แค่พ่อแม่ห่างจากลูก ก็คาดไม่ถึงแล้วว่าลูกจะต้องเจอกับอะไรบ้าง โดยเฉพาะที่โรงเรียน ที่ซึ่งลูกต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง พบเจอกับคนใหม่ๆ ได้รับประสบการณ์ต่างๆ ทั้งดีและร้าย ถ้าเลือกได้ แม่ก็ไม่อยากให้ลูกต้องผจญกับเรื่องไม่ดี แต่ในเมื่อเราเลือกไม่ได้ ก็ต้องสอนให้ลูกรู้จักการเผชิญหน้า และเตรียมลูกให้พร้อมรับมือกับสิ่งน่ากลัวเหล่านี้
1.เรียนรู้เรื่องการอยู่คนเดียว
ไม่มีใครอยากอยู่คนเดียวหรอก แต่มันก็เป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก ในการพบปะและทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ถ้าลูกยังไม่พร้อมหรือเข้ากับเพื่อนยังไม่ได้ ก็ลองให้ลูกเรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียว
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักการอยู่คนเดียวให้ได้ ขณะเดียวกันก็ให้คำปรึกษาเรื่องการเข้าหาคนอื่น หรือทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ด้วยการให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อหาเพื่อน หรือให้ลูกเชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อน ด้วยการเชิญชวนมาปาร์ตี้ที่บ้าน เปิดบ้านให้ลูกได้สร้างความสัมพันธ์ดีๆ กับเพื่อนใหม่ นอกรั้วโรงเรียน
2.ความรุนแรงในโรงเรียน
อิทธิพลของความรุนแรงจากสื่อในรูปแบบต่างๆ เช่น วิดีโอเกมส์ และกระแสต่างๆ ทำให้เด็กรู้สึกอยากเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ หรือทำตาม Popular culture จนติดพฤติกรรมนี้ไปยังที่โรงเรียน ความรุนแรงที่มีมากมายให้เห็นจนเด็กๆ ซึมซับถือเป็นเรื่องอันตราย และแม้ว่าลูกจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้น แค่เห็นเหตุการณ์ก็อาจทำให้ลูกถูกผลักเข้ากลุ่มไปด้วยความกลัว ยากที่จะถอนตัวออกมา
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
ชวนลูกคุยอย่างเปิดอก โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ชกต่อยกันในโรงเรียน หรือลองเข้าไปดูวัฒนธรรมภายในโรงเรียนของลูก ร่วมกิจกรรมที่ให้ผู้ปกครองเป็นอาสาสมัครเข้าไปในโรงเรียน เพื่อจะได้รู้ถึงสภาพแวดล้อมของโรงเรียน แล้วอย่าลืมทำความสนิทสนมกับครู เพื่อจะได้รู้เรื่องทันทีเมื่อเกิดเรื่องไม่ดีภายในโรงเรียน
3.เตรียมพร้อมรับแรงกดดันจากเพื่อน
ทั้งเรื่องเซ็กส์และเรื่องบุหรี่ แม้แต่การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน ความกดดันจากกลุ่มเพื่อน และความอยากรู้อยากลอง รวมไปถึงการกลัวว่าจะไม่ได้เข้ากลุ่ม สิ่งเหล่านี้แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่มีอะไรมาก แต่เชื่อไหมว่า สามารถนำไปสู่เรื่องที่เป็นอันตรายได้ในอนาคต ซึ่งเรื่องเล็กๆ ที่มักมองข้าม จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของชีวิตเด็กที่ต้องเผชิญหน้า
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
เสริมสร้างเข็มทิศทางศีลธรรมให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก ให้ลูกมีความแข็งแกร่งทางด้านจิตใจ คิดได้และเป็นตัวของตัวเอง แล้วจับสังเกตพฤติกรรมที่ดูไม่ใช่ตัวลูก เพราะนั่นอาจจะเป็นสัญญาณเรื่องแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อน ส่งผลให้ลูกมีพฤติกรรมเลียนแบบเพื่อน ถ้ารู้ได้เร็วก็จะแก้ปัญหานี้ได้ง่ายขึ้น
4.โดนเพื่อนแบลคเมล
เทคโนโลยีและกระแสที่สังคมชอบทำ เป็นสิ่งที่ต้องระวัง แค่การถ่ายรูปตัวเองแล้วส่งให้เพื่อนดูก็ถือเป็นเรื่องอันตราย ยิ่งในปัจจุบันที่นิยมถ่ายภาพโชว์โน่นนิดนี่หน่อยของวัยรุ่น หรือภาพไม่เหมาะสม ที่แชร์กันตามโซเชียลเพื่อเรียกยอดไลก์ ก็อาจจะกลายเป็นเครื่องมือแบลคเมลชั้นดี และวัยรุ่นสมัยนี้ก็ทำกันบ่อย
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
ส่วนใหญ่แล้วข้อความแบลคเมล มักจะเป็นคำพูดที่ว่า เดี๋ยวจะฟ้องพ่อแม่เธอ! การทำให้คำพูดนี้ดูเป็นเรื่องเล็กสำหรับลูกนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยการพูดคุยเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด ให้ลูกมั่นใจได้ว่า ไม่ว่าลูกจะล้มมากี่ครั้ง พ่อแม่ก็พร้อมรับลูกอยู่เสมอ แน่นอนว่าเมื่อเกิดเรื่องขึ้น คุณต้องเสียใจและผิดหวังในตัวลูก แต่คำว่าครอบครัวนั้นยิ่งใหญ่กว่า สำคัญที่สุดตรงที่ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พ่อ แม่ ลูก เราจะข้ามผ่านเรื่องเลวร้ายนี้ไปได้ด้วยกัน
5.ครูขี้โมโห
คุณครูไม่ได้น่ารักไปเสียทุกคน! คุณครูที่ดี น่ารัก ใจเย็น ผู้ซึ่งเป็นดั่งเรือจ้างที่พาลูกศิษย์ไปขึ้นฝั่ง ครูที่คอยให้กำลังใจ และสนับสนุนเด็กๆ ครูดีๆ ก็มีในโรงเรียน แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีบ้างเหมือนกันที่ลูกจะเจอกับครูขี้โมโห ก็เหมือนกับในความทรงจำของพ่อแม่ที่ต้องเคยเจอครูที่ขี้โมโห โดนดุ โดนลงโทษมาเช่นเดียวกัน ก่อนที่ลูกจะต้องเผชิญหน้ากับคุณครู พ่อแม่ก็ต้องเตรียมพร้อมลูกเสียก่อน
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
ถ้าลูกเริ่มเข้าโรงเรียน ก็ชวนลูกพูดคุยถึงโรงเรียน ถามถึงคุณครูที่ลูกชอบ เช็คดูว่าครูคนไหนมีผลกระทบกับความรู้สึกของลูก แล้วลองเก็บข้อมูลเอาไว้ เผื่อในวันข้างหน้าถ้าลูกเจอปัญหาจะได้ช่วยกันแก้ไข
แม้ว่าจะไม่อยากให้ลูกเจอกับสิ่งที่น่าหวั่นใจมากแค่ไหน แต่ก็เก็บลูกไว้ในบ้านตลอดไปไม่ได้ และพ่อแม่เองก็ไม่ได้อยู่กับลูกไปชั่วชีวิต ทางเดียวคือต้องให้ลูกรู้จักเรียนรู้ ปรับตัว และแข็งแกร่งพอจะที่ข้ามผ่านทุกปัญหา โดยที่ไม่ลืมว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้างลูกเสมอ
ที่มา : sg.theasianparent.com
กลัวลูกโตไปเป็นเด็กขาดความมั่นใจ ทำไงดี
อย่ามองเป็นเรื่องเล็กน้อย พฤติกรรมแย่ๆ ที่แม่ต้องรีบหยุด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!