พฤติกรรมการ “กัด” ของเด็กในช่วงวัย 1-2 ปี เป็นพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเจอบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นจะเป็นในช่วงที่ดูดนมแม่ หรือกัดไหล่ กัดบ่าขณะแม่อุ้ม ทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความกังวลกับพฤติกรรมนี้ แม้ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่ดูธรรมดาของเด็กก็ตาม นานวันเข้าอาจจะกลายเป็นต้องเจอกับคำว่า ลูกชอบกัด ทำอย่าไรดีเป็นแน่แท้
เมื่อครั้งลูกน้อยของเรายังเป็นทารก เกิดอาการคันฟันแล้วชอบกัดสิ่งต่าง ๆ ก็อาจจะยังดูน่ารักน่าชังในสายตา แต่พอลูกโตขึ้นแล้วยังติดนิสัยชอบกัดอยู่ กลับดูไม่น่ารักเสียแล้ว ที่สำคัญตอนเป็นทารกแล้วชอบกัด อาจส่งผลต่อสุขภาพช่องปากไม่มาก เพราะภายในช่องปากยังมีแต่เหงือก แต่ยิ่งลูกโตขึ้น ฟันเริ่มงอกออกมา การกัดสิ่งของบ่อย ๆ ย่อมส่งผลต่อสุขภาพฟันอย่างแน่นอน คุณแม่จึงต้องใส่ใจและหาทางลดพฤติกรรมชอบกัดของลูกให้ได้
นอกจากการชอบกัดสิ่งของแล้ว เด็กบางคนยังมีพฤติกรรมชอบกัดเด็กคนอื่น ซึ่งไม่น่ารักเอาเสียเลย ยิ่งลูกชอบกัดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกเพื่อนๆ ล้อ โดยการล้อนี้เองที่จะสร้างความหงุดหงิดและกระตุ้นให้เด็กชอบกัดมากขึ้นไปอีก เกิดเป็นสัญญาณอันตรายที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ ก่อนลูกจะพัฒนาความรุนแรงจนเกิดเรื่องไม่ดีได้ในอนาคต
ลูกชอบกัด เป็นเพราะอะไร?
การกัดสิ่งของคงไม่ส่งผลอะไรมาก แต่เมื่อลูกเริ่มกัดเด็กคนอื่น ๆ นี่สิ เริ่มเป็นปัญหาใหญ่แล้ว เพราะการที่เด็กชอบกัดคนอื่นนั้นมีเหตุผลที่ต่างจากการชอบกัดของทารก ที่เกิดจากการคันเหงือกเพราะฟันเริ่มขึ้น แต่ในเด็กโตนั้นมีเหตุผลที่ต่างออกไป
- เด็กรู้สึกว่าเวลากัดไปแล้วได้รับการตอบสนอง ไม่ว่าจะเป็นเสียงกรีดร้อง หรือการตกใจ ซึ่งการกัดของเด็กนั้นอาจไม่ได้ตั้งใจให้คนอื่นเจ็บปวด เด็กแค่อยากเห็นปฏิกิริยาของคนโดนกัด แค่นั้นเอง
- ถ้าเด็กรู้สึกหงุดหงิด ก็อาจจะแสดงพฤติกรรมโดยการกัดได้เช่นกัน นั่นก็เพราะเด็กคุ้นเคยกับการแสดงออกถึงความไม่พอใจด้วยการกัดมากกว่าการพูด
- การกัดเรียกร้องความสนใจได้ เด็กบางคนชอบกัดเพื่อให้คนอื่นสนใจ แม้ว่าความสนใจนั้นจะเป็นการดุด่าว่ากล่าว ก็ยังดีกว่าที่ไม่ได้รับความสนใจเลย ยิ่งเด็กรู้สึกว่าการกัด ทำให้คนอื่นสนใจมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำพฤติกรรมนี้ไปเรื่อยๆ
สาเหตุของการกัด
- ด้านร่างกาย จากการศึกษาวิจัยพบว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กชอบกัด มาจากด้านร่างกาย คือ ฟันเริ่มขึ้น หรือหิว
- ด้านจิตใจ เด็กมีความคับข้องใจ ไม่พอใจ หรือระบายความเครียด เนื่องจากขาดทักษะที่ดีในการสื่อสารเป็นคำพูดให้ผู้อื่นเข้าใจ มีการเลียนแบบ อยากรู้อยากเห็น แสดงความเป็นอิสระ เป็นทักษะพัฒนาการด้านสังคมอย่างหนึ่งของเด็ก
บทความน่าสนใจ : ทำไมลูกถึงชอบกัด เดี๋ยวกัดแม่ กัดของเล่น เป็นเพราะอะไร โตไปลูกจะก้าวร้าวไหม
ป้องกันไม่ให้ลูกเป็นเด็กชอบกัด
- ถ้าลูกเริ่มรู้เรื่องแล้ว ลองสอนให้ลูกบอกความรู้สึกต่างๆ สอนให้ลูกรู้จักกับความรู้สึกโกรธ ย้ำเวลาลูกไม่พอใจว่านี่คือความรู้สึก พอลูกเริ่มเรียนรู้ ลูกจะพูดเมื่อรู้สึกไม่พอใจ แทนการแสดงพฤติกรรมที่ไม่พอใจออกมา
- ในวันที่ลูกจะไปเล่นกับเพื่อนๆ คุณแม่ต้องเตรียมของว่างและให้ลูกพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพราะการนอนไม่พอและความหิว จะส่งผลให้ลูกเกิดความรู้สึกหงุดหงิด จนอาจเผลอไปกัดเพื่อนๆ เอาได้
- ใส่ใจลูกอยู่เสมอ ให้ลูกรับรู้ว่ากำลังได้รับความสนใจ ลูกก็จะไม่ใช้การกัดเพื่อเรียกร้องความสนใจ ซึ่งการแสดงออกถึงความใส่ใจให้ลูกรับรู้อยู่ตลอด จะช่วยให้ลูกรับมือกับความเครียดหรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกแย่ได้
ลูกชอบกัด ควรหยุดอย่างไรให้เลิก
- อย่างแรกที่ไม่ควรทำคือ สะท้อนกลับพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกมา ไม่ใช่ว่าลูกกัดแล้วลงโทษลูกแรงๆ หรือตอบโต้กลับในแบบเดียวกัน เพราะวิธีนั้นจะทำให้เด็กซึมซับพฤติกรรมรุนแรง และอาจส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าวในอนาคต
- ถ้าลูกเกิดกัดใครสักคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ต้องสอนให้ลูกรู้ว่าการกัดเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และการกัดนั้นทำให้คนอื่นรู้สึกเจ็บ หากลูกโตพอจะเข้าใจ ก็เริ่มสอนให้ลูกรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำ โดยบอกให้ลูกหยุดกัดแล้วให้ลูกหายใจลึกๆ จนกว่าลูกจะรู้สึกสงบ เพื่อลดความเครียด
- ถ้าลูกกัดเพื่อเรียกร้องความสนใจ คุณพ่อคุณแม่ต้องลดความสนใจในตัวลูก แล้วแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจคนที่ถูกกัดแทน ขณะเดียวกัน เวลาที่ลูกเล่นกับคนอื่นๆ อย่างดี ให้ชื่นชม และแสดงออกถึงความสนใจในตัวลูก ลูกก็จะเรียนรู้ได้เองว่าควรทำสิ่งไหน
วิธีรับมือและแก้ปัญหาเมื่อ ลูกชอบกัด
1. หาสาเหตุของการกัด
- ถ้าการกัดมาจากลูกชอบสำรวจ อยากรู้อยากเห็น หรือฟันเริ่มขึ้น คุณแม่ควรให้ลูกกัดผ้าหรือยางแทน
- ถ้าลูกกัดเพราะเบื่อหรือหิว ต้องดูแลให้กินและนอนอย่างเพียงพอ
- ถ้ากัดเพราะลูกแย่งของกันต้องหาของให้พอเล่นหรือพอใช้ หรือสอนให้ลูกได้รู้จักแบ่งปันของกัน
- ถ้าลูกกัดคนอื่นเพราะมีความตั้งใจ แม่ต้องพยายามให้เวลาแก่ลูก โดยการเล่น อ่านหนังสือนิทาน หรือกอดลูก
2. เมื่อ ลูกชอบกัด คนอื่น
- ต้องสอนให้รู้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่ควรทำ
- มองตาลูกและออกคำสั่งด้วยเสียงหนักแน่นว่า “ไม่กัดนะคะ” เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
- เมื่อลูกกัดคุณแม่อย่าร้อง เพราะลูกอาจรู้สึกสนุกสนานที่เห็นคุณแม่ร้อง
- อย่าหัวเราะกับการกระทำของลูก
- พยายามทำตัวให้หลุดจากการกัดของลูกอย่างนุ่มนวลที่สุด
บทความน่าสนใจ : ลูกดูดนิ้ว กัดเล็บ ข้อดีของการดูดนิ้ว ทารกดูดนิ้ว ดีอย่างไร ต้องจับลูกเลิกหรือไม่ วิธีเลิกดูดนิ้ว วิธีเลิกกัดเล็บ
3. ใช้วิธีการขอเวลานอกกับลูก
- หาสถานที่สงบและให้ลูกนั่งเก้าอี้ตามลำพัง แต่อยู่ในมุมที่สามารถมองเห็นลูกได้
- แนะนำว่าทันทีที่ลูกกัดว่า “ห้ามกัดนะคะ ลูกจะต้องขอเวลานอกบนเก้าอี้ตัวนี้จนกว่าจะหมดเวลา แล้วค่อยมาเล่นต่อ”
- ถ้าลูกพยายามเรียกร้องความสนใจคุณแม่ควรวางเฉย จนกว่าเวลานอกจะหมด
- ถ้าลูกจับขาหรือดึงเสื้อ อย่าใจอ่อน หันหน้าหนีลูกแล้วผละไปทำงานอย่างอื่น เช่น ล้างจาน หรือจัดลิ้นซัก
4. สอนการแสดงออกที่ถูกให้ลูก
- คุณแม่ควรสอนให้ลูกแสดงพฤติกรรมที่ถูก
- ถ้าลูกต้องการแสดงความรักให้ใช้การกอดแทนการกัด
- สัญญาณการหยุดโดยการยกมือห้ามหรือใช้การดันไหล่เพื่อนเบาๆ ถ้าลูกโมโหมากให้บอกคุณแม่ หรือบอกครู
5. ชมเชยลูก
- เมื่อสอนลูกแล้ว และลูกเริ่มมีพฤติกรรมการกัดอาจน้อยลงหรือไม่มีอีกเลย พ่อแม่ก็ควรจะชมลูกบ้าง
- การที่พ่อแม่ชื่นชมลูก เขาจะรู้สึกภูมิใจในตัวเอง และความภูมิใจตรงนี้จะเป็นการละลายพฤติกรรมนี้ได้
- คุณแม่ควรใจเย็น ช่วยเหลือลูก และให้กำลังใจลูก
อย่างไรก็ดี เวลาที่ลูกเล่นกับเด็กอื่นๆ ในสนามเด็กเล่น คุณพ่อคุณแม่ควรจะสังเกตลูกอยู่เสมอ เพื่อให้ลูกแสดงออกอย่างเหมาะสม เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นและมีความสนใจในเรื่องอื่นๆ ก็จะเลิกพฤติกรรมชอบกัดไปได้เอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เมื่อลูกชอบกัด ไม่ต้องสงสัยเลยว่านิสัยชอบกัดเป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่ขยาดที่สุด
วิธีทำให้ลูกหยุดกัดเล็บ วิธีที่จะช่วยหลอกล่อให้เด็ก เลิกกัดเล็บ
ที่มา : (bellybelly) (rakluke)
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!