ลูกแพ้นมวัว
แพ้นมวัวเฉียบพลัน รู้ได้อย่างไรว่าแพ้
อาการของภูมิแพ้เด็กที่เป็นจะแสดงอาการออกไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่ว่าเด็กแพ้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเด็กที่มีประวัติ หรือคุณพ่อคุณแม่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว อาการแพ้อาจจะเป็นหนักมากกว่าคนที่ไม่มีโรคประจำตัว
อาการแพ้ ที่พบบ่อยที่สุดในเด็กเล็ก
- ผื่นภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบ ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะที่แก้มทั้ง 2 ข้าง
- อาจมีผื่นขึ้นที่ด้านนอกแขน ข้อศอก ข้อมือ ข้อพับแขนขา หัวเข่า ข้อเท้า หรือตามลำตัว ซึ่งเกิดขึ้นจากการอักเสบของผิวหนัง ถ้าเป็นมากก็มีตุ่มน้ำ และหรือน้ำเหลืองเยิ้มออกมา
- ในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยผื่นแพ้จะไม่ขึ้นที่หน้าแล้ว มักจะขึ้นตามบริเวณที่มีรอยย่น เช่น รอบคอ ข้อพับ แขน ข้อศอก หลังเข่า หรือขึ้นที่มือและเท้า โดยผื่นจะสมดุลทั้งซ้าย-ขวา และมีอาการคันมาก ผิวหนังมักแห้งและสากไปทั่ว ๆ ตัว มีการอักเสบแดงเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ
การแพ้โปรตีนนมวัว ไม่ได้แสดงอาการทางผิวหนังอย่างเดียว บางรายมีอาการอาเจียนมากหลังทานนม หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ คล้ายอาการภูมิแพ้อากาศหรือเป็นหวัดเรื้อรัง เด็กจะไอมาก หายใจเร็ว จนหน้าอกยุบ/ซี่โครงบาน เวลาหายใจก็มีเสียงวี้ด ๆ เหมือนอาการแสดงของโรคหอบหืดได้ ในรายที่แพ้แบบเฉียบพลันหลังทานนมวัวภายใน 1-4 ชั่วโมง จะมีอาการ ผื่นรอบปาก ผื่นลมพิษ หน้าบวม อาเจียนมาก น้ำมูกไหล ไอ หอบ ทันที หรือแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : แพ้นมวัวเฉียบพลัน ผื่นแดงเต็มตัว บรรเทาอาการอย่างไร
การทดสอบอาการ การแพ้นมวัว
แพทย์จะขอให้จดบันทึกรายการอาหารและระยะเวลาที่เกิดอาการช่วงเวลา 1-2 สัปดาห์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย เพราะการเกิดปฏิกิริยาหลังรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เช่น ชนิดของอาหารที่สงสัย ระยะเวลาหลังจากรับประทานอาหารจนเกิดอาการ ความรุนแรงของอาการ ประวัติอาการที่สงสัยแพ้อาหารนั้น ๆ มาก่อน หรือบางคนมีอาการเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ
-
การทำทดสอบทางผิวหนัง (Skin prick test)
เป็นการทดสอบที่น่าเชื่อถือมากที่สุด โดยเฉพาะการแพ้แบบเฉียบพลัน เพราะสามารถสอดคล้องกับอาการได้ดีและวิธีการตรวจนี้เป็นวิธีที่นิยมที่สุด ต้องงดรับประทานยาแก้แพ้ทุกชนิดอย่างน้อย 10 วัน ก่อนทำการทดสอบ หรือหากรับประทานยากลุ่มอื่นเป็นประจำต้องปรึกษาแพทย์ก่อนนัดทำทดสอบเสมอ
เพื่อตรวจหาแอนติบอดี้ต่ออาหารแต่ละชนิด เป็นการตรวจที่มีความแม่นยำและน่าเชื่อถือใกล้เคียงกับการทำทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง สำหรับวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถทำการทดสอบทางผิวหนังได้ เช่น คนที่มีประวัติการแพ้อย่างรุนแรง คนที่มีผื่นมากและไม่มีผิวหนังปกติมากพอในการทำทดสอบทางผิวหนัง หรือคนที่มีประวัติแพ้ถั่วลิสงชนิดรุนแรง (anaphylaxis) ที่มีอาการแพ้รุนแรงจากการทำทดสอบทางผิวหนัง
หากลูกแพ้นมวัวควรทำอย่างไร
เลี่ยงการรับประทานนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนจากนมวัวทุกชนิด ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่แพ้นมวัวอาจไม่แพ้นมที่ผ่านการแปรรูปแล้ว เช่น นมที่เป็นส่วนประกอบในอาหารที่ผ่านการอบ หรือ โยเกิร์ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ว่าอาหารชนิดใดบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง
ในกรณีที่เผลอรับประทานอาหารจากนมวัวจนมีอาการแพ้ หากไม่รุนแรงมาก อาจบรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้แพ้ ส่วนผู้ที่มีอาการหายใจลำบากหรือเผชิญอาการแพ้รุนแรงอื่น ๆ อาจจำเป็นต้องใช้การฉีดยาแบบฉุกเฉิน ซึ่งเด็กที่เสี่ยงมีอาการแพ้รุนแรง ผู้ปกครองอาจต้องพกยาอิพิเนฟรินชนิดฉีดติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น
แพ้โปรตีนนมวัวรักษาอย่างไร
การรักษาประกอบด้วยการรักษาตามอาการแสดงต่าง ๆ ร่วมกับการรักษาด้านโภชนาการซึ่งควรได้รับคำแนะนำโดยแพทย์
- ให้อาหารที่ไม่มีนมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัวเป็นส่วนผสม
- ให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัย
- หลังจากผู้ป่วยมีอายุครบ 1 ปี และอาการดีแล้วอย่างน้อย 6 เดือน อาจพิจารณาทำการทดสอบดูการตอบสนองของผู้ป่วยหลังงดและทานนมวัว (oral food challenge) ทุก 6 เดือน
- การเลือกนมเพื่อรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัวในทารก ขึ้นกับอายุ ลักษณะการแพ้และระดับความรุนแรงของอาการ
ทารกและเด็กเล็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียว
- ให้นมแม่ต่อไปและให้แม่งดนมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว และอาหารที่มีโปรตีนจากนมวัว
- ดูแลให้แม่ได้รับแคลเซียมให้เพียงพอ (800 มก./วัน)จากอาหารอย่างเดียวหรือเสริมยาเม็ดแคลเซียม
- ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้พิจารณาทบทวนการวินิจฉัยโรคอื่น หรือผู้ป่วยอาจแพ้อาหารชนิดอื่นด้วย
- กรณีมารดาไม่สามารถงดนมวัวได้ อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยรับประทานนมสูตรสำหรับรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัว
ทารกและเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสม
เลือกนมที่ไม่มีโปรตีนนมวัวทดแทนนมผสมที่ทารกและเด็กได้รับ โดยพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ อายุของผู้ป่วย ค่าใช้จ่าย การเข้าถึงนม และรสชาติ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูก แพ้นมวัว ดูแลอย่างไร ไม่ขาดสารอาหารสำคัญ
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อแพ้นมวัว
การแพ้นมวัวก็เหมือนการแพ้อาหารชนิดอื่น ๆ ที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ด้วยการหลีกเลี่ยงนมและอาหารที่ประกอบจากนมทั้งหลาย จะช่วยลดความกังวลใจ ไม่ต้องทรมานจากอาการแพ้อีกต่อไป
อาหารจากนมวัวที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้
- นมวัวทุกชนิด รวมถึงนมผงและนมข้นจืด
- เนย ไขมันเนย
- ครีม ซาวร์ครีม
- คัสตาร์ด พุดดิ้ง โยเกิร์ต
- ไอศกรีม ไอศกรีมเชอร์เบท เจลาโต้
- ชีส และอาหารทุกชนิดที่ประกอบด้วยชีส
- หางนม ซีเรียล
- ขนมอบต่าง ๆ เช่น ขนมปัง คุกกี้ แคร็กเกอร์ เค้ก
- หมากฝรั่ง ลูกอมครีม ช็อกโกแลต และคาราเมล
- ครีมเทียม มาร์การีน
- นมจากมอลต์
- มันฝรั่งบด น้ำสลัด
- เนื้อบรรจุกระป๋องหรือแปรรูป แฮม
- สารแต่งกลิ่นเนย สารแต่งกลิ่นชีส
ถ้าลูกแพ้นมวัวควรระมัดระวังเป็นพิเศษหากต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน พยายามสอบถามถึงส่วนประกอบที่นำมาปรุงทุกครั้ง เพราะแม้จะเป็นเพียงเนยที่ทาบนสเต๊ก หรืออาหารที่ปรุงด้วยการนำไปจุ่มนม ก็อาจทำให้แพ้ได้ อ่านฉลากอาหารเสมอ ควรมองหาคำที่บ่งบอกถึงส่วนประกอบจากนม เช่น คาเซอีน เวย์ แล็กโทเฟอร์ริน แล็กโตโกลบูลิน แล็กตัลบูมิน หรือสังเกตส่วนผสมที่สะกดขึ้นต้นด้วยคำว่าแล็ก เช่น แล็กโทส แล็กเตท เป็นต้น สามารถดื่มนมถั่วเหลือง นมข้าวโอ๊ต หรือนมอัลมอนด์ ที่เปี่ยมคุณค่าทางสารอาหาร อุดมด้วยแคลเซียมและวิตามินดี หรือรับประทานอาหารอื่น ๆ เช่น ไอศกรีม ช็อกโกแลต หรือโยเกิร์ต ที่ไม่ผสมนมวัวได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 อันดับ นมสูตร 4 ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กวัยหัดเดิน 2-3 ปีเป็นต้นไป
โรคแพ้ถั่วปากอ้า โรคพร่องเอนไซม์ G6PD คืออะไร อันตรายกับลูกแค่ไหน
โรคภูมิแพ้อาหาร แพ้อาหาร คืออะไร สาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษา
ที่มา : phyathai, nakornthon, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!