เด็ก ๆ ก่อนวัยเรียน ในช่วง 2-3 ขวบ ควรมีโอกาสในการเตรียมความพร้อมสำหรับที่จะ เข้าเรียนอนุบาล และพร้อมช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงอีกหลายปัจจัยเข้ามาประกอบทั้งเรื่องของสังคม อารมณ์ความรู้สึก ความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาการของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีความสามารถในการพัฒนาตนเองที่แตกต่างกัน เช็กความพร้อมของลูกของคุณดู หากเจ้าตัวเล็กมีสัญญาณเหล่านี้แสดงว่าเขาอาจจะยังไม่พร้อมสำหรับการ เข้าเรียนอนุบาล ก็ได้
5 สัญญาณบ่งบอกว่าลูกยังไม่พร้อมเข้าเรียนอนุบาล
1. ยังไม่ได้ฝึกการใช้ห้องน้ำ หรือยังคงต้องการความช่วยเหลืออย่างมากในการทำกิจวัตรประจำวัน
เด็กในวัยก่อนอนุบาลต้องเริ่มหัดใช้ห้องน้ำเพื่อทำธุระส่วนตัวเองได้ หรือแม้แต่การช่วยเหลือตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ ลองดูซิว่าลูกหัดใส่เสื้อผ้าหรือกางเกงเองได้หรือยัง เริ่มที่อยากจะเรียนรู้การติดกระดุมหรือรูดซิปบ้างหรือเปล่า สวมใส่รองเท้าเองได้ไหม แม้แต่การตักอาหารกินข้าวด้วยตัวเอง เหล่านี้คุณได้เริ่มหัดให้ลูกเตรียมพร้อมก่อนที่จะเข้าอนุบาลหรือยัง เพราะเมื่อเด็ก ๆ ได้ไปโรงเรียนที่มีเพื่อนคนอื่นอยู่ในห้องราว 20 คนหรือมากกว่าและมีครูหนึ่งหรือสองคนเป็นผู้ดูแลนั้นความมีอิสระและการสามารถที่จะทำอะไรได้ด้วยตัวเองนั้นสำคัญมากเวลาอยู่ในห้องเรียน
Read : 7 สเต็ป ฝึกลูกนั่งกระโถนให้สำเร็จ
2. สามารถรับฟังหรือปฏิบัติตามคำสั่งได้หรือไม่
คุณพ่อคุณแม่ลองออกคำสั่งให้ลูกลองทำตามซัก 2-3 ข้อ เช่น สวมเสื้อผ้าให้เรียบร้อย ออกไปใส่รองเท้า แล้วยืนรออยู่หน้าประตู หรือเอามือปิดหู ยืนขึ้น และกระโดด 3 ครั้ง ลองดูว่าคำสั่งเหล่านี้ลูกสามารถทำได้เองทั้งหมดหรือไม่หรือร้องขอพ่อแม่ให้ช่วยตรงจุดไหนหรือเปล่า เพราะการเรียนอนุบาลนั้นจะเป็นการเริ่มต้นให้ลูก ๆ ได้รู้จักรับฟังและสามารถทำตามคำสั่งได้ ถ้าลูกสามารถทำสิ่งที่บอกก็แสดงว่าเขาเองก็มีความพร้อมในระดับนึงแล้วล่ะ
3. รู้สึกแย่มากเวลาไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย
เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เราจะเห็นเด็ก ๆ เกือบทุกคนร้องไห้งอแงเมื่อไปโรงเรียนวันแรก หรือ ลูกไม่ยอมไปโรงเรียน เลยเพราะต้องรู้สึกแยกห่างจากพ่อแม่ แต่หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์คุณจะเห็นว่าลูกของคุณเก่งพอที่จะกล่าวสวัสดีและโบกมืออำลาพ่อแม่เดินเข้าโรงเรียนได้อย่างสบายใจ ดังนั้นถ้าลูก ๆ ของคุณนั้นยังไม่เคยได้ไปโรงเรียนสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กมาก่อน คุณอาจจะฝึกการกล่าวคำลาที่บ้าน เช่น ก่อนออกไปทำงาน หรือในโอกาสต่าง ๆ เพื่อให้ลูกได้รู้จักการร่ำลาสวัสดีและรับรู้ว่าพ่อแม่จะกลับมาหาพวกเขาในตอนเย็น
4. มีทักษะในการเรียนรู้ร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ
การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มนั้นถือเป็นเรื่องที่ยากแม้แต่กับผู้ใหญ่เองก็ตาม แต่ด้วยพื้นฐานของความเป็นเด็กนั้นพวกเค้าสามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์และเล่นกับคนอื่นได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรสอนลูกให้เริ่มรู้จักแบ่งปันและพาเด็ก ๆ ไปทำกิจกรรมร่วมกันเด็กคนอื่น เพื่อสังเกตดูว่าลูกมีความสามารถพื้นฐานในการที่จะเล่นร่วมกับผู้อื่นไหม หรือพวกเขายอมรับความคิดในการที่จะเล่นร่วมกับผู้อื่นหรือเปล่า พวกเขารู้จักที่จะแบ่งปันไหม และสามารถเข้ากับเพื่อนในรุ่นเดียวกันได้หรือเปล่า เป็นต้น
5. สามารถสื่อสารบอกสิ่งที่ต้องการให้กับผู้ใหญ่หรือคุณครูได้หรือไม่
ลูกควรที่จะสื่อสารถึงความต้องการพื้นฐานของเขาได้ อย่างเช่นเวลาที่ต้องการเข้าห้องน้ำ หิวน้ำ ปวดท้อง ฯลฯ ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องของการไว้ใจและเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเด็กกับคุณครู ที่มันอาจจะต้องใช้เวลาและความคุ้นเคย แต่โดยรวมทั้งหมดแล้วลูกควรจะสื่อสารบอกสิ่งที่เขาต้องการกับคุณครูได้
แม้ว่าบางโรงเรียนนั้นจะอนุญาตรับเด็กก่อนเกณฑ์เข้าโรงเรียน แต่พ่อแม่ก็ควรดูความพร้อมของลูกและต้องพิจารณาจากช่วงวันที่เกิดด้วยว่าเป็นไปตามเกณฑ์ไหม ถ้าลูกอยู่ในช่วงอายุที่ “ต่ำกว่าเกณฑ์” สำหรับนักเรียนในชั้นเรียน ก็ควรพิจารณาว่าหากรอเวลาอีกสักปีเพื่อให้ลูกได้มีพัฒนาการการเติบโตมากขึ้นหรือเด็กบางคนอาจต้องการเวลาในการเสริมสร้างทักษะให้ดีพร้อมและการเรียนรู้ที่ดีขึ้นก่อนที่จะเข้าอนุบาล ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการเตรียมพื้นฐานอย่างถูกต้องสำหรับการเรียนรู้และการเจริญเติบโตเพื่อให้ลูกพร้อมสำหรับการไปโรงเรียน
เทคนิคฝึกให้ลูกทำทุกวัน เรียนเก่ง ความจำเป็นเลิศ
พ่อแม่คือส่วนสำคัญในการพัฒนาสมอง หรือความสนใจในการเรียนของลูก การสร้างวินัยและการวางแผนที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ จะทำให้ลูกเรียนดีและมีความสุขได้ วึ่ง 8 ข้อนี้ที่คุณพ่อคุณแม่และลูกควรทำทุกวัน จะทำให้ลูกรักเรียนเก่ง เรียนดีนั้นมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
1. ฝึกสมาธิให้ลูก
การฝึกสมาธิให้กับลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องทำเป็นตัวอย่างด้วย เพราะการที่ลูกจดจ่อกับสิ่งทำ ส่งผลให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จ ซึ่งฝึกได้โดยให้ลูกทำกิจกรรมทีละอย่าง เช่น ลองให้ลูกทำกิจกรรมหรือสิ่งที่ชอบโดยทำทีละอย่างอย่างตั้งใจ หรือเวลาทำการบ้านก็ควรปิดทีวี เวลาทานอาหารไม่เล่นโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
2. สอนให้ลูกรู้จักการค้นคว้า
พ่อแม่อาจจะตั้งคำถามแล้วให้กับลูก แล้วช่วยกันค้นคว้าหาคำตอบ เวลามีสิ่งไม่เข้าใจในบทเรียน ลูกจะได้รู้จักการค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ อีกทั้งลูกยังสามารถค้นหาสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่ลูกชอบได้จากการค้นคว้า ช่วยให้ลูกกล้าคิดกล้าทำกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือบทเรียนได้ประสบการณ์ใหม่เพิ่มอีกด้วย
3. ฝึกให้ลูกรู้จักซักถาม
เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะถามคุณครูเวลาไม่เข้าใจ ทำให้เกิดข้อสงสัยในเรื่องที่เรียนจนกลายเป็นความไม่ชอบเรียนหนังสือ การที่คุณพ่อคุณแม่ฝึกให้ลูกรู้จักซักถาม จะทำให้ลูกเข้าใจบทเรียนมากขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่ควรให้โอกาสลูกถาม ตอบคำถามลูกเสมอ และไม่ควรปล่อยผ่านคำถามของลูก
4. ฝึกลูกให้เข้านอนเป็นเวลา
ซึ่งเด็กควรเข้านอนไม่เกิน 3 ทุ่ม เพื่อให้ฮอร์โมนในการเติบโต (Growth Hormone) ทำงานได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังทำให้ลูก ไม่ง่วงนอนระหว่างวันทำให้เรียนหนังสือได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ
5. ฝึกระเบียบวินัย
พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่าควรทำอะไร อะไรถูกอะไรผิด อะไรทำให้ได้และอะไรทำให้ไม่ได้ โดยการกำหนดเวลา เป็นการฝึกระเบียบวินัยในการใช้เวลาและให้ลูกได้เข้าใจ ในการลำดับความสำคัญก่อนหลัง เวลาเรียน ทำการบ้าน อ่านหนังสือสอบ ลูกก็จะติดเป็นนิสัย รู้จักลำดับความสำคัญว่าควรทำอะไรก่อน เช่น ทำการบ้านก่อนไปเล่น อ่านหนังสือเรื่องนี้ก่อนเพื่อให้สอบได้คะแนนดี เป็นต้น
6. ฝึกนิสัยรักการอ่าน
โดยเริ่มที่พ่อแม่ควรอ่านไปพร้อมๆ กับลูก และช่วยกันทำ แบบฝึกหัดภาษาไทย หรือแบบฝึกหัดต่างๆ จะช่วยให้ลูกเข้าใจในสิ่งที่อ่านมากขึ้น ที่สำคัญอย่าบังคับให้ลูกอ่านหนังสือ ควรหาหนังสือนิทานที่ลูกชอบก่อน ฝึกนิสัยรักการอ่านตั้งแต่ยังเล็ก ให้ลูกคุ้นเคยกับการอ่านโดยการเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอน หรือพาลูกไปร้านหนังสือบ่อยๆ พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับหนังสือเล่มใหม่ที่คุณพ่อคุณแม่กำลังสนใจ เป็นต้น
7. ร่วมกันวางแผน
คุณพ่อคุณแม่แบ่งหน้าที่ช่วยเหลือกันในการดูแลลูกด้านต่างๆ เช่น การตรวจดูการบ้าน การพบปะคุณครูของลูก การพาลูกไปออกกำลังกาย พูดคุยกับลูก
สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น ทำจนเป็นนิสัย อีกทั้งต้องยอมรับและเข้าใจในสิ่งที่เด็กเป็นทั้งข้อดีและข้อด้อย ซึ่งการให้ความเข้าใจเป็นความรักอย่างหนี่งที่พ่อแม่ควรให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย ไม่รู้สึกกดดัน และมีความสุขกับการพัฒนาตนเอง ทำเป็นนิสัยจนประสบความสำเร็จทั้งการเรียนและการงานในอนาคต
สิทธิที่ถูกละเมิด…เสียงเล็กๆ ที่ถูกลืม
เด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งส่วนใหญ่ เกิดจากการกระทำของพ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นสิ่งที่พบเห็นประจำตามหน้าหนังสือพิมพ์แทบจะทุกวัน… คุณเคยที่จะย้อนกลับไปมองไหมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็น การล่วงละเมิดสิทธิของเด็กหรือไม่ ด้วยเหตุนี้เององค์การสหประชาติจึงได้บัญญัติหลักอนุปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กและเยาวชนขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องปฏิบัติร่วมกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. เด็กและเยาวชนพึงได้รับสิทธิเท่าเทียมกันโดยปราศจากการแบ่งแยกหรือกีดกัน ไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ในเรื่องเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคมทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ ไม่ว่าจะของเด็กหรือของครอบครัวก็ตาม
2. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการพิทักษ์คุ้มครองเป็นพิเศษอันจะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทั้งทางกาย ทางสมอง และจิตใจเพื่อให้ร่วมอยู่ในสังคมได้อย่างปกติชน
3. เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะได้มีชื่อ และมีสัญชาติแต่กำเนิด
4. เด็กและเยาวชนพึงได้รับความมั่นคงทางสังคม และเติบโตอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นทั้งแม่และเด็กควรได้รับการดูแลและคุ้มครองเป็นพิเศษ ทั้งเมื่ออยู่ในครรภ์ และภายหลังเมื่อคลอดแล้วโดยได้รับสิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัย ได้รับอาหาร ได้รับการดูแลทางแพทย์ และโดยเฉพาะเด็กๆ ให้ได้รับการเล่นรื่นเริงเพลิดเพลินด้วย
5. เด็กและเยาวชนที่พิการทั้งทางร่างกาย สมอง และจิตใจ มีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพิเศษ หมายถึงการดูแลรักษาและการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาวะของเด็กโดยเฉพาะ
6. เด็กและเยาวชนพึงได้รับความรัก และความเข้าใจอันจะช่วยพัฒนาบุคลิกของตน โดยเติบโตอยู่ในความรับผิดชอบของบิดา มารดาของเด็กเอง และในทุกกรณีเด็กจะต้องอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่นปลอดภัย และไม่พลัดพรากจากพ่อแม่ในกรณีที่เด็กไม่มีครอบครัว หรือมาจากครอบครัวที่ยากจน และมีลูกมากก็จะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จากรัฐหรือองค์การต่างๆ
7. เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาซึ่งครูควรจะจัดให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมโดยทั่วๆ ไป และให้เด็กเติบโตเป็นสมาชิกผู้ยังประโยชน์ต่อสังคมคนหนึ่ง การศึกษานี้คลุมไปถึงการแนะแนวทางชีวิต ซึ่งมีบิดามารดาเป็นผู้รับผิดชอบก่อนบุคคลอื่นๆ เด็กจะต้องมีโอกาสได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน จากการเล่นและรื่นเริงพร้อมกันไปด้วย
8. เด็กและเยาวชนจะเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการคุ้มครองและสงเคราะห์ในทุกกรณี
9. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการปกป้องให้พ้นจากการถูกทอดทิ้ง จากความโหดร้ายทารุณ และการถูกข่มเหง รังแกทุกชนิด เด็กจะต้องไม่กลายเป็นสินค้า ไม่ว่าในรูปใดจะต้องไม่มีการรับเด็กเข้าทำงานก่อนวัยอันสมควร ไม่มีการกระทำใดๆ อันจะมีชักจูงหรืออนุญาติเด็กให้จำต้องรับจ้างทำงาน ซึ่งอาจเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของเด็ก หรือเป็นเหตุให้การพัฒนาทางกายทางสมองและทางจิตใจของเด็กต้องเสื่อมลง
10. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการคุ้มครองให้พ้นจากการกระทำที่แสดงถึงการกีดกัน แบ่งแยกไม่ว่าทางเชื้อชาติ ศาสนาหรือรูปใดๆ เด็กจะต้องได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมา “ในภาวะแห่งจิตที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ และมีการหย่อนหนักหย่อนเบา มิตรภาพระหว่างชนชาติต่างๆ สันติภาพ และภาพสากล และด้วยการสำนึกเต็มที่ว่าพลกำลังและความสามารถพิเศษในตัวเขา ควรจะอุทิศเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”
แต่เมืองไทยเรานั้นได้ร่วมรวบสาระสำคัญ ในเรื่องของสิทธิเด็ก อยู่ 4 ข้อด้วยกันคือ
1. สิทธิในการดำรงชีวิต หรือสิทธิพื้นฐานทั่วไปของเด็ก ครอบคลุมสิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน สิทธิที่จะมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีพอ รวมถึงสิทธิในการมีชื่อและสัญชาติ
2. สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกเอารัดเอาเปรียบทางเพศ การใช้แรงงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือพัฒนาการของร่างกาย สมอง จิตใจ ศีลธรรมและสังคมของเด็กจากการถูกทรมานหรือถูกลงโทษ หรือการกระทำในลักษณะที่โหดร้าย ตลอดจนการปกป้องคุ้มครองเด็กที่มีชีวิตอยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น เด็กพิการ เด็กผู้ลี้ภัย เด็กกำพร้า
3. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา ครอบคลุมถึงสิทธิที่จะได้เล่นและพักผ่อน สิทธิที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรม สิทธิที่จะได้รับการศึกษาทุกประเภททั้งในและนอกระบบโรงเรียน และสิทธิที่จะมีมาตรฐานความเป็นอยู่เพียงพอกับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ศีลธรรมและสังคม
4. สิทธิในการมีส่วนร่วม ครอบคลุมสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีในทุกๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อตัวเอง สิทธิในการแสดงออกและได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมถึงทัศนะของเด็กจะต้องมีการให้ความสำคัญอย่างเหมาะสม
Source : www.familyshare.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สอนลูกให้พร้อมรับ 5 เรื่องน่าหวั่นใจ ที่ต้องเผชิญในโรงเรียน
ผู้เชี่ยวชาญแนะวิธีเตรียมลูกให้พร้อมก่อนเข้าอนุบาล
แนวคิดสอนลูกตัวน้อยจากหนังดิสนีย์ เรื่อง The Lion King
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!